ความรู้
🌵 ชวนรู้จักแคคตัส "หูกระต่าย-หูมิกกี้เมาส์" (Opuntia microdasys)

หนึ่งในแคคตัสสายพันธุ์น่ารักที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันพอสมควรก็คือแคคตัสสายพันธุ์ Opuntia microdasys หรือที่คนไทยเรียกตามรูปทรงของเค้าว่าแคคตัสหูกระต่าย หรือหูมิกกี้เมาส์ ตามลักษณะลำต้นที่จะมีการแตกหน่อขึ้นไปด้านบนเรื่อย ๆ ที่ดูคล้ายกับส่วนหูนั่นเอง
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน
ลักษณะของแคคตัสหูกระต่าย
แคคตัสสายพันธุ์นี้จะจัดอยู่ในตระกูล Opuntia ซึ่งลักษณะทั่วไปของโอพันเทียคือจะมีส่วนลำต้นกลมหรือแบน มีจุดหนามกระจายอยู่ทั่วผิว และจะแตกหน่อออกจากตุ่มหนามกลายเป็นต้นใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วน Opuntia microdasys หรือเจ้าหูกระต่ายนั้นจะมีลักษณะลำต้นสีเขียวแบน และมีตุ่มหนามสีแตกต่างกันออกไปซึ่งจะมีทั้งสีขาว สีเหลือง และสีส้ม ซึ่งสายพันธุ์ของเค้าก็สามารถแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีกนะคะ
สำหรับดอกนั้นเราจะไม่ค่อยเห็นกันเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะออกดอกให้เห็น ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจว่าเจ้าหูกระต่ายนั้นเป็นแคคตัสที่ไม่มีดอก แต่ความจริงแล้วเค้าสามารถให้ดอกได้และสามารถผสมเกสรเกิดเป็นผลได้ด้วย โดยดอกจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองออกจากตุ่มหนามที่บริเวณส่วนบนสุดของลำต้นค่ะ
Advertisement
Advertisement
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน
วิธีการขยายพันธุ์
วิธีการขยายพันธุ์แคคตัสหูกระต่ายนั้นก็สามารถทำได้ง่ายมาก ๆ เพียงแค่เด็ดหน่อออกมา ผึ่งไว้ให้แผลแห้งและอาจทายาเร่งรากลงไปด้วย หลังจากนั้นก็นำไปปักชำลงในดินปลูกแคคตัส รดน้ำให้พอชุ่ม ไม่นานก็จะมีรากงอกออกมาจากโคนต้นและกลายเป็นแคคตัสหูกระต่ายต้นต่อไป แต่ถ้าหากเราไม่เด็ดหน่อออกมาชำเค้าก็จะแตกหน่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ดูสวยไปอีกแบบนะคะ
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน
หูกระต่ายน่ารักกับหนามวายร้าย
แต่ถึงแม้ว่าแคคตัสสายพันธุ์นี้จะมีความน่ารักจิ้มลิ้มขนาดไหนก็ตาม ส่วนหนามของมันกลับเป็นที่น่าหวาดกลัวของบรรดาคนเลี้ยงแคคตัส เมื่อเราไปสัมผัสหนามก็จะหลุดออกจากต้นและปักลงบนผิวหนังเราอย่างง่ายดาย อีกทั้งยังดึงออกได้ยากเนื่องจากพวกมันมีหนามที่ค่อนข้างละเอียดมาก และเมื่อเราดึงออกไม่หมดมันก็จะฝังอยู่ในผิวหนังเราแบบนั้นและทำให้รู้สึกเจ็บ ๆ คัน ๆ ไปอีกหลายวัน ดังนั้นหากใครคิดจะหยิบจับพวกมันแล้วละก็ควรจะระวังให้ดีนะคะ หรืออาจสวมถุงมือกันหนามก่อนเสมอถ้าไม่อยากโดนหนามตำ
Advertisement
Advertisement
แต่ถ้าหากโดนตำไปแล้ว ก็อย่าใช้วิธีการถูหรือเช็ดหนามออกเด็ดขาด เพราะจะทำให้หนามหักคาผิวหนังและดึงออกได้ยาก ให้เราใช้วิธีค่อย ๆ คีบหนามออกเบา ๆ จนหมดแทนค่ะ วิธีนี้จะสามารถกำจัดหนามออกจากผิวเราได้ง่ายกว่า
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน : ในรูปนี้บางคนจะเรียกว่าแคคตัสปีกนางฟ้า ซึ่งจะมีลักษณะลำต้นยาวและเล็กกว่าหูกระต่ายทั่วไป
และนอกจากจะเลี้ยงแคคตัสหูกระต่ายไว้ชื่นชมเพื่อความสวยงามแล้ว แคคตัสสายพันธุ์นี้ยังเป็นที่นิยมสำหรับนำไปจัดตกแต่งในสวนถาดอีกด้วย ส่วนวิธีการเลี้ยงและดูแลแคคตัสสายพันธุ์นี้ก็เหมือนกับแคคตัสสายพันธุ์อื่นทั่วไป คือให้เค้าได้รับแสงแดดที่เพียงพอโดยเฉพาะแดดช่วงครึ่งวันเช้าซึ่งจะเป็นช่วงที่มีความเข้มของแสงไม่มากเกินไป และให้รดน้ำเมื่อดินแห้ง หมั่นคอยสังเกตโรคและแมลงศัตรูพืช เพียงเท่านี้เค้าก็จะเจริญเติบโตแตกหน่อให้เราได้ชื่นชมได้ทุกวันแล้วละค่ะ
Advertisement
Advertisement
บทความอื่น ๆ ของผู้เขียนเกี่ยวกับกระบองเพชร
- 🌵 แนะนำสายพันธุ์กระบองเพชรดอกสวย 🌸
- 🌵 วิธีผสมเกสร "ดอกกระบองเพชร" ให้ติดฝักและได้เมล็ด
- 🌵 มาผสม “ดินปลูกแคคตัส” กันเถอะ ! (สำหรับมือใหม่หัดปลูกแคคตัส)
- 🌵 มาเปลี่ยนกระถางกระบองเพชรกันเถอะ !
- 🌵 สาเหตุที่ทำให้ต้นกระบองเพชรเน่า พร้อมวิธีป้องกันและแก้ไข
- 🌵 สายพันธุ์กระบองเพชร สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง
- 🌵 เลี้ยงกระบองเพชรอย่างไร ? ให้มีดอก 🌸
- 🌵 [แชร์เทคนิค] เลี้ยง “กระบองเพชร” สำหรับมือใหม่อย่างไรให้ไม่ตาย
- 🌵 ชวนรู้จักกับ “แอสโตร” (Astrophytum asterias) กระบองเพชรเลี้ยงง่าย ดอกสวย 🌸
- 🌵 การกราฟต์ (Grafting) กระบองเพชร คืออะไร ?
- 🌵 [มือใหม่หัดเลี้ยงแคคตัส] ยิมโน LB 2178 "แท้" กับ "ไม่แท้" ต่างกันอย่างไรนะ ?
ความคิดเห็น
