ความรู้
ใจด่วนแล้วอย่าปากด่วน จะผิดอาญา สินะ..จะบอกความ

วันหนึ่งใจด่วนขับรถจะไปเยี่ยมแม่ที่นอนป่วยติดเตียง เป็นประจำของทุกวันหยุด แต่ในวันนั้นเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด ใจด่วนขับรถไปเจอด่านตรวจ แล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้น ตำรวจที่ตรวจพบว่ารถคันที่ใจด่วนขับนั้น ขาดต่อภาษีรถประจำปี ในเวลานั้นใจด่วนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเมื่อวานนี้ ก็ถูกปรับมาแล้วกับเรื่องขาดต่อภาษีรถคันนี้ แล้วก็ได้ให้น้องชายของตนไปจัดแจงเรื่องชำระภาษีรถอยู่ แต่เอกสารยังไม่ได้รับคืนมา ก็ปรากฏว่าตำรวจยังคงเขียนใบสั่งแจ้งข้อกล่าวหาให้กับใจด่วน เรื่องไม่มีหลักฐานแสดงการเสียภาษีรถประจำปี
เรื่องราวไม่ได้จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในอารมณ์นั้นที่ใจด่วนเกิดสะทกสะท้านใจ ทำให้ใจด่วนไม่ได้ด่วนแค่ใจ คงด่วนไปถึงปากด้วย พอโดนใบสั่ง ทั้งที่พร่ำพูดชี้แจงให้ตำรวจฟังไปมากมาย แต่ไม่เป็นผลยังได้รับใบสั่ง ปากอันด่วนของใจด่วนก็กล่าวขึ้นว่า “ตำรวจ..แม่งใช้ไม่ได้” ตำรวจท่านนั้น เลยแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทเข้าให้
Advertisement
Advertisement
ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เมื่อเป็นคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาก็จะต้องไปศาล ต้องหาทนาย และต้องเตรียมเรื่องการประกันตัวอีก เป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อถูกกล่าวหา
ตามความข้างต้นมีคดีที่เกิดขึ้นจริง อ้างถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 8016/2556 “จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ มาตรา 136”
Advertisement
Advertisement
คดีตามฎีกานี้สู้กันถึง 3 ศาล “จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญา โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...เห็นว่า การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 คือ "ดูหมิ่น" ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย และการที่บุคคลกล่าวถ้อยคำใด จะมีความหมายอย่างใดนั้นต้องแล้วแต่พฤติการณ์แวดล้อมประกอบด้วยว่ามุ่งหมายให้เข้าใจไปในทางใด
Advertisement
Advertisement
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้ จำเลยได้กล่าวภายหลังจากที่ร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกเรียกรถยนต์ที่จำเลยขับเพื่อขอตรวจเมื่อพบว่ารถยนต์ดังกล่าวขาดต่อภาษีประจำปี จำเลยได้แจ้งให้ร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกทราบว่าได้เคยถูกจับและเสียค่าปรับในข้อหาเดียวกันมาแล้วก่อนหน้าถูกจับ 1 วัน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นจำเลยแจ้งให้บิดาเสียภาษีประจำปีรถยนต์ดังกล่าวแล้วยังไม่ได้รับเอกสารมาจากบิดา แต่ร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกยังคงออกใบสั่งแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยโดยไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ต้องออกใบสั่งแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่าเป็นเพราะจำเลยไม่มีหลักฐานการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีมาแสดงในขณะนั้น หรือเปิดโอกาสให้จำเลยนำหลักฐานการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีมาแสดง
จะเห็นได้ว่าจำเลยในภาวะเช่นนั้นย่อมรู้สึกว่าร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกไม่ได้ให้ความสำคัญสนใจกับคำชี้แจงของจำเลยเท่าที่ควร อาจทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความน้อยใจ จึงกล่าวในเชิงเป็นการตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ดีเท่าที่ควร
อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยามหรือสบประมาทให้ร้อยตำรวจโทสุรชัยกับพวกอับอายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”
แม้ฝ่ายจำเลยจะชนะคดีในที่สุดก็ตาม การถูกฟ้องคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ใช้เวลาต่อสู้คดีถึงชั้นฎีกา ความลำบากลำบนย่อมเกิดขึ้นทวีคูณ เสียเวลากับการถูกดำเนินคดี กว่าคดีจะจบ ย่อมไม่เป็นสุข ทุกท่านจึงควรใช้สติให้รอบคอบ แม้ใจด่วนแล้ว ปากอย่าด่วนตามใจ คดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท จะสร้างความลำบากให้กับท่านได้..สินะ จะบอกความ.
ขอบคุณรูปประกอบภาพปกที่ 1 ที่ 2 และภาพประกอบที่ 1, 2, 3 จากเว็บฯ pixabay / ภาพประกอบที่ 4 โดยผู้เขียน / ภาพประกอบที่ 5 ขอบคุณเว็บฯ สำนักงานกิจการยุติธรรม
ความคิดเห็น
