สุขภาพ
8 อาหารโซเดียมสูง ยิ่งกินมากยิ่งบวมน้ำ ดูตัวใหญ่ เสี่ยงโรคไตถามหา

หากผู้เขียนจะขอถามเพื่อนๆผู้อ่านว่า “เป็นคนติดเค็มไหม?” หลายๆคนอาจตอบได้ทันทีว่า “ไม่นะ ไม่ได้ติดรสเค็ม ไม่ได้ปรุงเพิ่มมากขนาดนั้น” ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ เพราะการทานอาหารที่มีรสชาติเค็มหรือมีปริมาณโซเดียมสูงมากเกินไปนั้น ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้มากมาย แต่เพื่อนๆทราบหรือไม่คะว่าในอาหารที่เราทานอยู่ทุกวันอาจมีปริมาณโซเดียมแฝงอยู่มากกว่าที่เพื่อนๆคิด เพราะโซเดียม หรือความเค็มนี้ไม่ได้มาแค่จากเกลือหรือน้ำปลาอย่างที่เราเข้าใจกัน แล้วอาหารประเภทไหนบ้างที่มีโซเดียมสูง ยิ่งทานมาก ก็ยิ่งทำให้เราบวมน้ำ ดูตัวหนาและใหญ่ แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตอีกด้วย ตามไปดูกันเลยค่ะ
โซเดียม คืออะไร มีความสำคัญกับร่างกายเราไหม?
โซเดียม (Sodium) จัดเป็นสารอาหารในกลุ่มเกลือแร่ (Mineral) ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายค่ะ โดยเจ้าเกลือแร่จะคอยปรับสมดุลของเหลวในร่างกายของเรา ช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้คงที่อยู่ในระดับปกติ รักษาสภาพความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย แถมยังมีหน้าที่นำเอากรดอะมิโนจำเป็นและสารอื่นๆไปส่งให้กับเซลล์ต่างๆอีกด้วย
Advertisement
Advertisement
แบบนี้โซเดียมก็ไม่เห็นจะสร้างอันตรายให้กับร่างกายของเราเลยนี่ ...ใช่ค่ะ หากเราได้รับโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม/วัน (เทียบง่ายๆจะเท่ากับน้ำปลา 1.5 ช้อนโต๊ะ) โซเดียมในปริมาณไม่เกินนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามักเผลอทานโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการเป็นประจำนั่นเองค่ะ แล้วการทานโซเดียมในปริมาณสูงมากๆส่งผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง ?
- ทำให้เราบวมน้ำ ดูตัวหนาใหญ่ เพื่อนๆหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ตื่นเช้ามาพร้อมใบหน้า หรือตัวที่บวมน้ำ หลังทานอาหารที่มีรสเค็มมากๆเข้าไปใช่ไหมคะ นั่นเป็นเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายของเราได้รับโซเดียมปริมาณมาก จะทำให้ความเข้มข้นของเลือดเสียสมดุล หลอดเลือดของเราจึงพยายามดูดน้ำจากส่วนต่างๆของร่างกายมาใช้ปรับสมดุลในเลือด นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราหน้าบวม ตัวบวมหลังกินอาหารรสเค็มค่ะ
- ไตทำงานหนัก เมื่อเราทานโซเดียมมากเกินไป พอนานวันเข้าจะยิ่งทำให้ไตที่คอยกรองของเสียออกจากเลือดตลอดเวลาทำงานหนักมาก และเกิดภาวะความดันในไตสูงขึ้นฉับพลัน เกิดปัญหาไตเสื่อมในที่สุด ไม่จบเพียงเท่านี้ค่ะ เพราะหลังจากที่ไตเสื่อมไปแล้วจะส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆตามมาอีกมากมาย ทั้งโรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคนิ่วในไตและโรคเกาต์
Advertisement
Advertisement
8 อาหารโซเดียมสูง กินมากเสี่ยงบวมน้ำ กินนานเสี่ยงไตเสื่อม
1.อาหารแปรรูป
เช่น ชีส ไส้กรอก แฮม เบคอน ลูกชิ้น หมูยอ หมูหยอง ฯลฯ อาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการแปรรูปมาค่อนข้างเยอะและมีส่วนผสมของโซเดียม รวมถึงสารอื่นๆในปริมาณมาก
2.อาหารสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็ง
ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กสำเร็จรูป รวมถึงอาหารแบบแช่แข็งที่หาได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไปเลยค่ะ อาหารกลุ่มนี้จะมีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก (มากกว่า 1,000 มิลลิกรัม) เพราะการใส่โซเดียมลงไปในอาหารจะช่วยยืดอายุของสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้นค่ะ
3.อาหารที่มีผงฟู โดยเฉพาะขนมปังและเบเกอรี่
สายขนมปังอ่านแล้วอาจอกสั่นขวัญผวาได้ค่ะ เพราะผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา ที่ใช้สำหรับทำขนมอบเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งจัดเป็นโซเดียมรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกันค่ะ ดังนั้นแล้วหากเราทานพวกขนมเค้ก ขนมปัง โดนัท ปาท่องโก๋ หรือพวกขนมอบต่างๆในปริมาณมาก ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับโซเดียมเกินได้เช่นเดียวกันค่ะ
Advertisement
Advertisement
4.อาหารหมักดอง
เช่น ผลไม้ดอง ปลาร้า กะปิ กิมจิ แหนม ไข่เค็ม ฯลฯ เพราะในกระบวนการการหมักจะใส่พวกเกลือลงไปในปริมาณมาก
5..อาหารตากแห้ง
อย่างปลาตากแห้ง หมึกตากแห้ง เนื้อแดดเดียว หมูแดดเดียว กุ้งแห้ง ฯลฯ เพราะอาหารตากแห้งมีกรรมวิธีการทำหลักๆคือ ล้างทำความสะอาดวัตถุดิบจนสะอาดดี จากนั้นนำมาคลุกเกลือให้ทั่ว แล้วจึงนำไปตากแดดหรือเข้าเตาอบ จึงมีปริมาณโซเดียมแบบล้นๆ
6.ซอสปรุงรสต่างๆ
ทั้งน้ำปลา น้ำมันหอย ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำสลัด เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ผงปรุงรส ผงชูรส ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นตัวเด็ดของวงการโซเดียมเลยล่ะค่ะ ยิ่งเติมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโซเดียมเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น
7.ขนมขบเคี้ยว
โดยส่วนใหญ่แล้วขนมขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ ฯลฯ มีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภคอาจสูงถึง 500 มิลลิกรัม ซึ่งปัญหาจะอยู่ตรงที่ขนมขบเคี้ยว 1 ถุงใหญ่ มีขนาดบริโภคประมาณ 2-3 หน่วยบริโภค ดังนั้นแล้วขนมเหล่านี้ในขนาด 1 ถุงใหญ่ อาจมีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,500 มิลลิกรัมเลยค่ะ
8.น้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม
หลายๆคนอาจจะงงว่าในน้ำผักและผลไม้ก็มีโซเดียมด้วยเหรอ คำตอบคือมีค่ะ และมีมากด้วย โดยในน้ำผักและผลไม้สำเร็จรูป มักมีปริมาณของโซเดียมอยู่ที่ราวๆ 300-400 มิลลิกรัมต่อกล่องค่ะ โดยโซเดียมที่ใส่เพิ่มเข้ามาอาจจะเป็นด้วยเหตุผลของการปรับแต่งรสชาติและการยืดอายุของเครื่องดื่มในกล่องค่ะ
ปรับลดปริมาณการทานโซเดียมให้น้อยลงได้อย่างไร?
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆหลายคนอาจเกิดคำถามในใจที่คล้ายกับผู้เขียนว่า แล้วเราจะกินอะไรได้บ้างละเนี่ย? เพราะที่กล่าวมามันก็แทบจะครอบคลุมอาหารเกือบทุกชนิด แต่ไม่ต้องหนักใจไปค่ะเพราะว่าเราสามารถปรับลดการทานโซเดียมต่อวันให้น้อยลงได้ โดยผู้เขียนมีวิธีที่ปรับใช้ดังนี้ค่ะ
- เลือกใช้เครื่องปรุงสูตร Low Sodium ตอนนี้ในตลาดมีให้เลือกใช้หลายแบรนด์มากค่ะ โดยเครื่องปรุงรสเหล่านี้จะลดปริมาณโซเดียมลง จนเหลือโซเดียมในปริมาณที่น้อยกว่ามากๆ คราวนี้เราก็จะปรุงได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้เราก็ต้องควบคุมปริมาณที่ใช้ให้เหมาะสมเหมือนเดิมนะคะ ถึงจะ Low Sodium แต่ถ้าทานมากไปค่าก็ไม่ต่างกัน (เครื่องปรุงกลุ่ม Low Sodium มักมีปริมาณโพแทสเซียมสูงค่ะ ตรงนี้ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนเลือกทานโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ป่วยโรคหัวใจค่ะ)
- เลือกทานขนมที่เป็นสูตร Low Sodium ฟากขนมก็มีการปรับลดโซเดียมลงเช่นเดียวกันค่ะ หากวันไหนอยากทานขนมแต่มื้อหลักจัดโซเดียมไปแบบล้นๆแล้ว ขนมโซเดียมต่ำคือทางออกที่ดีค่ะ
- ทานอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง เฉพาะเวลาที่จำเป็นหรือตอนที่อยากทานจริงๆ ไม่ทานพร่ำเพรื่อค่ะ อย่างพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารแช่แข็ง จะบอกว่าให้เลิกกินไปเลยก็คงทำได้ยากค่ะ เพราะหลายๆครั้งที่เราก็ไม่รู้ว่าจะทานอะไรหรือไม่มีเวลาทำอาหารทานเอง ก็ได้อาหารเหล่านี้มาช่วยชีวิตไว้ ทานได้แต่อย่าทานบ่อยขนาดว่าทานทุกมื้อ ทุกวัน แบบนี้ก็ไม่ดีกับร่างกายค่ะ
- วันไหนที่ทานอาหารที่มีโซเดียมเยอะๆ ก็ไม่ต้องเครียดจนเกินไปค่ะ การทานเยอะแค่วันเดียวหรือสองวันไม่ได้ส่งผลเสียอะไรขนาดนั้น หลังวันที่จัดโซเดียมแบบหนักๆ ให้เราดื่มน้ำสะอาดให้เยอะๆ เพื่อช่วยปรับสมดุลเลือด และให้ลดปริมาณการทานโซเดียมในวันถัดไป เพียงเท่านี้เราก็จะไม่บวมน้ำ ตัวไม่ใหญ่แล้ว
เริ่มควบคุมปริมาณของโซเดียมตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
อาหารโซเดียมสูงมีมากกว่าที่เราคิดค่ะ จริงๆแล้วเราอาจจะไม่ได้ทานน้ำปลากันครั้งละเป็นช้อนๆ แต่เรากลับไปรับโซเดียมจากอาหารหลายๆอย่างที่เราทานในแต่ละวันค่ะ เช่น ขนมเบเกอรี่ ตามด้วยอาหารแช่แข็ง ปรุงรสด้วยน้ำปลาพริก ตัดเผ็ดด้วยน้ำผลไม้สักกล่อง ส่วนมื้อเย็นก็แก้หิวด้วยมาม่า 1 ซอง แถมยังใส่ไส้กรอกและลูกชิ้นเพิ่มเป็นเครื่องเคียง แค่นี้เราก็ได้รับโซเดียมเกินๆแบบไม่รู้ตัว รู้แบบนี้แล้วเพื่อนๆอย่าลืมหันมาจำกัดปริมาณการทานโซเดียมกันด้วยนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบบทความจากcanva
ภาพปกบทความ โดย karandaev
ภาพประกอบบทความ : ภาพที่ 1 โดย Thank you for your assistant / ภาพที่ 2 โดย 4421010037 / ภาพที่ 3 โดย THEPALMER / ภาพที่ 4 โดย bit245 / ภาพที่ 5 โดย coffeekai / ภาพที่ 6 โดย DukeII / ภาพที่ 7 โดย DAPA Images / ภาพที่ 8 โดย Akelomongkol
แหล่งที่มาของข้อมูล :
โซเดียม, ศูนย์เบาหวานศิริราช
มารู้จักโซเดียมกันเถอะ, อ.นพ.สุกิจ รักษาสุข
อาหารกับปริมาณโซเดียมแอบแฝง, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย
โรคไต ตัวร้ายที่ไม่ได้มากับความเค็มเพียงอย่างเดียว, โรงพยาบาลเพชรเวช
*STAR COVER"อย่ามัวแต่ดู มาดังกัน"*
ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟให้เหมือน นักแสดงนำซีรีส์ "คืนนับดาว" คิมหันต์ (ไบร์ท), นับดาว (ใหม่ ดาวิกา) หรือ แทนคุณ (ออฟ จุมพล)
พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลค์คนที่ชอบ
`ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี`
คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkq
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQ
STAR COVER คืนนับดาว ส่งภาพเข้ามาได้วันนี้ ถึง 15 มิถุนายนนี้
ความคิดเห็น
