อื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน (คน) ที่ต้องยอมรับและปรับตัว

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน (คน) ที่ต้องยอมรับและปรับตัว

ประสบการณ์ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน ตอน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน (คน) ที่ต้องยอมรับและปรับตัว

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน (พ.ศ.2560-2562) ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานในประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ชื่อฟังดูแล้ว โธ่! เรื่องยากอีกแล้วสิ) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องยากหรือเข้าใจอะไรยาก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน ที่เรา ๆ เธอ ๆ เข้าใจกันนั้น เป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่ใช่เรื่องในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจยากจนเกินไป (เอาไว้จะมาเล่าฟังแบบง่าย ๆ ในบทความต่อไปนะ)

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นเรื่องของการปรับทัศนคติความคิด ความเชื่อ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องไปกับทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่เฉพาะกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจแบบนั้น แต่ก็เข้าใจหล่ะ เพราะเมื่อสมัยที่ผู้เขียนเริ่มทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ใหม่ ๆ ตัวผู้เขียนเองก็ยังมีความเชื่อที่ว่า โลกร้อน ก็ต้องสิ่งแวดล้อมสิ !!! ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม เวลาไปชวนนักวิชาการ นักวิจัย หรือคนในสาขาวิชา หรือภาคส่วนอื่น ๆ ทำงานในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ถึงไม่มีใครอยากจะทำเพราะทุกคนเชื่อและเข้าใจว่า ภาคส่วนของตัวเองนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องดังกล่าว

Advertisement

Advertisement

แต่แท้ที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปกับทุกภาคส่วน (cross cutting) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ การตั้งถิ่นฐาน การท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคเกษตร นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเท่านั้น จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด ผู้เขียนจะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพก็แล้วกัน

ตัวอย่างที่เห็นค่อนข้างชัดเจน ก็อย่างภาคการเกษตร ในภาคส่วนนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศค่อนข้างจะเห็นได้ชัด เริ่มจากความร้อนจากดวงอาทิตย์หรืออุณหภูมิส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณธัญญาหาร ยกตัวอย่าง เช่น ข้าว ซึ่งอุณหภูมิส่งผลต่อการติดดอกออกผล และที่สำคัญส่งผลต่อความแห้งแล้งที่จะทำให้ทรัพยากรน้ำที่จะมีให้ใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือไปจากธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน หรือการแต่งเติมเข้าไปในดิน เมื่อไม่มีน้ำ ข้าวก็ยืนต้นตาย ถ้าสังเกตให้ดี เท่าที่เล่าความมาถึงตรงนี้ ก็พอจะมองเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลอย่างไรต่อภาคการเกษตร และถ้ามองต่อไปให้สุด เมื่อเกิดสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระดับผลผลิตทางการเกษตรที่อาจจะลดลง นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ และยังสืบเนื่องไปถึงความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกรที่อาจจะมีรายได้ลดลง จากผลผลิตที่ลดลงอีกด้วย

Advertisement

Advertisement

แปลงสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี (ที่มา: ผู้เขียน)

แปลงสาธิตผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี (ที่มา: ผู้เขียน)

นี่งัย…ผู้อ่านพอจะมองเห็นถึงผลกระทบที่ส่งต่อกันข้ามภาคส่วนกันไป ตั้งแต่ ตัวพืชพรรณ ทรัพยากรน้ำ ผลผลิต รายได้ และสังคม รวมไปถึงความยากจนที่อาจจะเพิ่มขึ้น

ถ้ายังไม่ชัด ผู้เขียนขอยกตัวอย่างอีกซักภาคส่วนหนึ่ง เช่น ภาคการท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทย นับว่าค่อนข้างโชคดีที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทำให้ภาคเหนือของประเทศ มีอากาศเย็น ซึ่งแตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ ในช่วงหน้าหนาว ราว ๆ เดือน พ.ย.-ก.พ. จะเป็นช่วงที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะภูมิอากาศที่ค่อนข้างจะหนาวเย็น ภาคส่วนที่นับว่าได้ประโยชน์จากอากาศหนาวดังกล่าว ก็คือ การท่องเที่ยว คนจำนวนมากหลั่งไหล แห่แหนกันไปดูทะเลหมอก ดูดอกไม้บาน บนยอดดอยสูง ๆ สัมผัสอากาศหนาว ๆ ในบรรยากาศสุดโรแมนติก (บางปี แทบจะเหยียบกันตายก็มี!)

Advertisement

Advertisement

หมอก @หม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ (ที่มา: ผู้เขียน) ทะเลหมอก @หม่อนแจ่ม จ.เชียงใหม่ (ที่มา: ผู้เขียน)

นักท่องเที่ยว @ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ (ที่มา: ผู้เขียน) นักท่องเที่ยว @ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ (ที่มา: ผู้เขียน)

แต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย (อุณหภูมิเวลากลางวัน) มีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด บางปีก็แทบจะไม่หนาว หรือแทบไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาว ซึ่งถือไปไฮไลท์ของแฟชั่นในช่วงหน้าหนาวเลยทีเดียว และเมื่ออากาศไม่หนาว หรือวันที่มีอากาศหนาวลดลง ไม่มีทะเลหมอก ดอกไม้ไม่บาน ความโรแมนติกไม่มี แล้วใครจะไปเที่ยวกันนะ

ข้อมูลคาดการณ์จำนวนวันที่มีอากาศเย็นในอนาคตจากแบบจำลองเปรียบเทียบกับปัจจุบัน (ทีมา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยและ SEA START RC) ข้อมูลคาดการณ์จำนวนวันที่มีอากาศเย็นในอนาคตจากแบบจำลองเปรียบเทียบกับปัจจุบัน

(ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยและ SEA START RC)

จริง ๆ ก็ไม่ถึงกับไม่มีใครไปหรอก นักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็อาจจะยังไปอยู่เพราะภาคเหนือไม่ได้มีดีแค่ธรรมชาติที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงมีวัดวาอาราม สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นอยู่ไม่น้อย เมื่อไม่มีคนไปเที่ยว หรือจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ยอดจองห้องพักลดลง ธุรกิจขายอาหาร ขายของที่ระลึกรายได้ลดลง รวมไปถึงธรุกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา ทีนี้ รายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งปกติแทบจะเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการซึ่งสามารถทำให้ธรุกิจดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนใช้ไปได้เกือบทั้งปีเกิดลดลง ทีนี้จะทำอย่างไรหล่ะ (ก็คงอาจจะคล้าย ๆ ผลกระทบจาก COVID19 ที่ผู้ประกอบการ แรงงาน ลูกจ้าง ได้รับผลกระทบกันนั่นแหล่ะ) ก็ส่งผลกระทบต่อ ๆ กันไป เกิดเป็นประเด็นทางด้านสังคมขึ้นมา

วัดร่องเสือเต้น จ.เชียงราย (ที่มา: ผู้เขียน)

วัดร่องเสือเต้น จ.เชียงราย (ที่มา: ผู้เขียน)

คงจะพอมองเห็นภาพกันออกแล้วใช่ไหมว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันมีความเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อเรา ๆ ท่าน ๆ ในภาคส่วนหรือกลุ่มต่าง ๆ อย่างไรกันบ้าง เอาไว้บทความต่อไป จะมาเล่าประสบการณ์การทำงานในพื้นที่กับภาคส่วน/คนในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อไป

ภาพประกอบ : โดยผู้เขียน

ที่มาของประสบการณ์และข้อมูล : โครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนมิติการจัดการความเสี่ยง โดยการสนับสนุนจาก GIZ (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน)

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์