ไลฟ์แฮ็ก

เคล็ดลับยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ ที่คุณอาจจำเป็นต้องรู้

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เคล็ดลับยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ ที่คุณอาจจำเป็นต้องรู้

เป็นเรื่องที่ปฏิเสษไม่ได้ว่ารถยนต์กลายเป็นยานพาหนะส่วนบุคคลที่คนไทยของเราใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งอ้างอิงจากยอดขายอันถล่มทลายที่สูงจนทำให้เราแทบไม่เชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่เขาว่าเศรษฐกิจไม่ดีจริง ๆ โดยในบทความนี้เราจะมาพูดถึง การยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ของเราให้อยู่กับเราได้นาน ๆ ไม่ย่อยสลายตัวเองไปตามกาลเวลา

การที่เราจะยืดอายุการใช้งานของรถยนต์สุดที่รักของเราออกไปนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย และ บางปัจจัยนั้นเราเองก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ เช่น อาการเสียประจำตัวของรถยนต์ยี่ห้อนั้น (เกียร์กระตุก , ปั๊มติ๊กเสีย , สนิมขึ้นตามจุดบกพร่อง) หรือ การเกิดอุบัติเหตจนทำให้รถยนต์เสื่อมสภาพจนไม่สามารถซ่อมให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพครบ 100% เป็นต้น ส่วนวิธีการที่จะยืดอายุรถของเราออกไปนั้นมีหลากหลายวิธีดังต่อไปนี้

Advertisement

Advertisement

การอุ่นเครื่องยนต์หลังจากสตาร์ท

เครื่องหมายเตือนอุณหภูมิต่ำเกินไป

ขอบคุณรูปภาพจาก freepik.com (Vectorpocket)

การอุ่นเครื่องในที่นี้ หมายถึง การที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ของเราแล้วปล่อยไว้สักพักจนเสร็จขั้นตอน ซึ่งวิธีการทำก็ง่ายแสนง่าย ขั้นตอนคือ ขั้นแรกให้เราสตาร์ทเครื่องยนต์จากนั้นปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานในรอบเดินเบา (700-800 รอบ/นาที) หากว่าสตาร์ทในตอนเช้าที่อากาศเย็น รถยนต์บางแบรนด์รอบเดินเบาอาจสูงถึง 1,300 รอบ/นาที) หากว่าความร้อนไม่ใช้ปัญหาสำหรับคุณก็อย่างพึ่งที่จะเปิดระบบปรับอากาศของรถยนต์ เนื่องจากว่าเครื่องยนต์หลังจากสตาร์ทใหม่จะทำงานหนัก (สังเกตได้จากรอบเดินเบา) วิธีการดูว่านานเท่าไรเราควรจะออกรถได้คือ ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่มีเข็มบอกอุณหภูมิ ให้สังเกตสัญลักษณ์รูปปรอทวัดไข้ (บางคนอาจมองเป็นรูปเรือใบ) หากว่าสัญลักษณ์สีฟ้านี้หายไปก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการอุ่นเครื่อง สำหรับรถยนต์รุ่นที่มีเข็มบอกอุณหภูมิ อุณหภูมิที่ดีเหมาะสมสำหรับเครื่องยนต์คือ 85-90 องศาเซลเซียสขึ้นไป แต่ถ้าหากว่าเครื่องยนต์รอบตกลงมาที่ 800 รอบ/นาที โดยประมาณก็ถือว่าเป็นการเสร็จขั้นตอนการอุ่นเครื่องแล้วครับผม

Advertisement

Advertisement


การซ่อมบำรุงตามระยะวลาที่เหมาะสม

ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์

ขอบคุณรูปภาพจาก pixabay.com (DokaRyan)

ตัวคนขับเองยังต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี แล้วทำไมรถยนต์คันโปรดของเราจึงไม่จำเป็นหล่ะ? รถยนต์ของเราเมื่อผ่านการใช้งานมาสักระยะหนึ่งก็จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษา โดยการบำรุงรักษานี้สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ เข้าศูนย์บริการรถยนต์ของยี่ห้อนั้น ๆ เข้าศูนย์บริการทั่วไป (ที่เรา ๆเรียกกันว่า อู่นอก) หรือ หากใครมีความรู้ด้านช่างยนต์ก็สามารถทำเองได้ การบำรุงรักษาหลัก ๆ ของรถยนต์ก็จะได้แก่ การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและกรองน้ำมันเครื่อง ที่โดยปกติแล้วจะเปลี่ยนกันทุก ๆ 8,000-10,000 กิโลเมตรของระยะทางที่รถยนต์วิ่งไป หรือทุก ๆ 1 ปี, การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์โดยขึ้นอยู่กับประเภทรถ เฉลี่ยแล้วจะเปลี่ยนทุก 40,000 – 60,000 กิโลเมตร, การเปลี่ยนยางรถยนต์, การเปลี่ยนใบปัดน้ำฝน ทั้งนี้ระยะทางหรือระยะเวลาในการบำรุงรักษาของรถยนต์แต่ละคันอาจจะแตกต่างกันออกไป โดยถ้าจะให้แนะนำการเข้าศูนย์บริการน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากการให้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และแน่นอนว่าศูนย์บริการย่อมรู้จักรถยนต์คันนั้น ๆ มากเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรฐานก็ต้องแลกกับเงินที่จะเสียมากกว่าการเข้าอู่นอก การจะเลือกอู่ก็อาจจะต้องเลือกให้ดีหรือสอบถามกันในกลุ่มคนที่ใช้รถยนต์รุ่นเดียวกันนั้นเองครับ

Advertisement

Advertisement


การเลือกซื้อรถยนต์ที่เหมาะกับการใช้งาน

การเลือกซื้อรถยนต์ให้เหมาะกับการใช้ชีวิต

ขอบคุณรูปภาพจาก pexels.com (Jagmeet Singh)

อาจจะฟังดูเป็นอะไรที่เหมือนเอากำปั้นทุบดิน แต่คุณรู้หรือไม่ การเลือกซื้อรถยนต์คันหนึ่งให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเราก็มีส่วนในการช่วยยืดอายุการใช้งานนะครับ วิธีการสังเกตขออนุญาตเขียนเป็นข้อ ๆ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ

  • เราต้องรู้ว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร
  • เราต้องการอะไรจากการซื้อรถยนต์คันใหม่นี้
  • เราขับรถในสภาพการจราจรแบบใด
  • สภาพพื้นผิวถนนแบบไหน
  • ต้องมีการขับรถที่ความเร็วสูงนาน ๆ
  • หรือต้องขับขึ้นเขาลงห้วยหรือเปล่า
  • ต้องบรรทุกสิ่งของรวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวหรือไม่ และต้องมีผู้สูงอายุโดยสารด้วยหรือไม่
  • จำนวนสมาชิกในครอบครัวมีกี่คน

หากว่าเราเป็นคนเมืองต้องการใช้รถคนเดียวหรือสองคน ไม่เคยออกไปต่างจังหวัดเลย ก็อาจจะใช้รถยนต์ขนาดเล็ก-ขนาดกลางก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าคุณเป็นพ่อบ้านใจกล้ามีสมาชิกในบ้านเยอะและมีผู้สูงอายุด้วยก็อาจจะแนะนำเป็นรถสไตล์ MPV หรือ SUV แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องมีการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน วิ่งทางไกล ขึ้นเขาลงห้วย ก็อาจจะแนะนำเป็นรถกระบะ รถกระบะดัดแปลง (PPV) และรถ SUV นั้นเอง ทั้งนี้ถ้าหากว่ารถยนต์มือหนึ่งราคาแพงแสนแพง ก็อาจจะลองหารถยนต์มือสองสภาพดีมาใช้งานก็ดูจะโอเคกว่าการซื้อรถที่ไม่เหมาะกับการใช้งานนะครับ


การเปลี่ยนนิสัยของคนขับให้เหมาะกับบุคลิคของรถ

ปรับเปลี่ยนนิสัยตามรถยนต์คันนั้นๆ

ขอบคุณรูปภาพจาก pixabay.com (Splitshire)

แน่นอนว่าบางทีเราไม่ได้อยากใช้รถยนต์คันนี้ แต่มีเหตจำเป็นที่เราต้องใช้งานมัน เช่น เป็นรถที่ที่บ้านซื้อมาให้ใช้, รถประจำตำแหน่งขององค์กร หรือ เป็นรถที่ต้องใช้งานร่วมกันหลายคน วิธีการนี้อาจจะต้องใช้ความรู้เรื่องยานยนต์และประสบการณ์พอสังเขป เนื่องจากว่าเราต้องรู้จักประเภท และ ข้อมูลของรถคันนั้น ๆ เสียก่อน และค่อยปรับตัวเข้าหามัน ตัวอย่างเช่น เราเป็นพ่อหนุ่มเท้าไฟที่เคยขับแต่รถกระบะ แต่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ Eco car ที่ทางบ้านซื้อมาให้ สิ่งที่เราต้องปรับตัวก็คือ เราต้องคิดอยู่เสมอว่ารถยนต์คันนี้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องยนต์ก็อาจจะไม่ได้มีการตอบสนองดีเท่าที่ควร เราควรที่จะออกตัวอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์และเกียร์ การลดความเร็วลงเมื่อต้องผ่านพื้นผิวถนนที่ขรุขระ เป็นต้น ทั้งนี้การเปลี่ยนนิสัยของคนขับเองยังมีผลดีต่อความปลอดภัยบนท้องถนนอีกด้วย เช่น หากปกติแล้วเราเป็นคนขับรถเก๋งขนาดกลาง-ใหญ่มาโดยตลอด แต่ต้องมาใช้รถยนต์ประเภท รถกระบะ หรือ รถ PPV ในการเข้าโค้งที่ความเร็วสูงส่วนมากแล้วรถยนต์ประเภทนี้จะไม่ได้ถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการเข้าโค้ง หรือเปลี่ยนช่องทางจราจรไปมาได้ดี เราก็ควรที่จะลดความเร็วก่อนถึงโค้ง และ ขับขี่อย่างใจเย็นนั้นเอง


ทุกข้อที่กล่าวมาอาจจะไม่ได้ถูกที่สุดเสมอไปเนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้มีรถยนต์ที่มีความหลากหลายมากมาย และแบ่งประเภทของรถยนต์ย่อยมากมายหลายประเภทเหลือเกิน ทางที่ดีที่สุดคือการอ่านคู่มือของรถคันนั้นและพัฒนาประสบการณ์การขับขี่ของรถคันนั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำความรู้จักกันไป เมื่อคุณรู้จักกับรถคันนั้นเป็นอย่างดีแล้วก็ลองปฏิบัติตามเคล็ดลับที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวไปนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และยังมีผลดีต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย กราบขอบพระคุณผู้อ่านมา ณ ที่นี้ ขอให้มีความสุขกับการใช้รถใช้ถนน ขับขี่ปลอดภัย สวัสดีครับ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์