ไลฟ์แฮ็ก
กองทุนน่ารู้สำหรับมนุษย์เงินเดือนมือใหม่
สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบ และเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ในบริษัท องค์กรต่างๆ วันนี้เราก็จะมาแนะนำกองทุนพื้นฐานที่บริษัท องค์กรทั่วไป จัดให้มีเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับพนักงาน ซึ่งกองทุนเหล่านี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรามากนะคะ เพราะครอบคลุมถึงเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเงินที่เราจะได้รับตอนเราเกษียณอายุการทำงานด้วย
1 กองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคมเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่บริษัท นายจ้าง หรือองค์กรต่างๆ จัดให้มีสำหรับลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ (1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (2) ทุพพลภาพ (3) ตาย (4) คลอดบุตร (5) สงเคราะห์บุตร (6) ว่างงาน (7) ชราภาพ โดยบริษัทนายจ้างจะหักเงินเดือนลูกจ้าง 5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกินวงเงิน 15,000 บาท (หมายความว่า ถ้าเราได้รับเงินเดือน 10,000 บาท จะถูกหักเงินนำส่งเป็นจำนวน 500 บาท และหักสูงสุดไม่เกิน 5% ของเงินจำนวน 15,000 บาท คือ 750 บาท) และนายจ้างสมทบเงินในอัตราส่วนที่เท่ากัน นำส่งประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกรณีข้างต้น และเป็นหลักประกันว่าลูกจ้างจะมีเงินอย่างน้อย 2 – 4 พันบาท ไว้ใช้จ่ายยามเราอายุครบ 55 ปี หรือเกษียณอายุการทำงานต่อไป
Advertisement
Advertisement
2 กองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย เนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน (กรณีหยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และตายหรือสูญหาย) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ
3 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ (บริษัทหรือองค์กรจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่มีก็ได้ และลูกจ้างในบริษัทหรือองค์กรจะสมัครเข้ากองทุนหรือไม่ก็ได้) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างได้เก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายตอนเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือให้แก่ครอบครัวของลูกจ้างกรณีลูกจ้างเสียชีวิต โดยลูกจ้างที่สมัครเข้ากองทุนจะถูกหักเงินส่วนหนึ่งจากค่าจ้างเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน เรียกว่า “เงินสะสม” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างเลือกหักเงินสะสมเข้ากองทุนได้ตั้งแต่ร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน ร้อยละ 15 ของเงินเดือน และนายจ้างจะจ่ายเงินอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน เรียกว่า “เงินสมทบ” ตามกฎหมายกำหนดให้นำส่งไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เงินทั้งสองส่วนจะถูกนำไปบริหารจัดการโดยบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน และนำดอกผลที่เกิดขึ้นเฉลี่ยคืนให้กับลูกจ้างที่สมัครเป็นสมาชิกตามสัดส่วนของเงินและเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้
Advertisement
Advertisement
เครดิตภาพประกอบ ภาพปก / ภาพ1 / ภาพ2 / ภาพ3
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น