อื่นๆ
นวัตกรรมวิตก

ที่มาภาพหน้าปก https://www.pexels.com/th-th/photo/171198/
ตั้งแต่บ้านเรารู้จักกับคำว่า 4.0 คำว่า "นวัตกรรม" ได้กลายเป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจกันไม่น้อย จะว่าไปเราก็รู้จักกับคำว่านวัตกรรมมานานเนิ่น แต่มันยังคงดำผุดดำว่ายและวนเวียนอยู่แต่ในอ่าง หลายคนเกิดคำถามและตั้งข้อสังเกตว่า นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายกระนั้นหรือ ? เรามีความคิดพอที่จะผลิตนวัตกรรมได้หรือไม่ ? ไม่เพียงเท่านั้นยังพบเรื่องที่น่าวิตกไม่น้อยเมื่อพบว่าหลายคนโดยเฉพาะในหลายองค์กรยังไม่ทราบถึงความหมายและทัศนคติของคำว่า “นวัตกรรม” !
ศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบราชการไทย เคยให้ความหมายนวัตกรรมในองค์กรว่า หมายถึง แนวคิด วิธีการ หรือรูปแบบใหม่ๆ ในองค์กร อันเป็นผลเกิดจากการสร้าง การพัฒนา หรือต่อยอดและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆ กระทั่งทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพของการปฏิบัติงานในท้ายที่สุด ความหมายดังกล่าวอาจฟังดูกว้างๆ พิลึก เรามาเจาะจงแบบชี้ชัดกันดีกว่าว่ามันมีขอบเขต หรือกรอบในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในหน่วยงานของเราอย่างไร โดยนวัตกรรมในบริบทของหน่วยงานภาครัฐนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
Advertisement
Advertisement
1. นวัตกรรมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ (Strategy/ Concepts Innovation) คือการคิดค้น ออกแบบ หรือการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ภารกิจ เป้าประสงค์ขึ้นใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์หรือการวางทิศทางใหม่ในการนำพาองค์กรไปสู่อนาคต
ที่มาของภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/3184292/
2. นวัตกรรมด้านการบริการ (Service Innovation) เป็นการปรับปรุงการบริการ เช่น การรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านระบบสารสนเทศ การบริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card หรือการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ (mobile unit) ในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประชาชน เช่น การเกิดอัคคีภัย เป็นต้น
ที่มาของภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/260367/
3. นวัตกรรมด้านกระบวนการ และการบริหารองค์กร (Process and Organization Administration Innovation) ได้แก่ การออกแบบโครงสร้างองค์กร กระบวนการสั่งการ/บังคับบัญชา หรือการจัดกระบวนการภายในขึ้นใหม่ เช่น การจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ดำเนินภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือการพัฒนาแนวทางการริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล เป็นต้น
Advertisement
Advertisement
ที่มาของภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/1181355/
จากกรอบดังกล่าวเราสามารถให้คำนิยามกับคำว่า “นวัตกรรม” ซึ่งก็คือการอุบัติขึ้นของสิ่งใหม่ เพื่อแก้ไขสิ่งที่เป็นหรือมีอยู่เดิม และนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน หรือพูดให้เข้าใจง่ายแบบโทมัส เอดิสัน ที่บอกว่านวัตกรรม “คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” ดังนั้นนวัตกรรมจึงไม่อาจจำกัดอยู่แต่ในส่วนของภาคเอกชนเพียงเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ที่ลำหน้าเท่านั้น ในเมื่อนวัตกรรมนั้นมีความอัศจรรย์มากมายมหาศาลรออยู่เบื้องหน้าถึงเพียงนี้แล้ว นวัตกรรมจึงควรมีบทบาทอยู่ในทุกซอกมุมของกระบวนการดำเนินชีวิตมนุษย์
โดยนวัตกรรมควรเริ่มจากระดับเล็ก ๆ ก่อน เช่น ในระดับตัวบุุคคล แล้วค่อย ๆ ก่อตัวเป็นระลอกคลื่นใหญ่ อย่างเช่น การจะเกิดนวัตกรรมในองค์กรได้ ต้องเริ่มที่ระดับตัวบุคลากร ซึ่งจะต้องมีการหาความรู้ตลอดเวลา ต้องฝึกคิดและทัศนคติเชิงสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น การจัดเอกสารประกอบการประชุม การเชิญประชุม การแจ้งเวียน การรายงาน/ติดตามผลความก้าวหน้า การให้บริการแก่ผู้รับบริการ ฯลฯ โดยต้องเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่เดิม หรือการคิดค้นกระบวนการทำงานใหม่เพื่อทำให้งานเกิดความคล่องตัว และลดขั้นตอนเดิมๆ ที่ทำให้เสียเวลา หรือเป็นการลดทอนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น โดยใช้กระบวนการออกแบบและระบบสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการคิดค้นนวัตกรรมจะต้องไม่มุ่งเน้นเพื่อ “การแข่งขัน” แต่เพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะทำให้ได้นวัตกรรมที่เป็นของปลอมแล้ว ยังกลายเป็นการสร้างความเบื่อหน่ายและภาระขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
Advertisement
Advertisement
ที่มาของภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/159775/
ทั้งนี้จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาและวิเคราะห์องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในบริบทของความสำเร็จในการเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม สามารถสรุปถึงองค์ประกอบของความสำเร็จได้ดังนี้
- การปฏิวัติวัฒนธรรมที่ล้าหลัง และหลักการทำงานแบบเดิมๆ ในองค์กร และการหลุดพ้นพฤติกรรม “ทำตามที่เคยทำๆ กันมา” โดยเปลี่ยนมาให้ความสนใจกับประโยคที่ว่า “สิ่งที่เป็นมาอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นไป" เพราะอะไรที่เคยทำตามๆ กันมาในอดีตอาจไม่ใช่เครื่องการันตีความถูกต้องหรือทางไปสู่ความสำเร็จเสมอไป
- การจูงใจให้องค์กรมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง เพื่อตอบรับสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์
- การลงทุนในบุคลกรที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนให้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกฝนและศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ (โดยมีการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง)
- การนำผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กรที่ประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร เพื่อให้เกิดการต่อยอด หรือมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายใน
- การให้เงินรางวัล หรือขั้นเงินเดือนแก่ผู้มีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่ทำให้งานบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ
- การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
- การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่งเสริมให้บุคลากรมีความสุขกับการทำงาน และเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำสิ่งใหม่ๆ ให้องค์กร เช่น บรรยากาศของห้องทำงาน เสียงรบกวน สวนหย่อมพักผ่อน ห้องน้ำที่สะอาด สถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เริ่มเปลี่ยนแปลงในตัว “คน” เป็นอันดับแรกก่อน และ“ระบบการทำงาน” เป็นอันดับรอง หากทุกภารกิจที่ผ่านมา "เราทำได้” นวัตกรรม "เราก็สร้างได้” เช่นกัน
ความคิดเห็น
