อื่นๆ
บันทึกถึง “ดั่งใจปรารถนา”
.jpg)
บันทึกถึง “ดั่งใจปรารถนา”
สำหรับคนรักหนังสือ ชื่นชอบการอ่าน การกักตัวอยู่กับบ้าน ทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น หลังจากช่วงสองสัปดาห์แรกยังจับต้นชนปลายทำงานจากบ้าน Work From Home: WFH ยังไม่อยู่หมัดดีนัก พอเริ่มปรับตัวได้ ปรับสมดุลตารางชีวิตลงตัว การจัดตารางเวลาในแต่ละวันที่เหมือนมีเวลาเหลือเฟือเกินไปแล้วจึงเริ่มขึ้น ฉันทำสิ่งหนึ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันมานาน “อยู่บ้าน อ่านหนังสือ” จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย มองไปยังชั้นหนังสือรอบห้อง มีหนังสือหลากหลายประเภท ฉันหยิบนวนิยายเรื่อง “ดั่งใจปรารถนา” ของ ซูซานนา ตามาโร นักเขียนชาวอิตาลี สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ เป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลีเป็นภาษาไทย
ฉันเขียนลงในสมุดบันทึกการอ่านของตัวเองเกี่ยวกับความประทับใจที่มีต่อ “ดั่งใจปรารถนา” ตัวเอกของเรื่องมีสถานะเป็น “แม่” ของลูกสาว และเป็น “ยาย” ของหลานสาว วันหนึ่งหญิงชราสูงวัยได้เริ่มต้นเขียนจดหมายถึงหลานสาวซึ่งจากบ้านเกิดในอิตาลีไปใช้ชีวิตที่อเมริกา มีจดหมายทั้งหมด 15 ฉบับ เริ่มเขียนฉบับแรกวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1992 ฉบับสุดท้ายลงวันที่ 22 ธันวาคมปีเดียวกัน ยายถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงสามรุ่น ยาย ลูกสาว หลานสาว เล่าเรื่องผ่านจดหมาย ประเด็นที่เห็นชัดเจนคือแนวคิดสตรีนิยมที่ปรากฏผ่านการใช้ชีวิต แนวคิดของตัวละครหลักผู้หญิงทั้งสามคน ซึ่งเมื่ออ่านแบบวิเคราะห์จะพบแนวคิดสตรีนิยมสายต่าง ๆ ปรากฏให้เห็น โดยผู้เขียนไม่ได้เล่าเรื่องแบบงานวิชาการ แต่เล่าเรื่องผ่านการใช้ชีวิตของตัวละครทั้งสามคน
Advertisement
Advertisement
ประเด็นต่อมาที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่จดหมายฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน ไปจนจดหมายฉบับสุดท้ายคือเรื่องราวของความรักและเป็นความรักในรูปแบบของ “ชู้” ที่ฝ่ายยายใช้ชีวิตแบบนี้หลังจากแต่งงานได้ระยะหนึ่งและคู่ขนานไปกับชายที่เป็นสามี เธอมีทั้งสามีและมีผู้ชายอีกคนที่เธอรัก อีกประเด็นที่สอดแทรกให้เห็นคือบริบทของสังคมอิตาลีในช่วงสงครามโลก อ่านจดหมายทุกฉบับของคุณยายที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าชีวิตเอาไว้ด้วยภาษาของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเขียนออกมา ความเรียบง่ายของภาษาที่ทำให้รู้สึกว่าสามารถพบเจอชีวิตแบบนี้ได้ทั่วไป ผู้หญิงทั้งสามวัยอาจจะมีชีวิตใกล้เคียงกับตัวเราในบางเรื่อง ขณะเดียวกันอาจจะคล้ายกับใครอีกหลายคนที่เรารู้จัก ที่สำคัญหนังสือทำให้เราเห็นชีวิตสามัญธรรมดา ส่วนสิ่งที่นักเขียนซ่อนเอาไว้ระหว่างบรรทัดในจดหมายแต่ละฉบับไม่ได้เขียนแบบยัดเยียดให้เราต้องรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ บางครั้งอาจจะเผลอมองข้ามเพราะรู้สึกเพลินคล้ายกับว่ากำลังอ่านจดหมายจากยายของตัวเอง หรือจากใครสักคนที่เรารู้จัก ฉันชอบเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดาที่ร่วมเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์สังคม น่าสนใจ เรื่องของคนธรรมดาที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่กับสังคมของมนุษยชาติ ใครจะไปรู้ว่าจดหมายที่ยายเขียนถึงหลานเล่าเรื่องสงครามด้วยภาษาปากแบบชาวบ้าน แต่มีคุณค่าและทำให้เห็นว่าชีวิตผู้หญิงตอนนั้น ชาวบ้านธรรมดา มีชีวิตอย่างไร
Advertisement
Advertisement
แรงบันดาลใจหลังจาก “ดั่งใจปรารถนา” จบลงนั่นคือ ฉันเริ่มกลับไปทบทวนบันทึกที่เขียนเอาไว้เกี่ยวกับโควิด-19 ข่าว เรื่องราว กว่าจะหมดโควิดพวกเราหลายคนคงได้เป็นนักบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์โรคระบาดของมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ทำให้เราหลายคนต้องมานั่งบันทึกไทม์ไลน์การไปข้างนอกของตัวเองแบบละเอียดเท่ากับช่วงเวลาของโควิด “ดั่งใจปรารถนา” จึงไม่เพียงแค่การได้อ่านชีวิตของผู้หญิงสามรุ่น แต่ยังกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการเขียน นานแค่ไหนแล้วนะที่เราไม่ได้เขียนจดหมายถึงกันนับตั้งแต่การมาเยือนของอีเมล ต่อมาก็มีสื่อสังคมออนไลน์ยี่ห้อต่าง ๆ ตอนนี้นอกจากการ “อยู่บ้าน อ่านหนังสือ” ยังต้องพ่วงด้วย “อยู่บ้าน เขียนหนังสือ” หรือ เขียนจดหมาย เขียนบันทึก ไปด้วยพร้อม ๆ กัน การอ่านจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในไทม์ไลน์ในยุคสมัยโควิด-19
Advertisement
Advertisement
Story and Photo by Nonglak Butler
(ภาพประกอบถ่ายจากหนังสือ)
ความคิดเห็น
