ไลฟ์แฮ็ก
ประชุมที่สร้างสรรค์...ต้องกระชับตรงประเด็น

เมื่อได้ยินคำว่า ประชุม คนทำงานมักจะเมินหน้าหนี เพราะต่างรู้สึกเบื่อและเสียดายเวลากับการที่ต้องนั่งทนฟังแต่ละคนพูดพล่ามอะไรที่ไม่ได้เรื่องได้ราว ทั้งที่มีเรื่องอยากปรึกษาแลกเปลี่ยนแต่พอมีโอกาสได้คุยกันต่อหน้าเป็นทางการ เราต่างปิดปากเงียบ แท้จริงแล้วการประชุมเป็นการระดมสมองเพื่อค้นพบทางออกร่วมกัน หรือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อกระทำกิจกรรมที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน
วันนี้ เรามีเคล็ดลับเกี่ยวกับการประชุมมาฝากกัน มีเจ็ดข้อ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่สำคัญถ้าเราพิมพ์แจกหรือแปะติดไว้ที่บอร์ดหรือกระดานทุกครั้งที่ประชุมร่วมกัน น่าจะเตือนสติเราได้ดีทำให้ใช้เวลาประชุมอย่างคุ้มค่าเกิดผลลัพธ์ที่ดี
หนึ่ง ทุกอย่างต้องมีวัตถุประสงค์ แน่นอน เมื่อให้ผู้คนหลากหลายฝ่ายหลากหลายหน้าที่ เข้ามาประชุมร่วมกันในห้องเดียวกัน ทุกคนต้องได้ทราบแน่ชัดว่า ที่มาประชุมในวันนี้ต้องการอะไร หรือพูดให้เพราะก็คือมีวัตถุประสงค์อะไร เช่น ต้องการแจ้งข้อมูลให้ทราบและนำไปปฏิบัติโดยทั่วกัน หรือต้องการคำตอบในการแก้ปัญหา หรือต้องการรับฟังความคิดเห็น เป็นต้น
Advertisement
Advertisement
สอง เตรียมพร้อมก่อนเข้าประชุม นอกจากทราบวัตถุประสงค์แล้ว ผู้เข้าประชุมทุกคนควรรู้วาระการประชุม รายละเอียดแต่ละหัวข้อ เพื่อมองเห็นทิศทางการประชุมที่จะเกิดขึ้นคร่าวๆ และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผู้เข้าประชุมที่อาจมีคำถามหรือข้อสงสัยในเรื่องใดจะได้รู้ว่าควรถามในช่วงไหนอย่างไร โดยพิจารณาดูจากวาระเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดและวาระการประชุม ควรแนบมาพร้อมกับจดหมายเชิญเข้าประชุมทุกครั้ง
สาม มีผู้นำการประชุม เพื่อคอยบริหารให้การประชุมดำเนินไปอย่างกระชับ ไม่ยืดเยื้อ และบรรลุวัตถุประสงค์ และมีผู้จดการประชุม คอยทำหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดการประชุมในเรื่องต่างๆ ซึ่งรวมถึงบทสรุป ปัญหา และข้อคิดเห็น
สี่ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น จริงๆ แล้วคนไทยเป็นคนที่มักไม่ค่อยพูด ถึงแม้จะมีเรื่องสำคัญจะต้องพูด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความกลัวต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาชนะความกลัวด้วยความกล้า และเตือนตนให้ตระหนักอยู่เสมอว่า มีเวลาพูดคุยกันในตอนนี้ก็จงทำทุกอย่างให้ชัดเจนดีกว่าไปเสียเวลาพูดคุยกันใหม่ภายหลัง
Advertisement
Advertisement
ห้า ระมัดระวังให้ดีระหว่างความคิดเห็น อารมณ์ความรู้สึก กับข้อเท็จจริง ไม่ควรนำมาปะปนกัน มิฉะนั้นเราจะหลงในวังวนที่หาทางออกไม่เจอ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการประชุมมากขึ้น ผู้นำการประชุมควรแยกแยะให้ได้และรู้จักตัดบท รู้จักดึงกลับมาเข้าที่เข้าทาง
หก สรุปการประชุมปิดท้าย ผู้นำการประชุม ต้องกล่าวสรุปผลการประชุมโดยให้ที่ประชุมโต้แย้งหากไม่เห็นด้วยหรือตกหล่นประเด็นใดไป เพื่อให้เข้าใจชัดเจนตรงกันในที่ประชุม จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
เจ็ด ทุกคนในที่ประชุม ควรตระหนักว่า เวลาคือต้นทุนชนิดหนึ่ง เวลาจึงมีค่าสำหรับคนทำงานทุกหน้าที่ ฉะนั้นอย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่ากับการนั่งพล่ามโดยไม่ได้อะไรเพิ่ม รีบทักท้วงรีบดึงกลับ และรักษาสิ่งที่เป็นประเด็นเป็นเนื้อหาที่คุ้มค่ากับการเสียเวลามานั่งประชุมร่วมกัน
Advertisement
Advertisement
หวังว่า ทุกท่านคงนำไปใช้ได้เพื่อให้การประชุมนั้นสร้างสรรค์ มีความรู้สึกทีดี และช่วยเติมไฟในการทำงานระหว่างกัน ขอให้สนุกกับการประชุมครับ.
ขอบคุณภาพถ่ายจาก
pixabay.com ครับ
ความคิดเห็น
