อื่นๆ
เมืองสีเขียว (𝙶𝚛𝚎𝚎𝚗 𝙲𝚒𝚝𝚢 𝙿𝚛𝚘𝚓𝚎𝚌𝚝) : โอบกอดธรรมชาติไว้ในมือเรา

ปัญหามลภาวะ ควันพิษ ไอเสีย ฝุ่นละออง อากาศเสีย เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนเมือง การเจริญเติบโตแบบไร้ขีดจำกัดของสังคมเมืองอาจช่วยในด้านเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค ความสะดวกสบายหลาย ๆ อย่างก็จริง แต่ปัญหาอีกด้านที่จะตามมาก็คือ การหลั่งไหลกันเข้ามายังสังคมเมือง ที่จะเพิ่มปัญหาความแออัด ผู้คนมากขึ้น รถยนต์ก็มากขึ้น รถมอเตอร์ไซค์มากขึ้น ขยะ อากาศ น้ำ เสียง และมลภาวะต่าง ๆ ก็ยากที่จะเข้าถึงการควบคุม การใช้ข้อบังคับทางกฎหมายอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึงเพียงพอ หากคนในสังคมยังไร้จิตสำนึกที่จะดูแลรับผิดชอบสภาพแวดล้อมที่ดีร่วมกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere
กรุงเทพมหานคร ณ ปัจจุบันนี้มีคนอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน หรือแม้แต่เมืองใหญ่ ๆ ต่างก็ต้องพบกับปัญหามลภาวะฝุ่นควันล้นเมือง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นที่วิตกของคนทั้งโลก สิ่งหนึ่งเลยที่จะลดทอนปัญหาให้เบาบางลง และแก้ปัญหาที่ดีในอนาคตอันใกล้ได้นั่นก็คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือการปลูกต้นไม้สร้างระบบนิเวศน์จากธรรมชาติให้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีผลวิจัยออกมามากมายว่าต้นไม้ในเมืองนั้นช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควัน และฝุ่นละอองต่าง ๆ อย่างได้ผลดีทีเดียว
Advertisement
Advertisement
ขอบคุณภาพประกอบจาก An Min / pxhere
ทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชนก็ตระหนักถึงปัญหาของกรุงเทพมหานคร นี้เป็นอย่างดี หลายหน่วยงานมีการรณรงค์การปลูกต้นไม้กรองลดฝุ่นละอองในอากาศ หลายหน่วยงานก็จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน หน่วยงานของกรุงเทพมหานครเองก็ตั้งแผนแม่บททำโครงการ Green Bangkok ขึ้นมา เพื่อรณรงค์ผลักดันการเพิ่มต้นไม้ เพิ่มสวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อตารางเมตรต่อคน ให้สัมฤทธิ์ผลภายในปี 2030 หรือปี 2573 ในอีก 10 ปีข้างหน้านั่นเอง เพราะทุกวันนี้พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งมาตรฐานสากลก็คือการมีพื้นที่สีเขียวจำนวน 9 ตารางเมตรต่อคน ตามค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลก World Health Organization - WHO
ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere
แต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่ายเลย หากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย การรื้อสร้างพื้นที่บางส่วนจากผังเมืองเดิมที่ขาดการวางผังที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา การเพิ่มพื้นที่โล่งแจ้ง การเพิ่มพื้นที่สาธารณะ การแยกประเภทพื้นที่สาธารณะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการร่วมมือร่วมแรงในการพัฒนาและเข้าใจปัญหาอย่างดี ยังไม่นับเรื่องการรณรงค์ลดการสร้างมลภาวะต่าง ๆ ทั้งฝุ่นควัน เสียง และกลิ่น อย่างเป็นรูปธรรมและมีจิตสำนึกที่ดี
Advertisement
Advertisement
ขอบคุณภาพประกอบจาก An Min / pxhere
มีหลายหน่วยงานคิดจะรณรงค์ให้กรุงเทพมหานครของเราเป็น “เมืองเดินได้” แบบเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ต้องลองคิดกันว่าเราจะเดินไปไหนมาไหนได้อย่างไรในสภาพที่มี ฝุ่นละอองและควันพิษในอากาศ และจากไอเสียของรถยนต์มากมายเต็มไปหมด และเรายังเห็นการตัดต้นไม้ทิ้งแบบขาดการวางแผนรองรับที่ดีในหลาย ๆ พื้นที่ ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์ปลูกต้นไม้ยังทำกันอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้นไม้คือเครื่องฟอกอากาศจากธรรมชาติชั้นดี ยังไม่รวมถึงทัศนียภาพทางการมองเห็นที่ต้องสูญเสียไปด้วย หากยังเป็นเช่นที่ว่าอยู่นี้การทดแทนกันอาจจะมองไม่เห็นผลเลยด้วยซ้ำไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere
การเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงต้องเพิ่มพื้นที่ความคิดที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันด้วย ทั้งคน ทั้งชุมชน ทั้งสังคม ต้องเป็นพลังขับเคลื่อนผลักดันไปพร้อมกัน หากเราอยากมีสวนสาธารณะไว้พักผ่อน มีพื้นที่สีเขียวริมทางเท้า มีพื้นที่จากธรรมชาติ แม่น้ำลำคลองที่สะอาด สนามเด็กเล่นที่ปลอดฝุ่น ฯลฯ Green City Project จะเกิดขึ้นจริง ๆ ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่งในการชุบชีวิตพื้นที่สีเขียวให้ฟื้นคืนมา แต่ต้องเกิดจากทุกคนทุกฝ่าย ที่จะมาร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน
Advertisement
Advertisement
ความคิดเห็น
