อื่นๆ
Review ซีรีส์ Making a Murderer เมื่อกระบวนการยุติธรรม ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องกลายเป็นฆาตกร(!?)

สารคดีสืบสวนสอบสวน ความยาว 10 ตอนจาก Netflix ที่เป็นการบันทึกเหตุการณ์ของคดีดังในอเมริกา กับคดีความของ สตีเวน เอเวอรี่ ชายหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันมากมาย ที่ทำให้ชีวิตของเขาต้องถูกสิ่งที่เรียกกระบวนการยุติธรรมเล่นงานจนชีวิตพังไม่เป็นท่า
ก่อนอื่นจะขอพูดถึงคดีของ สตีเวน ชายหนุ่มจากมานิโทวอค เคาน์ตี้ ที่ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของสุสานรถ ซึ่งเรื่องราวของคดีนี้ต้องเท้าความตั้งแต่ปี 1985 ที่เกิดเหตุมีผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกาย จากชายที่ปิดบังโฉมหน้า ปรากฏว่าตำรวจได้พุ่งเป้าสงสัยมาที่ สตีเว่น ที่มีบุคลิกลักษณะ ตรงตามที่ผู้เสียหายระบุ จนทำให้ สตีเว่น ถูกจับเข้าคุกไป ในระหว่างนั้น สจีเวนและครอบครัวก็ได้พยายามเรียกร้องขอสู้คดีมาโดยตลอดด้วยความเชื่อที่ว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำ จนกระทั่งเขาได้รับพิจารณาให้สู้คดีและตรวจสอบหลักฐานใหม่จนพบว่า แท้จริงแล้ว สตีเวน ไม่ได้เป็นคนร้ายในคดีนี้ แต่กลับเป็นชายอีกคนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเขา (และที่สำคัญผู้ร้ายตัวจริงที่หลบหนีก็ได้ไปก่อเหตุเดิมซ้ำกับคนอื่นจนถูกจับข้อหาข่มขืนในคดีอื่นไปแล้ว) สุดท้ายแล้ว สตีเว่น ที่พบว่าไร้ซึ่งความผิดก็ได้ออกจากคุกหลังจากที่ต้องรับความผิดที่ไม่ได้ก่อไปถึง 18 ปี
Advertisement
Advertisement
หลังจากที่ สตีเวน ออกมาจากคุกในปี 2003 ระหว่างนั้นเขาและครอบครัวก็ได้พยายามเรียกร้องค่าเสียหายจากทางอัยการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบต่อเวลา 18 ปีที่เขาต้องติดคุกไปเป็นเงิน 36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ สตีเวน กลับได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว 2 ปีเท่านั้น จนกระทั่งในปี 2005 ได้เกิดคดีฆาตกรรม เทเรซ่า ฮัลบาช หญิงสาวที่หายตัวไป แล้วพบว่าเธอได้กลายเป็นศพถูกเผาทำร้ายอยู่ในเขตที่ดินของ สตีเวน ซึ่งแน่นอนว่าคราวนี้เขาถูกเพ่งเล็งเป็นผู้ต้องสงสัยมากกว่าเดิมทั้งประวัติอาชญากรรม (ที่ไม่ได้ก่อ) และหลักฐานสภาพแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า เขาคือผู้ร้าย ร่วมกับ เบรนแดน แดสซีย์ หลานชายอายยุ 16 ปีของเขา จนกระทั่งในปี 2007 ศาลได้ตัดสินว่า สตีเวนและ เบรนแดน มีความผิดจริง และถูกลงโทษตลอดชีวิตโดยไม่มีการอภัยโทษ
แม้ว่าจะถูกใช้ชื่อว่า สารคดี แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับมีเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการมีเส้นเรื่องที่ชัดเจน เรียงลำดับตามขนบธรรมเนียมการเล่าเรื่องของซีรีส์ ทั่วไป หากจะต่างก็เพียงการเล่าเรื่องที่ดูแสนจะไม่บันเทิงจนออกไปทางเคร่งเครียดซะมากกว่า แต่สิ่งที่น่าจะบีบอารมณ์คนดูคือทุกภาพทุกเหตุการณ์ที่เราได้เห็นในซีรีส์มันคือเรื่องจริง โดยส่วนใหญซีรีส์จะเน้นบันทึกเรื่องราวการสัมภาษณ์พ่อ แม่ของสตีเวน และแบรนเดน และการต่อสู้ในศาลซะเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูน่าติดตามจึงเป็นการงัดหลักฐานต่างๆ มาสู้ในชั้นศาล ซึ่งยิ่งสืบสาวหลักฐาน แรงจูงใจต่างๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าคดีนี้เต็มไปด้วยความน่าเคลือบแคลงใจมากมายถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานอีกมากมายเจาะจงชี้ไปที่ สตีเวน เช่นกัน ที่ในส่วนนี้ต้องขอชื่นชมการนำเสนอในแง่ความเป็นซีรีส์สืบสวนที่เข้มข้นมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
Advertisement
Advertisement
สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นคือความไม่สมดุล ไม่เท่าเทียมกันในสังคม แน่นอนว่าในตามหลักความเป็นจริง สตีเวนเป็นผู้บริสุทธิ์โยสิ้นเชิงในคดีแรก เขาต้องติดคุกและสูญเสียเวลาชีวิตที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวไปถึง 18 ปี สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือความเมินเฉย จากเจ้าหน้าที่ที่ใช้กฎหมาย ที่แม้จะรู้ว่ามีผู้ต้องสงสัยอีกคนนอกจาก สตีเวน แต่พวกเขากลับปล่อยให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปก่อคดีอื่น อาจเพราะเพียงเห็นว่าคดีถูกปิดไปแล้ว ปัญหานี้เป็นสิ่งที่เราพบได้บ่อยในประเทศไทยของเรา เพราะมองดีๆ ครอบครัวของ สตีเวน นั้น ไม่ต่างอะไรจากคนจน หรือชนชั้นแรงงานในสังคม ที่มีความรู้น้อย และชีวิตที่ค่อนข้างดิ้นรน ในบางครั้งอาจถึงขั้นโดนดูถูกจากสังคม การที่ผู้คนในชนชั้นเหล่านี้จะติดคุกหรือถูกต้องสงสัยมันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ซีรีส์ได้สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วแม้ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้วอย่าง อเมริกา ก็ต้องเจอกับปัญหาไม่ต่างอะไรจากประเทศเราเลย
Advertisement
Advertisement
ท่ามกลางการเล่าเรื่องสืบสวนสอบสวน สะท้อนสังคมของสารคดีเรื่องนี้ แต่ทว่าซีรีส์กลับนำเสนอเรื่องราวได้ขาดความเป็นกลางไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อในแง่ของความเป็นจริงแล้วนอกจากครอบครัวของ สตีเวน แล้ว ยังมีครอบครัวของเหยื่ออย่าง เทเรซ่า ที่ต้องรับเคราะห์จากคดีนี้ด้วย ในขณะที่เนื้อหา วิธีการนำเสนอกลับหนักไปที่การให้คนดูร่วมเห็นใจไปกับครอบครัวของ สตีเวน ซึ่งแท้จริงแล้วกลับมีหลักฐานชิ้นอื่นๆ ที่ชี้ตัว สตีเวน ว่าเป็นคนทำเช่นกัน แต่ซีรีส์กลับเลือกเล่าในส่วนที่ผู้ทำอยากให้คนดูได้เห็นได้ร่วมรู้สึกเท่านั้น
ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม สิ่งที่ Making a Murderer ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม คือการที่สุดท้ายแล้วหลังจากที่ซีรีส์ออนแอร์ไป ได้เกิดฟีทแบค จากคนดูอย่างล้นหลาม จนมีการรณรงค์ให้ผู้คนร่วมโหวตขอให้ บารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีในตอนนั้นทำเรื่องขออภัยโทษให้ สตีเวน แต่ด้วยความที่เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจทำเนียบขาว จึงไม่สามารถทำอะไรได้ เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จในฐานะ โฆษณาชวนเชื่อได้อย่างทรงพลัง และที่สำคัญคือมันได้ทำให้ผู้คนมากมายที่ได้ดูได้รับรู้ถึงความไม่เท่าเทียม และจุดบอดของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.imdb.com/
ความคิดเห็น
