กองแก้ว ใช้เวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ได้สักครู่ วิทยากรก็เรียกรวมเพื่อแบ่งกลุ่มเดินทางศึกษาธรรมชาติ ฉันได้อยู่กลุ่มแรกจึงออกนำก่อน เส้นทางที่ใช้ในวันนี้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ตอนนี้ฝนหยุดแล้วเหลือทิ้งไว้เพียงละอองน้ำเล็กๆที่นำพาเอาความชุ่มฉ่ำมาให้ ไม่รู้ว่าคนอื่นตื่นเต้นกับสะพานไม้ในภาพนี้หรือไม่ แต่ฉันจินตนาการไปว่าสะพานนี้เหมือนชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ ต่างกันที่ชานชาลาดังกล่าวเชื่อมโลกมักเกิ้ลกับโลกพ่อมด แต่สะพานนี้เชื่อมโลกมักเกิ้ลกับป่าใหญ่ เอาล่ะ เตรียมตัว ระวัง ไป !!! “Nothing in Biology Makes Sense Except in the Light of Evolution” (Theodosius Dobzhansky,1973) ประโยคข้างต้นได้รับการพิสูจน์แล้วจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ เมื่อเดินลึกเข้าไปอีกจะพบต้นไม้ใหญ่ขึ้น บริเวณโคนต้นจะเห็นการแผ่ของรากที่โผล่ขึ้นมาเป็นรากค้ำจุนเรียกว่าพูพอน (buttree) การที่ต้นไม้ต้องมีพูพอนนี้เป็นอีกหนึ่งในหลากหลายวิวัฒนาการของพืช พูพอนนั้นเป็นประโยชน์แก่ต้นไม้อย่างมากในแง่ที่ช่วยพยุงค้ำยันลำต้นไม่ให้โค่นล้มได้ง่ายเมื่อเจอลมพายุ ยิ่งในสภาพทางธรณีวิทยาที่ชั้นดินในป่าเขาใหญ่มีความตื้น ทั้งยังมีชั้นหินแข็งอยู่ด้วยทำให้รากแก้วของต้นไม้ไม่สามารถหยั่งลึกลงไปสร้างความมั่นคงได้ พูพอนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในแง่ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับแร่ธาตุและน้ำในดิน รวมถึงเป็นแหล่งพักพิงให้สัตว์หรือแม้กระทั่งคนได้ นอกจากจะได้เจอวิวัฒนาการในการสร้างพูพอนแล้ว ฉันยังได้เจอกับตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของไม้พุ่มและไม้เลื้อยอย่างเจ้าค้อนตีหมา โดยทั่วไปความสูงของต้นไม้ในป่านั้นจะไม่เท่ากัน บ้างสูงชะลูดได้รับแสงไปสร้างอาหารได้เต็มที่ บ้างอยู่เรี่ยดินต้องคอยยึดเกาะกับไม้ใหญ่เพื่อรับแสง ค้อนตีหมานี้มีลักษณะกึ่งๆระหว่างไม้พุ่ม แต่ก็มีลำต้นที่ทอดตัวเลื้อยไปกับไม้ใหญ่คล้ายเถาวัลย์เหมือนกับไผ่เลื้อยที่ฉันกล่าวในบทที่ 2 ผา (ไม่) เดียวดาย การที่ค้อนตีหมามีลำต้นทอดยาวนั้นก็เพื่อหาแสงมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนั่นเอง ถัดออกมาอีกหน่อยก็ได้เจอกับพวงดอกไข่มุกอันดามันสีชมพูที่ยังคงมีหยดน้ำฝนเกาะติดกับช่อดอกอยู่ ยิ่งแต่งแต้มให้การศึกษาธรรมชาติครั้งนี้น่าจดจำยิ่งขึ้นไปอีก หากยังจำกันได้เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ออกแบบความสัมพันธ์ของห่วงโซ่อาหาร ที่มีผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลาย การเดินศึกษาธรรมชาติครั้งนี้ช่วยให้ฉันเห็นรูปแบบความสัมพันธ์ของสายใยอาหารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังเสมือนได้ กลับไปทบทวนรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เคยได้เรียนนักบุญแห่งป่า...นักฆ่าแห่งพงไพร เราทราบว่าพืชนั้นเป็นผู้ผลิต แต่ไทรนั้นไม่เพียงเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว ชีวิตของผู้ผลิตอย่างไทรนั้นน่าฉงนมากกว่าที่เราคิด เมื่อยามที่ไทรเพิ่งเกิด อาจจะเนื่องจากมีนกที่ได้กินลูกไทรแล้วมาถ่ายมูลไว้จนเกิดต้นไทรออกมาหรือด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ ไทรจะเติบโตบนต้นไม้ต้นอื่น จากนั้นจึงค่อยๆแผ่ขยายรากอากาศลงมาสู่พื้นดินซึ่งก็คือส่วนที่เราคิดว่าเป็นลำต้นนั่นเอง เมื่อไทรโตพอจะออกผลได้ก็จะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้กับสัตว์กินพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลิง ค่าง ชะนีบนยอดไม้หรือจะเป็นพวกเก้ง กวาง หมูป่าที่อยู่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน จึงได้ให้สมญานามแก่ไทรว่านักบุญแห่งป่า แต่ในเวลาต่อมาเมื่อไทรเริ่มโตขึ้น ลำต้นยิ่งแผ่ขยายใหญ่จนสุดท้ายก็บีบรัดต้นไม้ที่ครั้งหนึ่งไทรเคยได้อาศัยเกิดจนไม้ต้นนั้นตาย อีกสมญานามหนึ่งของไทรที่พ่วงมาจึงเป็นนักฆ่าแห่งพงไพร รู้จักหนึ่งในผู้ผลิตของระบบนิเวศแล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับผู้บริโภคของป่าแห่งนี้กัน สัตว์ตัวแรกที่จะนำเสนอคือหมี ฉันไม่ได้หมายความว่าเดินป่าครั้งนี้จะเจอหมี แต่ก็ได้เจอกับร่องรอยของหมีที่รับรู้ได้จากรอยข่วนตามต้นไม้ ระดับความสูงของรอยข่วนนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ทราบว่าสัตว์ที่ทิ้งรอยไว้ให้เราดูนั้นเป็นสัตว์ชนิดใด หมีมีทั้งชนิดที่กินพืช (สิ่งมีชีวิตกินพืช : Herbivore) เช่นที่เรารู้จักกันดีอย่างหมีแพนด้า หมีที่กินสัตว์ (สิ่งมีชีวิตกินสัตว์ : Carnivore) เช่นหมีกริซลี่ย์ หรือจะเป็นหมีที่กินทั้งพืชทั้งสัตว์ (สิ่งมีชีวิตกินทั้งพืชและสัตว์ : Omnivore) อย่างหมีสีน้ำตาล ตัวต่อมาที่ฉันมีโอกาสได้เจอคือเจ้าพันขา (Millipedes) อย่างกิ้งกือเหล็ก กิ้งกือนั้นเป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) มันจะกินซากใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้น ทำหน้าที่เป็นเทศบาลตัวจ้อยคอยกำจัดซากใบไม้ มักอาศัยอยู่ใต้กองใบไม้หรือตอไม้ที่มีความชื้น เดินต่อมาฉันก็ได้เจอกับกองขนอะไรสักอย่าง วิทยากรได้อธิบายให้ฟังว่ากองที่เห็นนั้นคืออุจจาระของหมาไน หมาไนเป็นสัตว์กินเนื้อที่อยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อรุมกินเหยื่อแล้วหมาไนจะทิ้งซากกระดูกไว้ให้สัตว์อื่นอย่างหมีได้ใช้ฝนเล็บ หรือให้ตัวเหี้ยนักเทศบาลของผืนป่าผู้ถูกด่าแม้ไม่ได้ทำผิดอะไรได้กำจัดซากต่อไป ในขณะที่ตัวหมาไนนั้นก็ย่อยอาหารที่กินไปเรื่อยๆเพื่อให้ร่างกายได้พลังงาน และส่วนที่ย่อยไม่ได้อย่างขนของกวาง (ร่างกายของสัตว์กินเนื้อมักย่อยเคราตินไม่ได้ มนุษย์ก็เช่นกัน) ก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ ดังนั้นเมื่อมองเห็นอุจจาระก็พอจะบอกได้ว่าเป็นของสัตว์ประเภทใด หรืออยากจะรู้ว่าสัตว์เจ้าของระเบิดกองนี้ยังอยู่ใกล้ๆเราหรือเปล่าก็ลองเอานิ้วจิ้มก็ได้ หากยังอุ่นๆอยู่แสดงว่าสัตว์นั้นยังอยู่ไม่ไกล ปัจจุบันหมาไนจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในสถานะถูกคุกคามพบได้ไม่ง่ายนัก เมื่อมีผู้ผลิต ผู้บริโภคแล้ว ก็ย่อมต้องมีผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ตลอดเส้นทางที่เราเดินผ่าน หากบริเวณไหนที่มีขอนไม้ผุๆ เรามักจะเห็นเห็ดขึ้น ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่าเห็ดนั้นเป็นผัก แต่ในความจริงแล้วเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกรา อยู่ในอาณาจักรฟังไจ (Kingdom Fungi) เห็ดนี้ทำหน้าที่สำคัญในระบบนิเวศคือเป็นผู้เปลี่ยนอินทรียสารให้เป็นอนินทรียสาร อธิบายอย่างง่ายคือเปลี่ยนซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นแร่ธาตุซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อต้นไม้ต่อไปรู้ได้อย่างไรว่าเห็ดไหนมีพิษ ปัจจุบันมีวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดอย่างง่ายอยู่หลายวิธี เช่น การนำไปต้มกับข้าวสาร หากมีพิษข้าวจะสุกๆ ดิบๆหรือไม่สุก การใช้มือถูหมวกดอกเห็ด ถ้ารอยแผลมีสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ การดูร่องรอยของแมลงหรือสัตว์ที่มากัดกิน แต่เนื่องจากวิธีนี้เป็นเพียงวิธีเบื้องต้น ไม่สามารถจำแนกความเป็นพิษได้แน่ชัดดังนั้นหากไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่งเก็บมากินจะดีกว่าป่ารุ่นสอง ด้วยมันสมองของธรรมชาติ เดิมบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้วเป็นป่าที่ถูกแผ้วถาง จนเวลาผ่านมาป่าเขาใหญ่ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลก ธรรมชาติได้นำพาเอาต้นไม้กลุ่มแรกที่ทนต่อความแห้งแล้งอย่างต้นยางมากรุยทางให้เกิดป่า จากนั้นจึงตามมาด้วยไม้ชนิดอื่นที่เหมือนทัพเสริมช่วยให้พื้นที่โล่งเตียนกลายเป็นสังคมป่าอีกครา นี่แหละที่เขาเรียกว่าธรรมชาติจัดสรร เดินเข้ามาลึกยิ่งขึ้นสภาพป่าก็เปลี่ยนไปกลายเป็นป่าพรุ ฉันได้พบแหล่งแก้มลิงธรรมชาติห้วยสาขาย่อยลำตะคอง ยามหน้าน้ำบริเวณนี้จะกลายเป็นห้วยที่เต็มไปด้วยสายธาร ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่างปลาและเต่าได้มาพักอาศัยและหาอาหารกิน ส่วนในหน้าร้อนน้ำในห้วยแห่งนี้จะไหลลงสู่ลำตะคอง เหลือเพียงน้ำขังไม่มาก และใบไม้ที่ร่วงหล่นมาก็ทับถมเรื่อยๆ เมื่อเจอกับความชื้นของป่ารวมถึงกาลเวลาที่เวียนและวนในเส้นทางของมันจนปัจจุบันที่นี่ได้กลายสภาพเป็นป่าพรุ สิ่งที่สังเกตได้ว่าบริเวณนี้เป็นป่าพรุคือสีของน้ำจะเป็นสีเขียวหรือน้ำตาลเนื่องจากการทับถมของซากใบไม้ นอกจากนี้ค่าพีเอชจะค่อนไปทางกรดเนื่องจากกระบวนการหมักของซากใบไม้ แต่เป็นเพียงกรดอ่อนๆที่สิ่งมีชีวิตสามารถบริโภคหรืออยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ยังจะพบไม้ที่ทนต่อ น้ำขังได้อย่างต้นกระตุก เตยหนาม หวาย และเฟิร์น เราเดินกันมาจนเกือบสุดทางก็เจอกับครอบครัวลิง ที่เขาใหญ่นี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างหนึ่งคือคนมักให้อาหารแก่ลิงด้วยความเคยชินอย่างการไปสวนสัตว์จนหลงลืมไปว่าที่นี่คือ ป่า หากเราหยิบยื่นอาหารให้เจ้าจ๋อ มันจะเกิดความเคยชินและคอยรับแต่อาหารจากมนุษย์จนสุดท้ายหาอาหารกินเองไม่เป็น อาจทำให้ลิงมีพฤติกรรมขโมยอาหาร หรือแม้กระทั่งแกล้งทำตัวน่าสงสารเพื่อให้นักท่องเที่ยวหยิบยื่นขนมให้มัน นอกจากปัญหานี้ และอีกปัญหาที่ไม่เพียงเฉพาะป่าเขาใหญ่เท่านั้นแต่ฉันเชื่อว่าเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่คือการทิ้งขยะไม่เป็นที่ หากเกิดในเมืองยังพอเก็บกวาดทำความสะอาดได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นที่เขาใหญ่แล้วจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับสัตว์ป่าเพราะสัตว์ทั้งหลายไม่เฉพาะลิงพอได้กลิ่นอาหารหรือขนมที่ติดอยู่กับถุงพลาสติกก็คิดว่าเป็นอาหาร จึงกินถุงพลาสติกนั้นเข้าไป สุดท้ายแล้วพลาสติกซึ่งร่างกายสัตว์ไม่สามารถย่อยได้ก็จะอุดตันทางเดินอาหารและทำให้สัตว์นั้นตายในที่สุด ฉันได้แต่หวังว่าปัญหานี้จะหมดไปในไม่ช้า ฟังดูเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นแต่ที่จริงแล้วหากทุกคนเริ่มทำก็คงไม่ยากเกินที่จะแก้ปัญหานี้ เมื่อสิ้นสุดการท่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้วแล้ว ชาวคณะเราก็มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันที่แลนด์มาร์คสำคัญ ป้ายอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากนั้นจึงโบกมืออำลาผืนพนัสแห่งนี้ เข้าป่าอย่าถามหาเสือ เมื่อเพื่อนของเราถามหาช้างตั้งแต่รถตู้เข้ามาถึงเขาใหญ่ตั้งแต่เช้าออกมาได้พักใหญ่ๆ เราจึงได้รับการอำลาจากช้างป่าที่ออกเดินมาพอดี การเห็นช้างป่านี้เป็นการย้ำเตือนให้เราคิดว่าเราเป็นเพียงผู้ผ่านทางมาใช้ประโยชน์จากป่าเท่านั้น อย่างไรเสียบริเวณแห่งนี้ก็ยังเป็นบ้านของสัตว์ป่าอยู่ดี เจ้าช้างป่าตัวนี้ไม่ยอมเดินเข้าไปในป่าแต่กลับเดินมาเหมือนอยากมาส่งแขกอย่างไรอย่างนั้น มันเดินด้อมๆ มองๆ รถคันหน้าของเราทำให้ขบวนรถตู้ต้องหยุดจอดวัดใจเจ้าช้างก่อน เมื่อเดินผ่านรถคันข้างหน้าเราไปมันก็เจอกับกระบะที่บรรทุกผลไม้ไว้ที่แคปหลัง ซึ่งแน่นอนว่ามันแอบนิสัยเสียกินผลไม้อย่างหน้าตาเฉย แต่ยังน่ารักที่กินแล้วมันทำท่าเหมือนขอบคุณเจ้าของผลไม้นั้น จากนั้นมันก็เดินอวดโฉมผ่านรถตู้ของเราตั้งแต่คันแรกไปจนคันสุดท้ายเหมือนจะอวยพรว่าเดินทางปลอดภัยนะจ๊ะ พูดถึงช้างแล้วฉันจึงนึกถึงบทความหนึ่งที่บอกเล่าคุณความดีของช้างที่มีต่อป่า ช้างเปรียบเสมือนนักบุกเบิกทางแห่งพงไพร ไล่มาตั้งแต่เรื่องของเส้นทางเพราะเมื่อช้างเดินไปหาอาหารก็จะเหยียบต้นไม้หรือพงหญ้า ช่วยกรุยทางให้สัตว์ตัวอื่นได้เดินตาม เรียกว่าด่านช้างนั่นเอง เรื่องของอาหาร ช้างถือว่าเป็นอีกนักบุญของป่าก็ว่าได้เพราะเวลาที่ช้างกินอาหารจะไม่ได้กินทั้งหมดที่มันหาได้ เวลาที่มันใช้งวงดึงลูกไม้จากต้นไม้สูงๆ บางส่วนจะร่วงหล่นกลายเป็นอาหารให้เก้งกวางต่อไป ไม่เพียงลูกไม้แต่โป่งดินก็ได้ช้างช่วยบุกเบิกโดยการใช้งาและเท้างัดดินแข็งๆเหล่านั้นจนสัตว์อื่นสามารถมากินต่อได้ และเมื่อช้างกินลูกไม้เข้าไปและขับถ่ายก็จะช่วยกระจายพันธุ์ไม้เหล่านั้นให้เกิดขึ้นอีกครา งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา วันนี้เราได้รับการต้อนรับจากเลียงผาตัวโตและกล่าวลาโดยนักบุกเบิกแห่งผืนป่าอย่างช้าง ประสบการณ์ศึกษาเส้นทางธรรมชาตินี้แม้ผ่านไปนานเท่าไหร่ฉันคงไม่ลืมเลือนและเป็นอีกแรงบันดาลใจให้อยากกลับไปอีกครั้ง...กลับไปวนาลีที่ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ ให้ความสุข วนาลีผืนนี้ชื่อเขาใหญ่