อื่นๆ

เพื่อนสี่ขาบนดอยสูง

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
เพื่อนสี่ขาบนดอยสูง

สัตว์ชนิดหนึ่งที่ภายนอกจะว่าเป็นแพะก็ไม่ใช่หรือว่าเป็นแกะก็ไม่เชิง อาศัยอยู่ภูเขาสูงชัน ขนสั้น ๆ ดูหยาบหนา ถูกเรียกขานกันทั่วไปว่า “กวางผา”

กวางผา (Naemorhedus griseus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์ Bovidae จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์กีบที่ใกล้ชิดกับโค กระบือ แพะ และแกะ และเป็นสัตว์ป่าที่หายากอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้กวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย เนื่องจากพบการกระจายเพียง 4 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของกวางผาต้องเป็นภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 เมตร ขึ้นไป

กวางผา1ด้วยรูปร่างสันทัด ร่างกายที่สมส่วน ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการกระโดดและปีนป่าย หากเพียงมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเลียงผา แต่แท้ที่จริงแล้วกลับมีขนาดที่เล็กกว่ามาก ความยาวของหัวและลำตัวประมาณ 82 - 120 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นจนถึงไหล่ประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 22 - 32 กิโลกรัม

Advertisement

Advertisement

กวางผา3กวางผา4สีตามลำตัวเป็นสีเทาอมเหลืองหรือเทาน้ำตาลจนถึงน้ำตาลดำ เขาสั้นสีดำชี้ไปทางด้านหลังทั้งเพศผู้และเพศเมีย ใต้ท้องมีสีอ่อนกว่าหลัง มีขนที่หนาและนุ่มซึ่งธรรมชาติออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้พวกมันเก็บความอบอุ่นท่ามกลางไอหนาวบนยอดเขาสูง ตามแนวสันหลังมีขนสีเข้มยาวตลอดลงไปจนถึงปลายหาง

ครอบครัวในธรรมชาติมักพบกวางผาอยู่ตามลำพังไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่บางครั้งอาจจะพบอยู่เป็นกลุ่มจำนวน 2 – 3 ตัว อาจพบฝูงขนาดใหญ่ 8 - 10 ตัวซึ่งเป็นแม่และลูก เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 2 - 3 ปี จับคู่ผสมพันธุ์ปีละครั้ง ในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม ระยะเวลาการตั้งท้อง 6 -  8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว

อาหารอาหารของกวางผาได้แก่ หญ้า รากไม้ หน่อไม้ ใบไม้ ไลเคนส์ เมล็ดพืชและผลไม้ จนถึงพรรณไม้เฉพาะถิ่นบางชนิดแล้วถ่ายมูลไปทั่ว มันจึงเป็นหนึ่งในผู้ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้ไปงอกงามไกลต้นแม่ตามหน้าผาสูงชันโดยไม่ตั้งใจ กวางผาเริ่มหากินตั้งแต่เช้าตรู่จนกระทั่งสาย ๆ ประมาณ 10.00 - 11.00 น. เมื่อกินอิ่มมักจะนอนเคี้ยวเอื้องและพักผ่อนบนลานหิน ดงไม้ พุ่มไม้ หรือตามหน้าผา จากนั้นจึงจะเริ่มกิจกรรมหากินต่อเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ไปเรื่อยๆ จนสิ้นแสงของตะวัน ยามค่ำคืนจะอาศัยซอก หลืบหิน หรือโพรงถ้ำเป็นที่หลับนอนเพื่อรอเริ่มกิจกรรมของเช้าวันใหม่ต่อไป แม้ว่าสายตาจะไม่ดีมากนักแต่ก็มีประสาทสัมผัสที่ไวต่อกลิ่นและเสียงมาก เมื่อมีสิ่งใดผิดสังเกตมันจะย่ำกีบกับพื้นแล้วส่งเสียงร้องเตือนภัยก่อนที่จะวิ่งลับหายไป ด้วยอุปนิสัยที่ชอบดำรงชีวิตอยู่บนหน้าผาที่สูงชันและลักษณะท่วงท่าการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วว่องไวและปราดเปรียว กระโจนไปมาพลิ้วไหวบนหน้าผาสูงชันอย่างรวดเร็วราวกับหายตัวได้ และสีของลำตัวที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม พบเห็นยาก ทำให้พวกมันได้รับสมญานามว่าเป็น “ม้าเทวดา” แห่งดอยสูง

Advertisement

Advertisement

แต่ไม่ว่าจะเป็น “ม้าเทวดา หรือ ม้าธรรมดา”  ท้ายที่สุดแล้วก็ยังมิวายถูกเข่นฆ่าให้อาสัญด้วยฝีมือของ “มนุษย์ธรรมดา” โดยปัจจัยที่มีผลต่อการลดจำนวนลงของกวางผาในประเทศไทยนั้น เมื่อรวบรวมแล้วก็พอจะสรุปเป็นข้อย่อยได้ 4 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 การถูกตัดขาดของพื้นที่  (Habitat fragmentation)

ในปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงอย่างมาก ทำให้พื้นที่ป่าไม้บางส่วนมีสภาพกระจัดกระจายเป็นหย่อมเกาะหรือมีสภาพจำกัดมากขึ้น เพราะพื้นที่กสิกรรม ถนนและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้แบ่งพื้นที่ป่าออกจากกัน ส่งผลให้เกิดการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (Inbreeding) เนื่องจากประชากรไม่สามารถข้ามไปข้ามมาหากันระหว่างผืนป่าได้

ประการที่ 2ปัจจัยเฉพาะ (Specific requiment)

ม่อนเลี่ยมยอดดอยกวางผาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใช้พื้นที่ค่อนข้างจำเพาะและมีความสามารถไม่มากนักในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับจำนวนประชากรของกวางผาที่มีค่อนข้างน้อยจึงส่งผลให้กวางผาตกอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์

Advertisement

Advertisement

ประการที่ 3 การล่าจากมนุษย์

แม้ว่ากวางผาจะเป็นสัตว์ป่าสงวน แต่การล่าก็ยังมีอยู่จากคนในพื้นที่และรอบพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ กวางผาเป็นสัตว์ที่มีที่อาศัยเฉพาะและจำกัด การล่าจึงเป็นการมุ่งเน้นในพื้นที่ที่สามารถพบเจอตัวได้ง่าย ส่วนอาวุธในการล่าจะเป็นปืนลูกซองและปืนแก๊ป

ประการที่ 4  กิจกรรมการท่องเที่ยวในถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่า

เชียงดาวกิ่วแม่ปานในกรณีนี้  ขอยกตัวอย่างถึงดอยหลวงเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในช่วงที่มีการท่องเที่ยว (ศึกษาธรรมชาติ) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม จะส่งผลกระทบในเรื่องพื้นที่หากินลดลง ปริมาณอาหารที่ได้รับในรอบวัน และแหล่งหลบซ่อนตัว ทั้งยังเป็นฤดูการจับคู่ผสมพันธุ์ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ลดโอกาสการจับคู่ผสมพันธุ์

จากปัจจัยทั้งสี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า "มนุษย์" เป็นผู้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลดจำนวนของประชากรกวางผา  ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อันเป็นผลการนำไปสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้าวิจัย เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ แผนฟื้นฟูประชากร เพื่อให้กวางผา (รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์) กลับคืนสู่ป่าธรรมชาติของไทย และปัจจุบัน ก็ได้มีการทดลองดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กวางผาแล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อย่างเป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว ภายใต้โครงการเพาะพันธุ์กวางผาและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความร่วมมือระหว่างสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ จังหวัดเชียงใหม่ เราเองต่างก็หวังว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี อันจะนำมาซึ่งการต่อยอดให้มีการดำเนินการครอบคลุมทั่วถิ่นอาศัยเดิมทั้งหมดของกวางผา และสามารถฟื้นฟูจำนวนประชากรของกวางผาในธรรมชาติให้กลับคืนสู่สมดุลดังเดิม

ก่อนปล่อยในการรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยและประชากรกวางผา นอกจากจะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนแล้ว ประชาชนเองก็มีส่วนไม่น้อยที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งชนิดพันธุ์ของม้าเทวดานี้ ง่ายๆ เพียงการไม่ล่า ไม่ซื้อ ไม่ส่งเสริมการใดก็ตามที่จะเป็นผลเสียต่อกวางผา รวมทั้งช่วยกันปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน ให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรของชาติ เพราะกวางผาเองก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับทรัพยากรด้านอื่น ๆ ที่จะต้องเร่งสร้างทางรอดทางออก ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อป่าไม้และสัตว์ป่าเมืองไทย รวมถึงคนไทยทุกคน

เครดิตภาพประกอบทั้งหมดโดย ผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์