อื่นๆ
คำง่าย ๆ ทำไมเขียนผิด
คำง่าย ๆ ทำไมเขียนผิด
สืบเนื่องมาจากตัวเองเลยค่ะ ทุกครั้งที่พออ่านเจอคำเหล่านี้ทีไร มันจะต้องสะดุดกึก! อยู่ร่ำไป และหากเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้ใคร โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ใช้ภาษาเขียนผิด ๆ ไปกับ 3 คำนี้ “นะคะ-ค่ะ-คะ” เนื่องจากความรู้สึกในฐานะคนอ่าน พออ่านไปเจอไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันรู้สึกตะขิดตะขวงใจยังไงพิกล
สังเกตว่าหาก 3 คำนี้เป็นภาษาพูด ผู้พูดจะออกเสียงได้ไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย แต่พอถูกเขียนลงเป็นตัวอักษรปั๊บ! หรือกลายมาเป็นภาษาเขียนปุ๊บ! เท่านั้นแหละ หลายคนก็จะเผลอไปเติม “ไม้เอก” ให้คำตรงที่มันไม่ต้องการอีกจนได้ ความจริงตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้เก่งกาจภาษาไทยแต่อย่างใดค่ะ เพียงอยากขออนุญาตใช้พื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้ แนะเทคนิคที่อาจจะพอเป็นประโยชน์ในการใช้คำง่าย ๆ เหล่านี้มาฝากเอาไว้ ในฐานะเพื่อนคนไทยด้วยกันเท่านั้นนะคะ โดยในที่นี้เราจะกล่าวถึงแค่เพียง 3 คำ ในภาษาพูด ที่มักเอามาใช้เป็นภาษาเขียนแล้วใช้ผิดบ่อย ๆ กันค่ะ
Advertisement
Advertisement
1. คำว่า นะคะอ่านว่า นะ-คะ(ค๊ะ) --(อ่านออกเสียงสูงลิ่วเลยค่ะ)
- ถ้าเขียน 2 พยางค์ติดกันแบบนี้ “นะคะ” จะอ่านออกเสียงสูงปรี๊ดเลย (ลองพูดดูก่อนนะคะ)
- ส่วนใหญ่จะเอาไว้ตบท้ายประโยคในเชิงคำถาม ที่อาจจะต้องการคำตอบหรือไม่ก็ได้ เพื่อสร้างความสุภาพสูงสุด หรือจะใช้ในประโยคการบอกเล่าเรื่องราว การคัดค้านปฏิเสธก็ได้ ตามแต่สะดวกใช้กันเลยค่ะ
- โปรดระลึกเอาไว้ว่า ไม่ว่าจะบนโลกมนุษย์นี้หรือในโลกอวตารหน้า คำว่า นะค่ะ จะไม่มีวันเป็นคำเขียนที่ถูกต้องในทั้ง 3 ภพ 3 ชาติแห่งห้วงจักรวาลนี้อย่างแน่นอนค่ะ
ตัวอย่างการใช้ "นะคะ" เช่น
- วันนี้เราไปหาหมอกันเถอะนะคะ?
- ขอให้ทุกคนมีความสุขมาก ๆ นะคะ
- อ๋อ ไม่ใช่แบบนั้นหรอกนะคะ มันยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกค่ะ
- มันไม่จำเป็นหรอกนะคะ..ไม่ต้องลำบากขนาดนั้นก็ได้ค่ะ
ข้อควรจำ :
- ถ้าเขียน “นะ” ที่มาพร้อมกับคำว่า “คะ” แบบคำเขียนติดกัน การเขียนที่ถูกต้อง คือ “นะคะ”
และอ่านออกเสียงสูงเท่านั้นค่ะ (ลองออกเสียงดูนะคะ)
Advertisement
Advertisement
- โปรดจำไว้อีกครั้งว่า ไม่ว่าจะบนโลกมนุษย์ในภพนี้หรือในภพหน้า คำว่า นะค่ะ ที่เขียน “ค่ะ” ตามหลัง “นะ” แบบมีไม้เอกผิด ๆ กันนั้น จะไม่มีวันใช้อย่างถูกต้องในทั้ง 3 ภพ 3 ชาติแห่งห้วงจักรวาลนี้อย่างแท้ทรูค่ะ
- ถ้าเมื่อไหร่ที่เขียนคำว่า “นะคะ” กรุณาอย่าเติมไม้เอกลงไปที่ “คะ” เด็ดขาด ย้ำ! อย่าเติมไม้เอกลงไปที่ "คะ" เด็ดขาด! เพราะที่ถูกต้อง มันไม่ต้องการไม้เอก ดังนั้น อย่าพยายามไปยัดเยียดใส่ให้มันเชียวนะคะ
2. คำว่า “คะ”อ่านว่า คะ(ค๊ะ) -- (อ่านออกเสียงสูงปรี๊ด)
- “คะ” ที่เขียนแบบไม่มีไม้เอก คำนี้จะใช้ได้หลายกรณีค่ะ อาจเป็นลักษณะเชิงคำถามที่ต้องการคำตอบ หรือเป็นคำพูดที่ผู้พูดอาจยังไม่ค่อยแน่ใจอะไรบางอย่าง หรืออาจเป็นคำพูดที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเห็นด้วย
- ถ้าเมื่อไหร่ที่เขียน “คะ” คำเดียวเดี่ยว ๆ อย่าไปเติมไม้เอกให้มันเชียวนะคะ
Advertisement
Advertisement
- “คะ” โดยส่วนมากที่อ่านเจอทั่วไป คำนี้มักจะถูกใช้วางไว้หลังคำว่า “นะ” = นะคะ ซึ่งทั้ง “คะ” และ “นะคะ” ต่างก็ไม่ต้องการไม้เอกกันทั้งนั้น ดังนั้น จงอย่าพยายามเติมไม้เอกลงไปให้มันค่ะ เพราะที่ถูกต้อง มันไม่ได้ต้องการไม้เอก คำว่า "คะ" มันสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง อย่าเอาไม้เอกไปแปะไว้บนหัวมันอีกนะคะ โอเคไหมคะ
ตัวอย่างการใช้ "คะ" เช่น
- คะ? เมื่อกี้พูดอีกทีสิคะ
- ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมอีกไหมคะ?
- ก็ถ้าเราเลือกอันนี้ มันจะราคาถูกกว่านี่คะ
- นี่คุณจะไม่ไปด้วยกันจริง ๆ เหรอคะ?
- คุณคะ! พี่คะ! ป้าคะ! ลุงคะ! เพื่อน ๆ คะ! ทุกคนไม่เป็นไรใช่ไหมคะ?
- แล้วเรื่องนี้ คิดว่ามันจะลงเอยยังไงล่ะคะ?
- จบไหมคะ?
ข้อควรจำ :
- ถ้าเมื่อไหร่ใช้คำว่า “คะ”จะอ่านออกเสียงสูงทันที ส่วนใหญ่จะใช้กับประโยคในเชิงคำถาม หรือคำพูดที่ค่อนไปในทางที่ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก
- เมื่อเขียนคำว่า “คะ” คำเดียว อย่าได้หลงไปเติมไม้เอกให้มันเชียวค่ะ และหากกลัวว่าจะลืม แนะนำให้ใส่ เครื่องหมายอัศเจรีย์ ! (เครื่องหมายอุทาน) หรือ เครื่องหมายปรัศนี ? (เครื่องหมายคำถาม) ตรงหลังคำว่า "คะ" นี้ หรือจะแปะไว้ตรงท้ายประโยคไปเลยก็ได้ค่ะ ฝึกไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะคุ้นชิน ถ้ามีเครื่องหมายนี้เมื่อไหร่ นั่นมันจะได้ทำให้คุณไม่หลงเติมไม้เอกลงไป ตรงที่ที่ไม่ควรใส่ยังไงล่ะคะ
3. คำว่า ค่ะอ่านว่า ขะ -- (อ่านออกเสียงต่ำลงดินไปเลยจ้า)
- ถ้าเขียนคำว่า “ค่ะ” มาคำเดียวเดี่ยว ๆ ในการไปรับปากรับคำใคร หรือ ตอบรับใครในเชิงเห็นด้วย อันนี้ต้องรีบเติมไม้เอกในทันทีที่มันฉายเดี่ยวเลย ค่ะ เพราะในสถานะนี้ มันจะต้องการไม้เอกอย่างแรงค่ะ และโปรดอ่าน "ค่ะ"ลงเสียงต่ำเท่านั้นนะคะ (ลองออกเสียงดูก่อนพิมพ์ส่งค่ะ)
- “ค่ะ” ที่ใช้เป็นคำเพียงหนึ่งพยางค์ในการใช้ตอบรับ รับคำ เห็นด้วย หรือเข้าใจในคำพูดนั้น คำนี้มันจะต้องการไม้เอกอย่างมากมายใน 3 จักรวาลจงวางลงไปอย่างสว่างามบนหัวมันได้เลยค่ะ คำนี้มันแสนจะเต็มใจอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ
- “ค่ะ” คำนี้เหมาะเอาไว้ใช้ในการรับปากใครต่อใครในแนวทางที่สุภาพ หรือจะใช้ในกรณีที่เราต้องการปฏิเสธใคร นั่นก็ได้เช่นกันค่ะ
ตัวอย่างการใช้ "ค่ะ" เช่น
- ค่ะ
- ได้ค่ะ
- ถูกต้องเลยค่ะ
- ตามนั้นเลยค่ะ
- อ๋อ ไม่ใช่แบบนั้นหรอกค่ะ
- เชิญรับยาที่ช่อง 5 ได้เลยค่ะ ด่วนเลยนะคะ ยาใกล้หมดแล้วค่ะ!
ข้อควรจำ :
- ถ้าเขียนคำว่า “ค่ะ” มาเดี่ยว ๆ เพียงพยางค์เดียวแบบนี้ จะต้องรีบใส่ไม้เอกเติมให้มันด้วยในทันทีค่ะ!
- ถ้าเมื่อไหร่ใช้คำว่า “ค่ะ”แบบมีไม้เอก จะอ่านออกเสียงต่ำ ย้ำ! ออกเสียงต่ำเท่านั้นค่ะ ดังนั้น แนะนำว่าเมื่อใดที่เขียนเสร็จแล้ว ให้ลองอ่านออก เสียงต่ำตามที่คุณเขียนไปเสียก่อน แล้วฟังดูว่ามันขัดหูเราไหม จากนั้นค่อยส่งข้อความนั้นออกไป จงตระหนักเอาไว้ว่า “ค่ะ” อ่านออกเสียงต่ำเท่านั้นนะคะ
ลองฝึกกันดูนะคะ เราเป็นคนไทย ใช้ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ด้วยภาษาไทยเป็นหลัก ฉะนั้น เมื่อรู้ตัวว่าใช้คำผิดตรงไหน ก็ต้องหาทางค่อย ๆ ปรับแก้ไขกันไปนะคะ เรื่องอื่นยากกว่านี้เรายังแก้ไขมาได้ เรื่องนี้กล้วย ๆ สบาย ๆ ค่ะ จัดไปฝึกไว้ให้ชิน อย่าให้เสียชื่อว่าเป็นลูกหลานพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนะคะ ด้วยรักและปรารถนาดีอย่างที่สุดค่ะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านจนจบด้วยคะ หากคุณอ่านแล้วเห็นด้วยว่ามันมีประโยชน์ต่อไปกับใครได้บ้าง กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ นี่คือเจตนารมณ์จากใจผู้เขียนค่ะ
ภาพหน้าปกจาก https://pixabay.com/
ภาพประกอบ 2-4 จาก https://pixabay.com/
===============================================================
“รักดี”
ความคิดเห็น