อื่นๆ
จริงหรือ...ที่ “ความรัก” มีวันหมดอายุ

เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวในทำนองที่ว่า “ทุกสิ่งในโลก ล้วนย่อมไม่จีรัง”
แล้ว “ความรัก” ล่ะ เป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่
ในชีวิตประจำวันของเราก็มีตัวอย่างให้เห็น หลายๆ คู่รักต้องเลิกร้างกันไป พวกเขาหมดรักกันแล้วหรือ แสดงว่า ความรักมีวันหมดอายุจริง?
หากอย่าเพิ่งใจเสีย สรุปเช่นนั้น เพราะอีกหลายๆ คู่รักก็อยู่กันยืนยาวจนแก่จนเฒ่า จนตายจากกันไปข้างหนึ่ง ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ไม่น้อย
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และขึ้นอยู่กับคู่รักแต่ละคู่มากกว่า ถึงจะถูกต้อง
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เราพอจะเข้าใจตัวอย่างทั้งสองกรณีข้างต้นก็คือ...
“ความรัก...เป็นสิ่งที่วูบวาบ คงอยู่ได้ไม่นาน และกลายเป็นความผูกพันเข้ามาแทนที่”
หลายๆ คู่ที่อยู่กันยืนยาวได้ ก็เพราะความผูกพัน มิใช่ความรักแบบเปรี้ยงปร้างเมื่อยามแรกพบ หรือความรักอันร้อนแรงตอนช่วงวัยหนุ่มสาวแต่อย่างใด
กาลเวลาจะช่วยแปรสภาพความรัก...ให้กลายเป็นความผูกพันอย่างช้าๆ
Advertisement
Advertisement
อันที่จริงแล้ว ทั้ง “ความรัก” และ “ความผูกพัน” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ในเชิงจิตวิทยาต่างก็ถือเป็นความรักทั้งสิ้น อันที่ถูกต้อง ควรจะเรียกว่า “ความรักแบบเสน่หา” (Passion) และ “ความรักแบบผูกพัน” (Commitment)
ความรักแบบเสน่หา คือการตกหลุมรัก เป็นความรู้สึกประเภทเดียวกับความหลงใหลคลั่งไคล้ ใฝ่หาอยู่ตลอดเวลา ความรักแบบเสน่หาเป็นความรู้สึกที่มีอานุภาพรุนแรงกว่าความรักแบบผูกพันมากมายหลายเท่า แต่ออกฤทธิ์ได้เพียงระยะสั้น และจะค่อยๆ อ่อนแรงลงตามกาลเวลาที่ผ่านไป ไม่จีรังยั่งยืน โดยจะใช้เวลาลุกโชนมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางครั้งอาจวูบวาบ เหมือนไฟไหม้ฟางซึ่งร้อนแรงโดยฉับพลันและหมดลงอย่างรวดเร็วเพียงข้ามคืน ต่างจากความรักแบบผูกพัน ซึ่งแม้จะมีฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่า แต่มีระยะเวลาในการคงอยู่นานมาก โดยอาจจะยืนยาวไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้
Advertisement
Advertisement
เมื่อฝ่ายชายตกหลุมรักหญิงสาว ความรักแบบเสน่หาจะพุ่งร้อนแรงขึ้นสูงมาก แต่หลังจากได้รู้จักคุ้นเคยฝ่ายหญิงมากขึ้น ความรักแบบเสน่หาจะลดลงตามลำดับ และจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่ความรักแบบผูกพันแทนที่ โดยความรักแบบเสน่หาจะสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายหญิงปราศจากสิ่งที่ฝ่ายชายต้องการค้นหาแล้ว ในระหว่างการค่อยๆ เปลี่ยนถ่ายเพื่อพัฒนาไปสู่ความรักแบบผูกพันนี้ หากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นขัดจังหวะเสียก่อน (ซึ่งเพศสัมพันธ์ควรเกิดขึ้นในบั้นปลายของการเปลี่ยนถ่ายที่สมบูรณ์แล้ว) การพัฒนาจะหยุดชะงักลงทันใด เพราะฝ่ายชายสมหวังในสิ่งที่เขาปรารถนาโดยสัญชาตญาณเพศผู้แล้ว ราวกับถึงจุดสำเร็จหรือได้ชัยชนะแล้วนั่นเอง จึงแปรสภาพไปเป็นความรู้สึกอื่นๆ แทน เช่น ความใคร่ ความสนุก ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความคิดว่าตนเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่า เป็นต้น ความรักที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ต้น ก็จะจบสิ้นลงได้โดยง่าย ยากที่จะยืนยาวไปตลอดรอดฝั่ง ฝ่ายชายอาจหันไปค้นหาความท้าทายกับหญิงคนใหม่ได้ทุกเมื่อ หากหญิงคนปัจจุบันทำให้เขาเกิดความไม่พอใจหรือทะเลาะกัน และอาจจบด้วยการเลิกรากันไปในที่สุด
Advertisement
Advertisement
ส่วน “ความรักแบบผูกพัน” เป็นรูปแบบของความรักที่มีแรงยึดเหนี่ยวสูง มีลักษณะคงทนต่อสิ่งเร้าภายนอกและบุคคลที่สามที่เข้ามารบกวนได้ดี สามารถออกฤทธิ์ยาวนานตลอดชีวิตได้อย่างไร้ปัญหา ยิ่งใช้เวลาและผ่านความยากลำบากมาด้วยกันเท่าใด ความรักแบบผูกพันก็จะก่อตัวแน่นหนามากขึ้นเท่านั้น หากที่สำคัญ คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของความรักแบบผูกพัน ที่ความรักแบบเสน่หาไม่มีก็คือ...
“ความรักแบบผูกพัน สามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้เองอีกครั้ง”
ราวกับนกฟินิกซ์ที่เป็นอมตะ ตายแล้วเกิดใหม่ ดังนั้นเมื่อเห็นบางคู่รักเลิกร้างกันไป อาจหวนกลับมาคืนดีกันได้ในสักวันหนึ่ง เพราะลืมความผูกพันที่เคยอยู่ร่วมกันมาไม่ลง เช่น เหลือบไปเห็นเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ของอีกฝ่ายหนึ่งแขวนอยู่ หรือเปิดเจอรูปภาพเก่าๆ หรือไปเจอเหตุการณ์บางอย่างที่สะกิดใจให้คิดถึงกันอีกครั้ง เป็นต้น จึงเกิดความถวิลหากันขึ้นมาอีกครั้ง และกลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมในที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก
บางคู่ก็ออกแนวรักๆ เลิกๆ เข้าทำนอง “อยู่ใกล้เหมือนชัง อยู่ห่างคิดถึง” ประเดี๋ยวจดทะเบียนสมรส ประเดี๋ยวจดทะเบียนหย่ากันเป็นว่าเล่น จนนายทะเบียนปวดหัว (แต่ถ้าเป็นกรณีจดทะเบียนสมรส เขาน่าจะยินดีที่เห็นคนเรากลับมารักกัน)
ต่างจากรักแบบเสน่หา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อแรกรักกันใหม่ๆ เท่านั้น นอกเสียจากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายหญิง) เปลี่ยนรูปโฉมหรือภาพลักษณ์ของตัวเองเสียใหม่ราวกับเป็นคนละคน ความรักแบบเสน่หาจึงจะอุบัติขึ้นอีกครั้ง
แม้กาลเวลา..จะพลัดพรากความรัก (แบบเสน่หา) จากอ้อมอกของเราไป แต่กาลเวลา..ก็ได้สร้างสิ่งใหม่งอกงามขึ้นมาแทนที่ นั่นคือ "ความผูกพัน" ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรัก และก็งดงามไม่แพ้กัน ทั้งยังมีอายุที่ยืนยาวกว่าอีกด้วย เพียงแต่ว่าระหว่างคู่ครองที่รักกันนั้น จะสามารถรังสรรค์ให้มันเจริญงอกงามได้เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับคนสองคนที่รักกันเป็นสำคัญนั่นเอง
หมายเหตุ 1
ถ้าจะกล่าวว่า “ความผูกพัน ไม่ใช่ความรัก” ดูเหมือนจะเป็นคำนิยามที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากคำนิยามอันเปรียบเสมือนเส้นบางๆ ที่ขีดคั่นระหว่าง “ความรัก” และ “ความผูกพัน” ออกจากกันนี้ คงไม่ได้รับการยอมรับจากคู่รักที่อยู่กันจนแก่จนเฒ่า (ซึ่งอยู่กันมานานเพราะความผูกพัน) และยังเป็นการไม่ให้เกียรติแก่คู่รักเหล่านั้นด้วย เพราะคำว่ารักนั้นยิ่งใหญ่ตามความรู้สึก
ถ้าถามว่าตากับยายยังรักกันไหม คำตอบที่ได้จากปากพวกเขาคือ “รัก” แน่นอน ดังนั้นในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ “ความผูกพัน” คือรูปแบบหนึ่ง...ของความรักอย่างไม่ต้องสงสัย
หมายเหตุ 2
“ทุกสิ่งในโลก ล้วนย่อมไม่จีรัง” เป็นคำกล่าวที่ดี เพื่อให้คนเรารู้จักปล่อยวาง และหาทางออกให้กับจิตใจที่ว้าวุ่นได้สงบลง ไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ...ทุกอย่างเกิดขึ้น...แล้วดับไป เป็นเรื่องธรรมดา
แต่มิควรกังวลกับคำกล่าวนี้มากจนเกินไป ถึงขั้นตัดใจออกบวชทุกคน เพราะคนเรามีวิถีชีวิตและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกัน เพียงแต่นำธรรมะเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราให้เกิดประโยชน์ก็เป็นพอ
ภาพประกอบ : วาดโดยผู้เขียน
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น
