ไลฟ์แฮ็ก
ฉีดปลวกด้วยตัวเอง ประหยัดกว่าจ้างบริษัทฉีดปลวกถึง 5 เท่า!!

ฉีดปลวกด้วยตัวเองทำอย่างไร เตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ลองติดตามอ่านกันได้ครับ
ปัญหาปลวกขึ้นบ้านถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่บ้านผู้เขียนมาเป็นเวลานาน บางครั้งกว่าเราจะรู้ว่าปลวกขึ้นบ้านก็ตอนที่เห็นตู้ไม้อัดถูกแทะหลังตู้จนเป็นช่องโหว่แล้ว หรือก็ตอนที่เห็นรอยทางเดินปลวกขึ้นบนผนังบ้านแล้ว
จากการที่บ้านผู้เขียนเคยจ้างบริษัทกำจัดปลวกมาฉีดพ่นยาบ้านทั้งหมดสามหลัง หลังใหญ่ 1 หลัง หลังเล็ก 2 หลัง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดปีละ 32,000 บาท โดยในปีหนึ่งพนักงานจะมาตรวจเช็คความเรียบร้อย 3 เดือน/ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 4 ครั้ง
บางครั้งหากไม่เห็นทางเดินปลวกขึ้นมาในบริเวณบ้าน พนักงานก็เพียงมาตรวจดูความเรียบร้อยเท่านั้น แต่อาจไม่ได้ฉีดพ่นยาอะไรมากมาย หรือบางครั้งก็เพียงมาฉีดพ่นยานิด ๆ หน่อย ๆ ตามขอบ ตามซอกมุมในบริเวณบ้าน
Advertisement
Advertisement
หลังจากที่จ้างบริษัทมาฉีดปลวกมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน รู้สึกว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน เลยเริ่มคิดว่าถ้าเราฉีดปลวกด้วยตัวเอง จะใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ จะถูกหรือแพงกว่าจ้างบริษัทมาฉีดมากน้อยแค่ไหน
เลยตัดสินใจหาซื้ออุปกรณ์ฉีดน้ำยากำจัดปลวกด้วยตัวเอง อุปกรณ์บางอย่างก็สั่งซื้อใน Shopee บางอย่างก็หาซื้อตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายสินค้าราคาถูกทั่วไป ส่วนบางอย่างก็มีอยู่แล้วที่บ้าน เลยไม่ต้องซื้อเพิ่ม โดยอุปกรณ์และขั้นตอนในการฉีดปลวกมีดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดปลวก
- เครื่องพ่นยาสะพายหลัง ขนาด 25 ลิตร (1,900 บาท)
- ปั๊มแช่ไดโว่ ขนาด (831 บาท)
- ขวดสเปรย์พ่นยา ขนาด 2 ลิตร (95 บาท)
- น้ำยากำจัดปลวก (1,200 บาท)
- ถังน้ำขนาด 100 ลิตร (130 บาท)
- สายยาง (179 บาท)
- ข้อต่อลดเหลี่ยม (5 บาท)
- เข็มขัดรัดสายยาง (45 บาท)
- แว่นตา (มีอยู่แล้ว)
- หน้ากากผ้า (มีอยู่แล้ว)
- ถุงมือ (มีอยู่แล้ว)
- รองเท้าบูท (89 บาท)
Advertisement
Advertisement
รวมค่าใช้จ่าย = 4,474 บาท
รอบแรกที่ฉีดน้ำยากำจัดปลวกนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนอุปกรณ์หลัก ๆ อย่างเครื่องพ่นยา ปั๊มแช่ ขวดสเปรย์พ่นยา ถังน้ำ และสายยาง แต่พอฉีดพ่นน้ำยารอบต่อ ๆ ไป หลัก ๆ แล้วก็จะมีเพียงแค่ค่าน้ำยากำจัดปลวกเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ก็สามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ ตามสภาพการใช้งาน
ขั้นตอนการฉีดน้ำยากำจัดปลวกบริเวณภายนอกบ้าน
อุปกรณ์ที่จำเป็นในขั้นตอนนี้คือ เครื่องพ่นยาสะพายหลัง ถังน้ำ และน้ำยากำจัดปลวก
- ผสมน้ำยาฉีดปลวก อัตราส่วน 1:100 ยกตัวอย่างเช่น น้ำยา 1 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตร ค่อย ๆ คนน้ำยาให้เข้ากันกับน้ำเปล่า ระวังน้ำยากระเด็น
- จากนั้นเทน้ำยาที่ผสมกับน้ำเปล่าแล้ว ลงในเครื่องพ่นยาสะพายหลัง
- สตาร์ทเครื่องพ่นยา แล้วเริ่มฉีดยาบริเวณภายนอกบ้าน ฉีดพ่นยาลงตามซอกมุมต่าง ๆ ให้ชุ่ม โดยเฉพาะตามบริเวณที่ปลวกน่าจะขึ้น
- เดินฉีดน้ำยารอบบ้านหนึ่งรอบ แล้วฉีดบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นบ้านภายนอกกับพื้นดินอีกหนึ่งรอบ
- นอกจากบริเวณตัวอาคารแล้ว อาจจะฉีดเพิ่มเติมบริเวณรั้วบ้านหรือตามโคนต้นไม้ที่คิดว่าปลวกน่าจะขึ้นด้วยก็ได้
Advertisement
Advertisement
หมายเหตุ: ควรศึกษาวิธีใช้เครื่องพ่นยาอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน สังเกตทิศทางลมก่อนฉีดเพื่อป้องกันละอองน้ำยาปลิวเข้าตัวขณะกำลังฉีดพ่นยา หากรู้สึกว่าเครื่องพ่นยาหนักเกินไปก็ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำยาเต็มถัง 25 ลิตร ในคราวเดียวก็ได้ แต่อาจจะใส่น้ำยาประมาณครึ่งถัง จะได้ไม่ต้องสะพายเครื่องหนักจนเกินไป
ขั้นตอนการฉีดน้ำยากำจัดปลวกบริเวณภายในบ้าน
หลังจากฉีดน้ำยาบริเวณภายนอกบ้านแล้วก็มาฉีดน้ำยาภายในบริเวณบ้านกันต่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด เพราะว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นมีเพียงขวดสเปรย์พ่นยาและน้ำยากำจัดปลวกเท่านั้น ซึ่งใช้งานง่าย สะดวก เบาแรงมาก โดยใช้ปริมาณน้ำยาที่ผสมกับน้ำเปล่าแล้วประมาณ 2-3 ลิตร ขึ้นอยู่กับขนาดบ้าน
- ก่อนฉีดน้ำยากำจัดปลวก ควรย้ายสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้านออกจากบริเวณที่เรากำลังจะฉีดน้ำยา เพราะจะได้ฉีดน้ำยาได้อย่างทั่วถึงทุกซอกทุกมุม
- เตรียมน้ำยาในขวดสเปรย์พ่นยาให้พร้อมใช้งาน
- ฉีดพ่นยาให้ทั่วทุกซอกทุกมุมในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่คิดว่าปลวกน่าจะขึ้นอย่างเช่นหลังตู้เสื้อผ้าที่ทำจากไม้ วงกบประตูหน้าต่าง คิ้วไม้
หมายเหตุ: หากใช้น้ำยาที่มีกลิ่นฉุน อาจใช้เวลาสองสามชั่วโมงเป็นอย่างน้อยกว่ากลิ่นน้ำยาที่ฉีดไว้จะอ่อนลง
ขั้นตอนการฉีดน้ำยากำจัดปลวกลงท่อใต้บ้าน
อุปกรณ์ที่จำเป็นในขั้นตอนนี้คือ ปั๊มแช่ไดโว่ ถังน้ำ สายยาง ข้อต่อลด เข็มขัดรัดสายยาง และน้ำยากำจัดปลวก
- ผสมน้ำยาฉีดปลวก อัตราส่วน 1:100 ในถังน้ำขนาด 100 ลิตร ค่อย ๆ คนน้ำยากับน้ำให้เข้ากัน พอฉีดน้ำยาจนหมดแล้วก็กลับมาผสมน้ำยาในอัตราส่วนเดิม
- จุ่มปั๊มแช่ไดโว่ลงไปในถังน้ำ
- ต่อปลายสายยางอีกข้างหนึ่งเข้ากับท่อฉีดปลวกเข้าไปใต้บ้าน หากสายยางมีขนาดไม่พอดีกับท่อฉีดปลวก อาจะใช้ข้อต่อลดและเข็ดขัดรัดสายยางช่วยเพื่อให้การต่อสายยางได้พอดีและแน่นมากขึ้น
- เมื่อต่ออุปกรณ์ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงเสียบปลั๊กปั๊มแช่เพื่อเริ่มการทำงาน ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที
- คอยระวังไม่ให้ระดับน้ำในถังต่ำกว่าปั๊มแช่ เมื่อระดับน้ำในถังเริ่มใกล้จะหมด ให้รีบถอดปลั๊กทันที ส่วนน้ำยาที่เหลือในถังสามารถใช้เทราดบริเวณรอบนอกบ้านได้
หมายเหตุ: เนื่องจากปั๊มแช่มีแรงดันค่อนข้างสูง จึงควรต่อสายยางเข้ากับท่อฉีดปลวกให้แน่น ไม่อย่างนั้นน้ำยาจะกระเซ็นออกจากท่อฉีดปลวกเวลาใช้งานปั๊มแช่
การฉีดน้ำยากำจัดปลวกด้วยตัวเองนี้มีข้อดีหลายอย่างคือ ทำได้ง่าย ฉีดน้ำยาได้ตรงจุด ฉีดได้มากและได้บ่อยครั้งตามที่เราต้องการ เราสามารถเลือกยี่ห้อและคุณภาพน้ำยาเองได้ ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายถูกกว่าจ้างบริษัทกำจัดปลวกหลายเท่า
แต่เราอาจจะต้องมีเวลาเตรียมอุปกรณ์เองทั้งหมด ต้องศึกษาวิธีการใช้อุปกรณ์แต่ละชนิดอย่างละเอียด ต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษในขณะฉีดพ่นน้ำยากำจัดปลวก
บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่สำหรับใครที่พอมีเวลาและอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดปลวก การฉีดปลวกด้วยตัวเองนั้นคุ้มค่าคุ้มเวลากว่าการจ้างบริษัทกำจัดปลวกอย่างแน่นอนครับ
เกร็ดสำคัญก่อนฉีดน้ำยากำจัดปลวก
- ควรผสมน้ำยาตามสูตรเท่านั้น ไม่ควรผสมน้ำเปล่ามากเกินไปหรือน้อยเกินไป ถ้าผสมน้ำเปล่ามากเกินไป การกำจัดปลวกจะมีประสิทธิภาพลดลง และถ้าผสมน้ำเปล่าน้อยเกินไปก็จะทำให้การกำจัดปลวกไม่ทั่วถึงในรังทั้งหมด
- ยากำจัดปลวกมีแบบยาน้ำและแบบยาผง แต่ว่าแบบยาน้ำจะใช้ได้ผลดีกว่าแบบยาผง ซึ่งมีให้เลือกหลายยี่ห้อและราคาแตกต่างกันไป แต่มีตัวยาชนิดเดียวกันคือ ฟิโพรนิล 5%
- สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้มิดชิดทุกครั้งก่อนเริ่มฉีดน้ำยากำจัดปลวก เช่น สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แว่นตา หน้ากากผ้า ถุงมือ รองเท้าบูท
- ถ้าบ้านหลังไม่ใหญ่มากนักก็อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องพ่นยาสะพายหลังก็ได้ แต่ว่าอาจจะใช้เครื่องสูบพ่นยาใช้มือดึงชักแทน ซึ่งราคาก็จะถูกลงกว่าเครื่องพ่นยาแบบมอเตอร์
- ควรบอกทุกคนในบ้านด้วยว่ามีการฉีดปลวกบริเวณไหนบ้างเพื่อป้องกันการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ บริเวณนั้น และถ้าบ้านไหนมีเด็กเล็ก ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- ฉีดน้ำยากำจัดปลวกประมาณ 6 เดือน/ครั้ง
- ราคาน้ำยากำจัดปลวกขึ้นอยู่กับยี่ห้อและร้านค้าว่าเราซื้อที่ไหน ถ้าซื้อในร้านค้าขายวัสดุทางการเกษตรทั่วไปก็จะราคาไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับซื้อในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
*รูปภาพทั้งหมดโดยผู้เขียน
ความคิดเห็น
