อื่นๆ
นกขมิ้น กับปรัชญาในชีวิต

นกขมิ้น (Oriole)
เป็นนกที่มีขนาดลำตัวค่อนข้างเล็ก และส่วนใหญ่มีสีเหลือง นกตัวผู้มีสีสันสดใสกว่าตัวเมีย ด้วยเหตุที่มีสีเหลืองและสีสันสดใส จึงเป็นที่มาของชื่อ นกขมิ้น
เพลงนกขมิ้น
ในเพลงไทย ปรากฏบทเพลงหนึ่งที่ชื่อว่า เพลงนกขมิ้น มีบทร้อง (ของเก่า) ที่ประพันธ์ไว้อย่างไพเราะ ทำให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของนกขมิ้นที่ว่า
" เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน
ค่ำลงแล้วเจ้าจะนอนที่รังไหน
นอนไหนก็นอนได้
สุมทุมพุ่มไม้ที่เคยนอน
ลมพัดมาอ่อนอ่อน
เจ้าก็ร่อนไปตามลมเอย
ดอกเอ๋ย ดอกขจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อน
ค่ำแล้วจะนอนไหนเอย"
(ของเก่า)
นกขมิ้นเหลืองอ่อน ในเพลงนกขมิ้น
นกขมิ้นในโลกนี้มีปรากฏประมาณ 34 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 6 ชนิด ผู้เขียนสันนิษฐานว่า นกขมิ้นที่ปรากฏในบทร้อง คือ "นกขมิ้นท้ายทอยดำ หรือ นกขมิ้นเหลืองอ่อน (Black - Naped Oriole)" เนื่องจาก นกขมิ้นชนิดนี้จะอพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม มีลักษณะนิสัยชอบอยู่โดดเดี่ยว แต่บางครั้งก็ไปด้วยกันเป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ อาศัยอยู่บนต้นไม้เท่านั้น และมักมองเห็นได้ยากแม้จะมีสีสันสดใส เพราะนกขมิ้นชนิดนี้มักหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้หนาทึบ ยากที่จะเห็นตัวได้ง่ายๆ ในความคิดของผู้เขียน นกขมิ้นชนิดนี้จึงแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของความอิสระ ที่มักโยกย้ายถิ่นฐานอยู่เป็นประจำ ค่ำไหนนอนนั่นอยู่ร่ำไป
Advertisement
Advertisement
(สจีย์ ศรีอินทร์,2558)
นกขมิ้น กับปรัชญาชีวิตของผู้เขียน
ผู้เขียนชื่นชอบเพลงนกขมิ้นเป็นทุนเดิม เมื่อมีโอกาสได้เห็นนกขมิ้นตัวเป็นๆ ได้ยินเสียงพวกเขาท่ามกลางหมู่แมกไม้ตามธรรมชาติ ยิ่งรู้สึกหลงใหลในนกชนิดนี้
พลันเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากนกเหล่านี้ถูกจับขังอยู่ในกรงล่ะ? กรงที่มีคนให้อาหาร นกจะอิ่มหนำสำราญทุกมื้อ เป็นความอิ่มที่ต้องแลกด้วยอิสรภาพ พวกเขาจะชอบชีวิตพเนจรของเขา ที่อาจต้องผจญกับภยันตรายทั้งปวง หรือจะชอบชีวิตสุขสบายในกรงกันนะ
ราวกับได้คำตอบของชีวิต นกตัวไหนคิดอย่างไร ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ แต่ 'นกขมิ้นในใจของผู้เขียน' ให้คำตอบกับตัวผู้เขียนเองว่า
เราคงมีความสุขกับการได้กางปีกโบยบินมากกว่าถูกขังอยู่ในกรง
ชีวิตนี้สั้นนัก
วิถีใครวิถีมัน
ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้เถอะ
ออกไปผจญโลกกว้าง
อย่าขังตัวเองไว้ในกรอบในกรงเลยนะ
Advertisement
Advertisement
เจ้านกขมิ้นตัวน้อยในใจฉัน
#ชีวิตติดกรอบ
แม่หญิงเรไร
ที่มา
(งานวิจัยผู้เขียน)
สจีย์ ศรีอินทร์. กลวิธีการเดี่ยวซอด้วง เพลงนกขมิ้น สามชั้น ทางครูประเวช กุมุท. งานวิจัยปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ที่มาภาพ
Advertisement
Advertisement
ความคิดเห็น
