ไลฟ์แฮ็ก

บอนสีจอมอึดและลึกลับ: ลูกไม้ป่าก้านดำ

4.2k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
บอนสีจอมอึดและลึกลับ: ลูกไม้ป่าก้านดำ

สวัสดีค่ะ วันนี้สี่ตาพาบอนสีสายพันธุ์พื้นเมือง หรือที่หลายๆคนที่ชื่นชอบบอนสี เรียกกันว่า สายพันธุ์บ้านๆ อีกหนึ่งสายพันธุ์มาให้ชมกันค่ะ สายพันธุ์นี้เรียกกันทั่วไปว่า “ลูกไม้ป่าก้านดำ” ส่วนใครเป็นผู้เรียกนั้นสี่ตาไม่ทราบเลยค่ะ  ในแวดวงบอนสีคงคุ้นชินกับคำว่า ลูกไม้ ซึ่งหมายถึง ต้นบอนสีที่เกิดมาจากการผสมพันธุ์ผ่านเกสรดอกของบอนสี จนได้เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกเติบโตมาใหม่ ทำให้ได้บอนสีลักษณะใหม่ออกมา และรอการตั้งชื่อ  สำหรับ ลูกไม้ป่าก้านดำ ดูจากชื่อแล้ว สี่ตาเดาล้วนๆค่ะ ว่าอาจจะเป็นเมล็ดที่เกิดจากการผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ จึงกลายเป็น ลูกไม้ป่า ส่วน ก้านดำ ก็คงมาจาก ก้านสีดำของต้นบอนสีชนิดนี้ สี่ตาแอบสงสัยอยู่ในใจเงียบๆ เหมือนกันค่ะ ว่าทำไมไม่มีใครตั้งชื่อให้บอนสีสายพันธุ์นี้ หรืออาจเป็นเพราะความคุ้นเคยที่เรียกกันว่า “ลูกไม้ป่าก้านดำ” ตั้งแต่ต้น ทำให้ใช้ชื่อนี้เรื่อยมา

Advertisement

Advertisement

ความสงสัยนำไปสู่การสืบเสาะค้นหาค่ะ สี่ตาเริ่มจากการเข้าไปดูรายการบอนสีหายากที่ชาวต่างชาติได้รวบรวมสายพันธ์ุไว้ ก็พบหนึ่งสายพันธ์ุดูแล้วมีความคล้ายคลึงกับ “ลูกไม้ป่าก้านดำ” มาก ซึ่งก็คือสายพันธ์ุ Summer Breeze สายพันธ์ุนี้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในอเมริกา  เมื่อสืบค้นต่อไปก็พบว่า เกิดจากการผสมขึ้นมาระหว่าง 2 สายพันธ์ุ โดยมี John Peed เป็นคุณแม่ และ Candidum Senior เป็นคุณพ่อ โดยผู้ผสมคุณ Hartman Robert Dale ได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดคือตัวก้านบอนค่ะ “ลูกไม้ป่าก้านดำ” มีลักษณะเฉพาะอย่างชัดเจนของการมีก้านสีดำ ในขณะที่   Summer Breeze ที่สี่ตาดูเปรียบเทียบด้วยการใช้ Google Image ในการค้นหา พบว่า Summer Breeze ยังไม่มีลักษณะตรงนี้เด่นชัดเท่าไรนัก

มาดูชื่อ Candidum กันค่ะ มีชื่อเรียกกันในชื่อไทยว่า อิเหนา เท่าที่สี่ตาค้นข้อมูล Candidum ถูกแบ่งเป็น Junior กับ Senior อิเหนาที่เรามีนั้นรุ่นไหนไม่แน่ใจ แต่ตอนนี้สี่ตาค่อนข้างมั่นใจว่า ลูกไม้ป่าก้านดำ ต้องมีอิเหนาอยู่ในสายเลือดแน่ๆ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างคะ รู้สึกว่า “ลูกไม้ป่าก้านดำ” ดูลึกลับน่าค้นหาบ้างไหม ? เอาล่ะค่ะมาดู “ลูกไม้ป่าก้านดำ” ที่สี่ตาเลี้ยงดูกันค่ะ เริ่มปลูกตั้งแต่ยังเป็นหัวน้อยๆ เฝ้ามองดูทุกวัน วันที่เห็นใบแรกออกมาให้ชมก็ต้องอมยิ้มในความน่ารักของ “ลูกไม้ป่าก้านดำ” วัยเด็ก ลองสังเกตดูสิคะ ก้านดำมาเชียว

Advertisement

Advertisement

ลูกไม้ป่าก้านดำต้นเด็ก

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เห็นพัฒนาการการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากใบเด็กจิ้มลิ้ม มีกระดูกแดงเด่นชัด เริ่มกลายเป็นใบใหญ่ๆ มีแต้มเล็กๆ ขาวๆ ปรากฏออกมาให้เห็น และก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อวันเวลาผ่านไป
ลูกไม้ป่าก้านดำ

เนื่องจากสี่ตาสนใจ ลูกไม้ป่าก้านดำ เป็นพิเศษก็นำมาปลูกเยอะหน่อย ถึงแม้แถบขาวจะไม่ชัดเหมือนรูปที่ใช้เพื่อการค้า แต่สี่ตาก็ชอบ ลูกไม้ป่าก้านดำ ในแบบที่เป็นที่อยู่ค่ะ มาดูความอึดของลูกไม้ป่าก้านดำกันค่ะ ในวันที่แดดแรงช่วงเที่ยงๆ แวะไปดู คอตกสลบเหมือดกันหมด เป็น ลูกไม้ป่าก้านดำ ที่หมดแรง แต่หลังจากแสงตะวันลางเลือน ความร้อนแรงหายไป ความสดใสร่าเริง ก็กลับคืนมาอีกครั้ง บ่งบอกว่าหมดแรงแต่ไม่หมดใจ เพราะเมื่อสิ่งที่ทำให้เหนื่อยหายไปก็พร้อมกลับมาสดใสเหมือนเดิม

ลูกไม้ป่าก้านดำ

ลูกไม้ป่าก้านดำ เหมือนชีวิตคนเรานะคะ ยามเหนื่อยล้าก็หมดแรง แต่หากใจเรายังสู้ เมื่อสิ่งที่ทำให้เราต้องเหนื่อยล้าจากไป ความสดใสร่าเริงก็กลับมาสู่ตัวเราอีกครั้ง หากมีอะไรทำให้เหนื่อย ลองนึกถึง ลูกไม้ป่าก้านดำจอมอึด กันดูค่ะ  รอบหน้าแวะมาติดตามบอนสีบ้านๆ แต่มีคุณค่าสายพันธุ์ต่อไปกันนะคะ

Advertisement

Advertisement

หมายเหตุ: รูปถ่ายทั้งหมดสี่ตาเป็นผู้ถ่ายและเป็นเจ้าของรูปภาพทุกรูปค่ะ

อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
สี่ตาพาอ่าน
สี่ตาพาอ่าน
อ่านบทความอื่นจาก สี่ตาพาอ่าน

สี่ตาชอบท่องเที่ยว และทำสวนเล็กๆที่บ้าน

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์