อื่นๆ
ประเภทของปุ๋ยทางการเกษตร หน้าที่ต่างกันแต่ช่วยให้พืชงอกงามทันใจ
ปุ๋ย คือ วัสดุที่มีธาตุอาหารพืชหรือสิ่งมีชีวิตที่สามารถเป็นปุ๋ยได้ เมื่อนำไปใส่ลงในดิน วัสดุเหล่านี้จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้แก่พืช ซึ่งธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชประกอบด้วย 16 ธาตุ แบ่งกลุ่มธาตุออกเป็น 3 กลุ่มย่อย กลุ่มที่ 1 ธาตุอาหารหลัก 3 ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) หรือเป็นธาตุอาหารที่เราเห็นตามสูตรปุ๋ยเคมีต่าง ๆ เช่น 46-0-0 หรือปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมี N = 46 P = 0 K = 0 กลุ่มที่ 2 ธาตุอาหารรอง 10 ธาตุ ได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) ซัลเฟอร์ (S) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) ทองแดง (Cu) โมลิบดีนัม (Mo) และคลอรีน (Cl) เป็นกลุ่มธาตุที่พืชต้องการไม่มาก แต่ขาดไม่ได้ กลุ่มที่ 3 ธาตุที่ได้จากการสังเคราะห์แสง 3 ธาตุ ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโรเจน (H) ออกซิเจน (O) 3 ธาตุนี้ไม่จำเป็นต้องหามาให้พืช เพราะได้จากการสังเคราะห์แสงเองแล้ว ทีนี้ประเภทของปุ๋ยก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ รายละเอียดดังนี้
Advertisement
Advertisement
- ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้นจากธรรมชาติ เช่นแร่แบะหินต่าง ๆ ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ได้ออกมาเป็นสารอาหารพืชที่มีสูตรโครงสร้างที่แน่นอน เช่น สูตร 16-8-8 มี N = 16 P = 8 K = 8 เรียกว่าปุ๋ยผสม เนื่องจากมีการผสมระหว่างปุ๋ย 2 ธาตุขึ้นไป ส่วนปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 เรียกปุ๋ยเดียว คือมีธาตุอาหารเดียว คือ ไนโตรเจน ซึ่งปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษที่สร้างอันตรายต่อคน เพราะปุ๋ยเคมีก็เป็นอาหารของพืช เมื่อพืชได้รับสารอาหารเพียงพอก็สามารถโตได้เต็มที่ การใช้ปุ๋ยเคมี เหมาะสำหรับการเพิ่มสารอาหารหลักให้พืชได้ตามความต้องการของพืช เนื่องจากมีสูตรที่แน่นอน เช่น การใช้กับพืชไร่ (อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว) พืชสวน (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) เพื่อเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้น ซึ่งจากการใช้งานจริงสามารถเพิ่มผลผลิตได้ดีมาก
- ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ เช่น การหมักปุ๋ยทั้งแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศ ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก เป็นต้นซึ่งปุ๋ยอินทรีย์จะให้ธาตุอาหารแก่พืชครบทุกธาตุ แต่มีสูตรโครงสร้างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ เหมาะสำหรับพืชทุกชนิด เพราะมีธาตุอาหารครบถ้วน ซึ่งจากการใช้งานจริง ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวสามารถให้ธาตุเพียงพอต่อพืช แต่จะใช้ในปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยเคมี เพราะมีธาตุอาหารน้อยกว่าโดยน้ำหนัก และมีต้นทุนสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับปริมาณธาตุอาหารที่เท่ากัน
- ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสารประกอบอาหารพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียกลุ่ม PGPR ให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งได้แก่จุลินทรีย์กลุ่มตรึงไนโตรเจน คือสามารถที่จะเอาไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นสารอาหารให้แก่พืชได้และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ทำให้หินฟอสเฟตละลายเป็นอาหารพืชได้ ซึ่งปุ๋ยชีวภาพหลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกันกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยเฉพาะน้ำหมัก ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักโดยไม่ใช้อากาศ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยชีวภาพ เพราะปุ๋ยชีวภาพไม่สามารถผลิตได้ในระดับเกษตรกร ซึ่งเกิดจากการวิจัยจากหน่วยงานหรือนักวิจัย สามารถดูภาพได้จาก http://www.sanklangphan.go.th/agriculture.php?id=6 ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ที่เคยใช้ได้ผลดี จะเป็นเชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียกลุ่ม PGPR ช่วยในการรักษาโรครากเน่าในพืช ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาด และอีกประเภทคือปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ที่มีแบคทีเรียตระกูลไรโซเบียม สามารถเข้าสร้างปมที่รากกับพืชตระกูลถั่ว โดยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งไรโซเบียมสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้ โดยใช้เอนไซม์ไนโตรจีเนส ซึ่งได้ผลดีกว่าการไม่ใช้ปุ๋ยชีวภาพนี้
- ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ เช่น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มสารอาหารที่ขาดหายให้แก่พืช พร้อมใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อรักษาโรครากเน่าของพืชด้วย โดยวิธีการใช้สามารถผสมกับปุ๋ยอินทรีย์แล้วใช้กับการปลูกพืชได้เลย จากการใช้งานปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสามารถให้ธาตุอาหารพืชที่เพียงพอและรักษาโรครากเน่าของพืชได้ด้วย
Advertisement
Advertisement
ปุ๋ยทางการเกษตรแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน การใช้งานคนละรูปแบบกัน แต่จุดประสงค์เดียวกันคือ การทำให้พืชเจริญงอกงามได้โดยไม่มีโรคภัยรบกวน ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการผลิดอกออกผล
ขอบคุณรูปภาพ
ภาพปก: เจ้าของบทความ
ภาพที่ 1, 2, 3, 4 : เจ้าของบทความ
*STAR COVER"อย่ามัวแต่ดูมาดังกัน"*
ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟเวอร์ พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลค์คนที่ชอบ`ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี`
คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkq
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQ
ร่วมสนุกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - วันที่ 11 สิงหาคม 2565
เล่าเรื่องราวประสบการณ์ ท่องเที่ยว ทำอาหาร และการเกษตร
ความคิดเห็น