ไลฟ์แฮ็ก
“ปีใหม่ฉันจะเก็บเงินให้ได้” ปณิธานปีใหม่รอบใหม่ จะทำยังไงให้สำเร็จ

(Cover Photo by Joanna Kosinska on Unsplash)
ปีใหม่เวียนมาอีกครั้ง ขอกระซิบถามดังๆ ตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolutions กันเสร็จหรือยังคะคุณ ๆ
เขาว่ากันว่าปณิธานปีใหม่ยอดนิยมฮิตฮอตตลอดกาลคือ “ฉันจะเลิกบุหรี่” กับ “ฉันจะต้องผอม”
แต่ที่น่าสนใจ คือปณิธานปีใหม่ฮอตฮิตที่ติดตามมาเป็นอันดับสาม คือ “ฉันจะเก็บเงินให้ได้”
ฉันว่าเป็นเรื่องดี ๆ ที่ปีใหม่มักเวียนมาพร้อมความมุ่งมั่นใหม่ ๆ แต่ปัญหาใหญ่ คือเผลอแป๊บๆ ความตั้งใจในตอนต้นปีก็วิิ่งหนีเราไปตั้งแต่ยังไม่ทันสิ้นเดือนแรก!
เอาจริง ๆ ใครที่ยังตั้งมั่นอยู่ได้จนสิ้นเดือนแรกของปีก็นับว่าเก่งมากแล้วนะ เพราะงานวิจัยบอกว่า 25% ของนักตั้งปณิธาน มักลืมเลือนสิ่งที่ตั้งใจไว้ในเวลาแค่ 7 วัน!
ถ้าคุณตั้งปณิธานมาปีแล้วปีเล่าว่า “ฉันจะเก็บเงินให้ได้” แล้วล้มเลิกความตั้งใจมาปีแล้วปีเล่า ฉันว่าปีนี้เราควรมาตรวจสอบดูดีกว่า ว่าอะไรนะที่ทำให้เรามักทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ
Advertisement
Advertisement
Photo by Maddi Bazzocco on Unsplash
กูรูการเงิน Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือดัง “ผมจะสอนคุณให้รวย” หรือ “I Will Teach You to Be Rich” บอกว่าเขาเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า“การเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราไม่ใช่เรื่องง่าย มีแต่ความตั้งใจมั่นอย่างเดียวยังไม่พอ”
กูรูหนุ่มแนะนำว่า ถ้าคุณจริงจังกับการสร้างเปลี่ยนแปลงทางการเงินในปีใหม่นี้ ควรนึกถึงสองปัจจัยต่อไปนี้ให้มั่น
1) สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นใจ สมมติว่าคนสองคนตั้งปณิธานที่จะลดน้ำหนัก คนแรกลงมือเคลียร์ตู้เย็น นำขนมอ้วน ๆ ไปแจกจนหมดเกลี้ยง นำผักผลไม้หน้าตาน่ากินหั่นสวยงามมาวางล่อให้ตัวเองหยิบ แต่คนที่สองยังคงปล่อยให้ตู้เย็นเต็มไปด้วยของหวาน ๆ มันๆ ทอดๆ คุณว่าสองคนนี้ใครจะปณิธานร่วงก่อนกัน
สภาพแวดล้อมที่คุณเลือกให้ตัวเองมีผลมากกับความสำเร็จ ถ้าปีนี้ถ้าคุณตั้งใจมั่นที่จะเก็บเงินให้สำเร็จ แนะนำให้คุณเลือกแวดล้อมตัวเองด้วยสิ่งที่สนับสนุนความสำเร็จ ประมาณนี้
Advertisement
Advertisement
- เลี่ยงการแฮงก์เอาท์กับกลุ่มเพื่อนที่ใช้เงินเป็นเบี้ย
- พาตัวไปอยู่ใกล้กับคนที่ใช้เงินเป็น
- เอาบัตรเครดิตไปซ่อน
- บัตรเอทีเอ็มควรมีเงินจำกัด
- ไปออกกำลังกายกับแฟนแทนการตระเวณกินร้านหรู
Photo by STIL on Unsplash
2) ไม่เน้นใหญ่ เน้นยั่งยืน
คนสองคนตั้งปณิธานที่จะลดน้ำหนัก คนแรกใช้วิธีลดของหวานหลังอาหารจากสามมื้อเหลือแค่มื้อเดียว ส่วนคนที่สองหักดิบเปลี่ยนตัวเองเป็นมังสวิรัติแบบพลิกชีวิต คุณว่าสองคนนี้ใครจะปณิธานร่วงก่อนกัน
นึกออกเลยใช่ไหม ว่าคนที่หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า น่าจะหมดแรงสู้ก่อน ดังนั้นอย่าเล่นใหญ่ ควรเน้นสิ่งที่ทำได้แน่ ๆ และไม่ยากเกินเหตุ
เลือกปรับเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาแบบแก้ได้จริง เช่น มองหาวิธีเก็บเงินก้อนเล็ก ๆ ในแต่ละสัปดาห์ มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า การลุกขึ้นมาบีบคั้นตัวเองให้เลิกช็อปปิ้งเด็ดขาด
Advertisement
Advertisement
Photo by Ben Wicks on Unsplash
หลักการสองข้อของคุณรามิตฉันว่าน่าสนใจ ดูเห็นภาพว่าพอจะเป็นไปได้ แต่ฉันขอเสริมข้อ 3 ให้ เพราะตัวฉันคิดว่าเรื่องนี้มีผลกับความสำเร็จมากที่สุด
3) ตั้งปณิธานให้มีรายละเอียด เอาแบบมีตัวเลขให้จับต้องได้
เคยมีนักจิตวิทยาบอกว่า สาเหตุที่ทำให้คนเราเลิกล้มความตั้งใจกลางครัน ส่วนใหญ่นั้นอยู่ตรงที่เราชอบตั้งแต่ตัวปณิธาน แต่ไม่ยอมลงรายละเอียดว่าจะทำมันให้สำเร็จด้วยวิธีไหน
ยิ่งเฉพาะเรื่องการเงินด้วยแล้ว ถ้าคุณตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จ จะคิดลอย ๆ ไม่ได้ คุณต้องลงลึกถึงวิธีการให้เป็นรูปธรรม ดังนั้นข้อ 3 นี้ฉันว่าสำคัญมาก
ยกตัวอย่าง หากคุณเคยตั้งปณิธาน “ฉันจะใช้เงินน้อยลง” ซึ่งล้มเหลวไปแล้วตั้งแต่ 7 วันแรกของปีที่แล้ว ปีนี้มาเริ่มกันใหม่ แทนที่จะสนใจแค่ "ฉันจะเก็บเงินให้ได้" ให้หาตัวเลขที่คุณต้องการเก็บให้ได้เลย
เริ่มต้นวิธีง่ายๆ ลองหาตัวเลข "ฐานะการเงิน" ของคุณวันนี้ก่อน
Photo by Estee Janssens on Unsplash
ภาพรวมของฐานะการเงิน หรือ Net Worth คือตัวเลขที่บ่งบอกฐานะทางการเงินของบุคคล วิธีคำนวณหา Net Worth ของตัวคุณเอง ณ วันสิ้นปี ให้นำเอามูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่คุณมีตอนนี้ ลบด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งหมด
สมมติว่ามูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่มี (บ้าน/รถยนต์/เงินสด/กองทุนรวม) 4,000,000 บาท
สมมติว่ามูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่มี (หนี้บ้าน/หนี้รถ/หนี้บัตรเครดิต) 2,500,000 บาท
แปลว่า Net Worth ของคุณ ณ สิ้นปีนี้คือ 1,500,000 บาท
พอรู้ตัวเลขฐานะของตัวเองปีนี้ คุณก็สามารถตั้งลงรายละเอียดในปณิธานได้ว่า ปีต่อไป "ฉันจะเพิ่ม Net Worth ให้ได้ 10%"
10% ของ 1,500,000 เท่ากับ 150,000 บาท หูย! เห็นตัวเลขเป็นรูปธรรมขึ้นมาทันที งานนี้ดูจับต้องได้ขึ้นมาเห็นๆ
Photo by Estee Janssens on Unsplash
คุณจะสามารถลงรายละเอียดได้ต่อไป ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ฐานะดีขึ้น 10% เช่น เราจะลดหนี้ลงจากเดิมให้ได้อย่างน้อย 5% (75,000 บาท) และเก็บเงินเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 5% (75,000 บาท) เป็นต้น
แล้วค่อยมาลงดีเทลว่าจะลดหนี้ 75,000 บาทลงด้วยวิธีใด (เช่น นำโบนัสไปโปะหนี้ค่าบ้านทั้งก้อน) และจะเก็บเงินเพิ่ม 75,000 บาทด้วยวิธีใด (เริ่มธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ หาเงินพิเศษให้ได้เดือนละ 6,000 บาท)
ได้ตัวเลขและวิธีการชัดเจนขนาดนี้ โอกาสทำมันให้สำเร็จตอนสิ้นปีจะหนีไปไหน!
ปณิธานทางการเงินนั้นเปรียบเหมือนการ “วิ่งมาราธอน” ที่คุณต้องวางแผนยิงยาวให้ถึงสิ้นปี วางแผนกระจายเป้าหมายย่อยๆ ของคุณ และทำมันให้สำเร็จทีละน้อย ความสม่ำเสมอคือกุญแจความสำเร็จ
วัยรุ่นอย่าใจร้อนจัดหนักเอาเสียเต็มที่ ไม่เช่นนั้นคุณจะหมดแรงตั้งแต่ต้นปีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
ความคิดเห็น
