เพลง
พรีวิววณิพก! ร้องเพลงเปิดหมวกเป็นไง? มาดู!

คุณผู้อ่านครับขึ้นชื่อว่าอาชีพยุคนี้สมัยนี้ต้องบอกเลยว่ามีมากมายหลายอย่าง อย่างที่เราทราบว่าอาชีพสุจริตคงไม่ได้มีแต่หมอ , พยาบาล , ข้าราชการ , วิศวกร ฯลฯ เหล่านี้อีกแล้ว งานออนไลน์ก็มีหลากหลายไล่มาตั้งแต่ขายของ , เป็นอินฟูลเอ็นเซอร์ , หรือจะขับมอเตอร์ไซต์ขนส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันก็ยังได้ แต่บทความนี้ผมจะไม่เขียนถึงสิ่งเหล่านี้ครับคุณผู้อ่าน!
ผมจะนำพาทุกคนย้อนสู่อดีต กลับไปดูกันว่าอาชีพดั้งเดิมสุดคลาสสิคตั้งแต่เมื่อครั้งมีแผ่นดินสยามประเทศอย่างการเป็น "วณิพกพเนจร" นั้นเป็นยังไง? มันจะหล่อบาดใจเหมือนน้องติวเตอร์ที่เปิดหมวกอยู่เยาวราชไหม? แล้วมันจะดูชิวสุดอิสระแบบที่คิดไว้ในหัวรึเปล่า? ต้องมาลองดูกันครับ
1. เตรียมกีต้าร์ให้พรั่งพร้อม
อุปกรณ์สุดสำคัญเพราะถ้าไม่มีมันเราจะกลายเป็นขอทานในทันที วณิพกคือผู้ขับกล่อมผู้คนด้วยเสียงเพลง ถ้ามีคนมาถามว่า "ไอ้หนุ่มเอ็งกำลังเตรียมของจะขายอะไร?" ผมจะตอบกลับไปทันทีแบบไม่ต้องคิดว่า "ขายเสียงดนตรีครับคุณลุง"
Advertisement
Advertisement
2. ลำโพงจิ๋วกับไมค์เล็กๆต้องมีด้วย
ทำเลที่เวิร์คย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง คงไม่มีนักร้องเปิดหมวกที่ไหนไปทำการแสดงในป่าช้า เพราะฉะนั้นสถานที่ๆผมเลือกไปจึงเป็นตลาดเปิดท้ายขายของใกล้ๆหอพัก และด้วยความที่มันเป็นตลาดเสียงเจื่อยแจ้วจอแจจึงเยอะมาก ไหนจะเสียงรถราที่วิ่งกันขวักไขว่เต็มท้องถนนอีก รับประกันได้เลยครับคุณผู้อ่านว่าถ้าไม่มีไมค์กับลำโพงช่วยนะ เสียงที่เราเปล่งออกไปจะไม่ต่างจากการสวดมนต์ดีๆนี่เอง ไม่มีใครฟังออกหรอกว่าเราร้องอะไร และนั่นก็จะนำมาสู่การไม่ได้ตังค์ครับ
3. เตรียมเนื้อเพลงไปดูด้วย
ผมไม่ใช่นักร้องนักดนตรีมืออาชีพ ผมจำไม่ได้หรอกครับว่าแต่ละเพลงต้องร้องว่าอะไรและต้องเล่นคอร์ดอะไรบ้าง ไอ้ครั้นจะไปเปิดโทรศัพท์ดูในเน็ตเอาแบบที่น้องติวเตอร์เยาวราชทำ โทรศัพท์ผมก็ดันไม่ใช่สมาร์ทโฟน เครื่องรุ่นปุ่มกดธรรมดาที่ใช้โทรออกกับรับสายได้อย่างเดียวทำสิ่งนั้นไม่ได้หรอกครับ กระดาษเน่าๆกับการเขียนเนื้อด้วยลายมือจึงปรากฏอย่างที่เห็น (ไม่สวยแต่ใช้งานได้ดีเชียวล่ะ)
Advertisement
Advertisement
4. บาร์โค้ดรับเงินโอนธนาคารต้องมี บาร์โค้ดไว้แนะนำตัวเองผ่านช่องทางโชเชียลก็ต้องมีด้วย
เราเพิ่งผ่านวิกฤตโควิดมาหมาดๆ อย่าลืมนะครับคุณผู้อ่านว่าคนยุคนี้เขาแทบจะไม่ใช้เงินสดกันแล้ว การจับแบงค์จับเหรียญนั้นเต็มไปด้วยเชื้อโรค พฤติกรรมการโอนเงินผ่านบาร์โค้ดก็มีให้เห็นกันจนชาชินลูกตา แถมการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งก็ทำให้ลุงๆป้าๆที่ไม่เคยสนใจเทคโนโลยีสามารถทำสิ่งนี้ได้คล่องขึ้น ผมก็เลยเตรียมบาร์โค้ดพวกนี้เผื่อไว้เป็นทางเลือก แล้วก็มีบาร์โค้ดโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆของตัวเองพ่วงไปด้วยเผื่อมีคนอยากรู้จัก
5. ต้องมีการส่งเสริมการขาย
ถ้าเป็นสินค้าอื่นคงเป็นการลดแลกแจกแถม แต่สำหรับการเป็นนักดนตรีเปิดหมวกแล้วล่ะก็ ผมเล็งเห็นว่าเจ้านี่ล่ะครับเหมาะสมที่สุด น้ำหนักเบาพกพาง่าย กวักได้ทั้งวันไม่มีหมดแรงแถมยังไม่เปลืองน้ำแดงด้วย จากการสังเกตผมวัดผลไม่ได้ว่ามันช่วยให้ได้เงินมากขึ้นไหม แต่เรียกรอยยิ้มกับความกวนโอ๊ยแก่ผู้พบเห็นได้ไม่เลวทีเดียวครับ
Advertisement
Advertisement
พออุปกรณ์พร้อมใจพร้อมก็ออกลุยกันเลย และนี่คือค่าตอบแทนจาการไปเป็นวณิพกเปิดหมวกมาครับ จะเห็นว่ามีแต่แบงค์ยี่สิบกับเหรียญเป็นส่วนใหญ่ ผมใช้เวลาเล่นอยู่เป็นชั่วโมงเหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าน้อยแต่สำหรับผมผมถือว่ามากพอสำหรับซื้อข้าวกินในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท อาหารตามสั่งจานละ 60 ได้แบบไม่ขี้เหร่เลยครับ ผมโอเคกับสิ่งนี้มาก เป็นงานที่ให้ฟิวอิสระเสรีอย่างที่ใจคิดไว้จริงๆ
จบการรีวิวแต่เพียงเท่านี้ครับ แต่ก็มีเรื่องที่จะฝากเตือนทุกท่านที่อยากลองทำบ้างเหมือนกัน ว่าแต่ละสถานที่ๆไปเล่นนั้นมีกฎระเบียบที่ไม่เหมือนกัน บางที่อย่างตลาดเปิดท้ายที่ผมไปก็คือวางอุปกรณ์แล้วเล่นได้เลย แต่บางทีเขาจะให้เราไปทำหนังสือขออนุญาตก่อน และยามก็จะขยันมาไล่เป็นพิเศษ หรือถ้าเป็นสถานที่สาธารณะไม่มีรั้วรอบขอบชิดว่าใครเป็นเจ้าของ สิ่งที่ต้องระวังเลยก็คือเจ้าหน้าที่เทศกิจ มีกันทุกที่ไม่ได้มีแต่ในกรุงเทพฯ ถ้าโดนรวบตัวล่ะก็ค่าปรับบานแบบไม่คุ้มกับรายได้เลยล่ะครับ สายตาคุณจึงต้องไวกับสีสะท้อนแสงบนเสื้อของเจ้าหน้าที่ซะหน่อย
เครดิตรูปภาพ
ภาพปก โดย Etan Jones / Pexel.com
ภาพที่ 1, 2 , 3 , 5 ผู้เขียนถ่ายเอง
ภาพที่ 4 โดย Kampus Production / Pexel.com
ภาพที่ 6 โดย Pixabay / Pexel.com
🗺 แชร์ที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเที่ยวสายไหนก็มาแวะแชร์กับทรูไอดีคอมมูนิตี้ “เที่ยวไปให้สุด”
ความคิดเห็น
