อื่นๆ

[ภาษาเหนือฉบับชาวบ้าน] คำว่า "ตึง" แปลว่าอะไร คนภาคอื่นใช้ยากจริงหรือ

6.8k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
[ภาษาเหนือฉบับชาวบ้าน] คำว่า "ตึง" แปลว่าอะไร คนภาคอื่นใช้ยากจริงหรือ

ในบรรดาคำศัพท์ภาษาเหนือที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มักจะเป็นคำที่มีความหมายเดียว ตรงตัว แปลง่าย เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้ง่าย แต่ก็มีบางคำ ที่คนภาคอื่นอาจจะนำไปใช้ยากสักหน่อย เพราะสามารถแปลได้หลายความหมาย ขึ้นอยู่กับว่าคำนั้นไปอยู่ในรูปประโยคแบบใด ดังนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ หรือเคยได้ยินได้ฟังตัวอย่างการใช้มาแล้ว จึงจะใช้งานได้อย่างถูกต้อง ดั่งเช่นคำว่า “ตึง” ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

สำหรับภาษาไทยกลาง คำว่า “ตึง” มีความหมายอยู่ 3 อย่าง ได้แก่

1.  ไม่หย่อน

2.  มีอาการออกจะโกรธๆ

3.  เสียงดังอย่างของหนักๆ ตกกระทบพื้นแข็ง


ไม่สนใจ แต่สำหรับภาษาเหนือแล้ว คำว่า “ตึง” ไม่ได้มีความหมายดังข้างต้นเลย แต่มีความหมายที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีความหมายได้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

1.  แปลว่า “อย่างไรก็” ความหมายนี้ นิยมใช้งานกันมากที่สุด เช่น

Advertisement

Advertisement

น้องตึงบ่สน (แปลว่า น้องอย่างไรก็ไม่สน)


ตึงเป๋นจะอั้น (แปลว่า อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น)


ตึงแม่นมันละ (แปลว่า อย่างไรก็ใช่มันล่ะ)


ตึงจะอี้สะรวด (แปลว่า อย่างไรก็อย่างงี้ตลอด)

เป็นแบบนี้ตลอดเลย
2.  แปลว่า “ทั้ง” เช่น

ตึงหมด (แปลว่า ทั้งหมด)

ตึงนั้น (แปลว่า ทั้งนั้น)

ตึงเดือน (แปลว่า ทั้งเดือน)

ตึงปี๋ (แปลว่า ทั้งปี)

ตึงเจ๊าตึงแลง (ทั้งเช้าทั้งเย็น)

สุดยอดทั้งนั้น
3.  แปลว่า “ทุก” เช่น


นำไปผสมกับคำว่า “วัน” กลายเป็นคำว่า “ตึงวัน” แปลว่า ทุกวัน


คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะ อย่าเห็นคำแปลว่า “ทุก” จึงนำไปผสมกับคำว่า “คน” เพื่อต้องการให้เป็นคำว่า “ทุกคน” นั้นไม่ได้ เพราะคำว่า ทุกคน ภาษาเหนือจะใช้คำว่า “กู้คน”


นอกจากความหมายข้างต้นแล้ว คำว่า “ตึง” ยังใช้เป็นลูกคำ ต่อท้ายคำว่า “สึ่ง” เพื่อเพิ่มระดับความแรงได้อีกด้วย


“สึ่ง” แปลว่า “โง่”

Advertisement

Advertisement


“สึ่งตึง” แปลว่า “โง่เง่า”


การใช้คำว่า “ตึง” ในประโยคคำพูดภาษาเหนือ จะไม่สามารถใช้วิธีเทียบความหมายจากคำแปลทั้งสามอย่างข้างต้น แล้วนำไปผสมกับคำต่างๆ แต่งเป็นประโยคคำพูดได้โดยตรง เพราะบางทีอาจจะผิดสำนวน หรือผิดรูปประโยคที่เขาไม่พูดกัน เนื่องจากคำนี้มีความหมายยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปตามคำแวดล้อม เช่น


ภาษาไทยกลาง ต้องการพูดว่า “สำหรับผม เอาอย่างไรก็ได้” ภาษาเหนือจะไม่พูดว่า “สำหรับผม เอาตึงได้” แต่จะพูดว่า “สำหรับผม เอาจะใดก่อได้”


ภาษาไทยกลาง ต้องการพูดว่า “ทั้งๆ ที่ไม่ใช่แฟน” ภาษาเหนือจะไม่พูดว่า “ตึงๆ ตี้บ่ใจ้แฟน” แต่จะพูดว่า “ทั้งๆ ตี้บ่ใจ้แฟน”


ภาษาไทยกลาง ต้องการพูดว่า “เป็นแบบนี้ทุกที” ภาษาเหนือจะไม่พูดว่า “เป๋นจะอี้ตึงเตื้อ” แต่จะพูดว่า “เป๋นจะอี้กู้เตื้อ”

ตึง ถือว่าเป็นคำลัด คำย่อ ดังนั้น ต้องเคยได้ยินหรือเคยเห็นเขาใช้กัน จึงค่อยใช้ตาม หากไม่ชำนาญการใช้ ควรเลี่ยงไปใช้คำแปลตรงๆ ของคำนี้แทนดีกว่า เช่น ใช้คำว่า “จะใดก่อ” (แปลว่า อย่างไรก็) หรือ “ทั้ง” หรือ “กู้” (แปลว่า ทุก) ในประโยคแทน เช่น

Advertisement

Advertisement


น้องจะใดก่อบ่สน (แปลว่า น้องอย่างไรก็ไม่สน) แทนคำว่า น้องตึงบ่สน


จะใดก่อเป๋นจะอั้น (แปลว่า อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น) แทนคำว่า ตึงเป๋นจะอั้น


มีก้าคนงามทั้งนั้น (แปลว่า มีแต่คนงามทั้งนั้น) แทนคำว่า มีก้าคนงามตึงนั้น


เป๋นแบบนี้กู้วัน (แปลว่า เป็นแบบนี้ทุกวัน) แทนคำว่า เป๋นแบบนี้ตึงวัน

เป็นต้น

อู้เหนือไม่ถนัด แต่อู้งานถนัดมากเจ้า


เสริมความรู้


ตึง ในภาษาเหนือ ยังเป็นชื่อเรียกของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาคกลางจะเรียกว่า ต้นยางพลวง ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 20-30 เมตร เปลือกหนาสีน้ำตาล ใบมีขนาดใหญ่คล้ายใบต้นสัก สามารถใช้ห่อยาสูบ ห่อข้าวเหนียว หรือมุงหลังคาได้ บางทีเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า ต้นตองตึง สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีต้นตึงขึ้นหนาแน่นและมีชื่อเสียง ได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีทิวทัศน์สวยงาม รายล้อมไปด้วยร้านอาหาร และการจัดกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ


คำว่า ห้วยตึงเฒ่า หมายถึง ห้วยที่มีต้นตึงมีอายุเก่าแก่


ไม่ได้แปลว่า ห้วย ยังไงก็ แก่ นะจ๊ะ ^^”


ภาพประกอบ : วาดโดยผู้เขียน

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์