อื่นๆ
มนุษย์ลุงป้า-มีได้ในทุกวัย

ภาพโดย Morris Sneor จาก Pixabay
ปรากฏการณ์ มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง เกิดขึ้นในราว ๆ พ.ศ. 2557 ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้บัญญัติ ‘ศัพท์เฉพาะ’ ซึ่งมีความหมายในแง่เสียดสีคำนี้ขึ้น แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากข่าวบางพฤติกรรมของผู้คนในสังคมเวลานั้น
ผมลองค้น พบในบทความของนายแพทย์กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล ชื่อเรื่อง ‘มนุษย์ลุงและมนุษย์ป้า’ https://www.thairath.co.th/content/429502
และมีผู้บันทึกลงในพจนานุกรม https://dictionary.sanook.com/ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 ให้ความหมายของคำว่า มนุษย์ป้า ว่า มนุษย์ป้า (คำนาม) สิ่งมีชีวิตเพศหญิง อายุ 40 ปีขึ้นไป ชอบเอาเปรียบคนธรรมดาทั่วไปโดยอาศัยความอาวุโส
เดิมที คำว่ามนุษย์ มีความหมายค่อนข้างดี แปลว่า ผู้มีใจสูง คือถ้าเปรียบเทียบระดับความหมายระหว่าง มนุษย์ กับ คน มนุษย์ดีกว่าคน ผมคิดว่า คน เหมือนเด็กอนุบาล ส่วนมนุษย์ เหมือนเด็กที่กำลังจะขึ้นชั้นประถม
Advertisement
Advertisement
และความหมายที่ค้นได้ด้วยกูเกิ้ล มนุษย์ คือ สัตว์ที่รู้จักคิดเหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน ติ๊งต่างเอาว่า ผู้บัญญัติศัพท์ ‘มนุษย์ป้า’ ขึ้นเป็นกลุ่มแรก ๆ ก็มาจากสื่อโซเชียลนี่เอง เพราะโซเชียลค่อนข้างให้ความสนใจในแง่มุมพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เอาจริง ๆ ความหมายมนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง ไม่ได้เสียดสีถึง ‘อายุ’ แต่เสียดสีถึง ‘พฤติกรรม’ แสดงออกในแง่ของความเห็นแก่ตัวมากกว่า
นอกจากคำว่า มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง ถ้าหากจะมี มนุษย์เด็ก เพิ่มเข้าไปอีกสักคำจะเป็นไรไป ความหมายของคำว่า มนุษย์เด็ก ก็คือยังคงความเป็นเด็ก ลักษณะพฤติกรรมเช่นกรณีมีข่าวว่า ปล่อยให้เด็กเล่นในร้านอาหารรบกวนโต๊ะอื่น ซึ่งต้องเข้าใจว่า ต่อให้เป็นเด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนรักคนเอ็นดูไปเสียทั้งหมด บางคนอาจจะไม่ชอบถึงขั้นรังเกียจไปเลยก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่วัยใด ถ้าเอาแต่รักษาสิทธิ์ของตัวเอง เอาแต่ความพึงพอใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วก้าวล่วงสิทธิ์ของผู้อื่น ก็เข้าข่ายในความหมายเสียดสีได้เช่นกัน
Advertisement
Advertisement
ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay
ผมเพิ่งเห็นคลิปวิดีโอในเฟซบุ๊กคุณJarinya Hall Saksiri เด้งมาในฟิดข่าวที่ถ่ายทอดถึงบางพฤติกรรม ในคลิปสาวสวยรี่เข้าไปหาชายหนุ่มที่กำลังก้าวไปที่รถยนต์ของเขา ท่าทางของหญิงสาวเหมือนจะปลื้มชายหนุ่ม เธอยื่นจดหมายน้อยให้เขาพร้อมกับพูดอย่างเขิน ๆ ว่า
พี่คะ หนูแอบมองพี่หลายวันแล้วนะคะ อ่านเลยก็ได้ค่ะ
ชายหนุ่มเปิดจดหมายอ่าน ข้อความว่า หายไว ๆ นะคะ
ชายหนุ่มมองอย่างประหลาดใจแล้วพูดว่า ผิดคนหรือเปล่าครับ พี่สบายดี
หญิงสาวสวนทันทีว่า
“นิสัยน่ะค่ะ”
เพราะรถของเขาจอดอยู่ในช่องจอดผู้พิการ
‘นิสัย’ จึงมีความหมายไปในทางเสียดสีแบบเดียวกับ มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า นิสัยดี หรือนิสัยไม่ดี เพียงแค่ใช้น้ำเสียงเน้น ๆ หน่อยเท่านั้น
โดยสรุป ความเป็นมนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง จัดเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นศุนย์กลางของจักรวาล พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นในหมู่คนวัยกลางคนเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย
Advertisement
Advertisement
ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเพียงแค่ลดความต้องการของตัวเองลง ยอมเสียเปรียบบ้างอะไรบ้าง ก็ยังดีกว่าการถูกตราหน้าว่าเป็นมนุษย์นิสัยลุงนิสัยป้าเป็นไหน ๆ
หรือคุณคิดว่ายังไงบ้างกับบทความนี้?
ความคิดเห็น
