อื่นๆ
แชร์ประสบการณ์การทำงานที่สวีเดน
หลาย ๆ คน คงอยากมีโอกาสไปลองทำงานที่ต่างประเทศ อาจจะด้วยเหตุผลอยากหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่เบื่อเหนื่อยกับหลาย ๆ อย่างในประเทศตัวเอง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การได้ไปลองทำงานที่ต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ดี ที่อย่างน้อยก็ได้เปิดโลกใหม่ให้เรา ให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เราเคยได้เจอะเจอมา
ทั้งนี้จะเปรียบเทียบว่าที่ใด ดีกว่าที่ไหน อาจจะเป็นเรื่องความชอบ และทัศนคติส่วนบุคคล เช่นถ้าเราจะตัดสินด้วยเรื่องค่าแรง ที่ต่างประเทศก็อาจจะดีกว่า แต่ถ้าเราจะยึดครอบครัวเป็นหลัก เราไม่ต้องการจากครอบครัวไปไหนไกล ๆ เพราะสิ่งนั้นอาจจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ จนอาจทำให้เราไม่มีความสุขในชีวิต เราก็อาจต้องเลือกที่จะทำงานที่เมืองไทยต่อไป ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง ว่าชีวิตเราต้องการอะไร และอะไรมีค่าที่สุดสำหรับตัวเรา บทความนี้เป็นมุมมอง และ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนโดยเฉพาะที่ผู้เเขียนอยากแบ่งปันมุมมองที่แตกต่างออกไป
Advertisement
Advertisement
รายได้
ค่าแรงของประเทศสวีเดน ก็ถือว่าไม่มากและไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ ในประเทศแถบยุโรป โดยความแตกต่างของรายได้จะค่อนข้างน้อย นั่นก็หมายความว่า หากเราทำงานทั่ว ๆ ไป ก็อาจจะมีรายได้พอ ๆ กับอาชีพอื่น ๆ ที่อาจจะต้องใช้เวลาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
ซึ่งจากข้อมูลสถิติ รายได้เฉลี่ยก่อนภาษีของคนสวีเดนอยู่ที่ประมาณ 36,000 โครน ( หรือเทียบเท่าประมาณ 126,000 โดยเทียบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 3.5 บาท ต่อ 1 โครน ) และรายได้หลังหักภาษีอยู่ที่ประมาณ 24,000 -25,000 โครน หรือคิดเป็นประมาณ 84,000 - 85,000 บาทต่อเดือน อัตราภาษีที่ต้องจ่ายตั้งแต่ประมาณ 29 – 35 % ขึ้นอยู่กับเขตที่เราอยู่อาศัย และรายได้รวมทั้งปี เพราะหากรายได้รวมมากจนเกินไป เราก็จำเป็นต้องจ่ายภาษีให้เขต และส่วนที่เกินออกไปเราต้องเอาไปคำนวณจ่ายภาษีให้รัฐอีกด้วย เรียกง่าย ๆ ก็คือถ้าคุณมีรายได้เกินเกณฑ์คุณก็อาจจะจ่ายมากกว่า 35 % สำหรับผู้เขียนที่มีรายได้ประมาณไม่เกิน 500,000 โครนต่อปี ผู้เขียนก็จ่ายแค่ภาษีให้เขตประมาณเกือบ ๆ 35 เปอร์เซ็นต์
Advertisement
Advertisement
วันหยุด และวันพักร้อน
ประเทศสวีเดน จัดว่าเป็นประเทศที่มีวันลาพักร้อนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในยุโรป โดยประเทศสวีเดน มีวันลาพักร้อนตั้งแต่ 25-35 วัน และในช่วงที่ลาพักร้อนบริษัทมักจะจ่ายเงินเพิ่มให้ประมาณ 12.5% ของรายได้ช่วงวันลาพักร้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่เราทำงาน เพราะบางหน่วยงานอาจจะพยายามหลบเลี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินส่วนนี้ให้พนักงาน
ในกรณีของผู้เขียนเป็นลูกจ้างของเขต ได้วันลาพักร้อนทั้งหมด 31 วันต่อปี ในขณะที่บางคนที่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนทั่วไป (ที่ไม่ใหญ่มาก) อาจจะได้วันพักร้อนประมาณ 25 วันต่อปี และพนักงานมีสิทธิ์จะขอพักร้อน 4 อาทิตย์ติดต่อกันช่วงเดือน มิถุนายน – เดือนสิงหาคมโดยนายจ้างไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธลูกจ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง
Advertisement
Advertisement
ถึงแม้สวีเดนจะมีวันลาพักร้อนค่อนข้างมาก แต่สวีเดนก็ไม่ได้มีวันหยุดบ่อย ๆ แบบไทย จะมีวันหยุดยาว ๆ ก็แค่ช่วงอีสเตอร์ คริสมาสต์ หรือปีใหม่ แต่หากวันหยุดเหล่านั้นตรงกับวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ก็ไม่มีวันชดเชยเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเทียบกับไทย ที่มีทั้งวันหยุดทั้งปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันสำคัญทางศาสนาและอื่น ๆ อีกมากมาย รวม ๆ วันหยุดทั้งปี ก็อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แตกต่างก็เพียงแค่เค้าหยุดยาว ๆ แต่ของไทยหยุดแบบน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
สวัสดิการด้านเงินเกษียณอายุ
คนที่มีรายได้ทุกคนในประเทศสวีเดนต้องมีหน้าที่จ่ายภาษี เพราะเงินภาษีที่จ่ายเข้าไป จะนับรวมทั้งเงินที่จะนำไปบริหารประเทศ และเงินเกษียณในอนาคตด้วย ซึ่งรัฐจะหักเงินส่วนหนึ่งเข้าไปไว้ในกองทุนเกษียณอายุ และจ่ายคืนให้เมื่อครบอายุเกษียณนั่นก็คือ 67 ปี ในส่วนนี้ถ้าเทียบกับไทยก็น่าจะเป็นส่วนของประกันสังคม
ถัดมาอีกอย่างคือเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่บริษัทหักสมทบให้ทุก ๆ เดือน ตรงส่วนนี้ขึ้นอยู่ว่าเราทำงานกับบริษัทอะไร เพราะบางบริษัทก็ไม่มีการสมทบให้พนักงาน โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าส่วนนี้ไม่ได้แตกต่างจากไทยมากนัก เพราะหากเป็นองค์กรณ์ใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ก็มีการสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานทุก ๆ ปี แต่ถ้าเราทำงานในองค์กรที่ไม่ใหญ่มากนัก เราก็อาจจะไม่มีมีเงินส่วนนี้
สังคมการทำงาน
การทำงานที่สวีเดนจะมีเวลาให้พนักงานพักเบรค และกินกาแฟช่วงบ่ายประมาณ 15 นาที แต่บางครั้งผู้เขียนก็รวบพักทานอาหารกลางวัน 45 นาทีเลยทีเดียวเพราะไม่ชินกับการกินกาแฟช่วงบ่าย เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับช่วงกลางคืน
สังคมการทำงานของสวีเดน คือค่อยเป็นค่อยไป คนสวีเดนส่วนใหญ่จะไม่ชอบเผชิญหน้า และไม่ชอบความขัดแย้ง ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนมองว่าจะมีความคล้ายสังคมการทำงานของบ้านเรา โดยเฉพาะถ้ามีการประชุม คนสวีเดนส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบ ไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ
นิสัยคนสวีเดนส่วนใหญ่ คือจะเงียบ ๆ และ ไม่โหวกเหวก ดังนั้นหากเราต้องไปร่วมงานกับคนสวีเดน เราอาจจะรู้สึกว่าทำไมเค้าเงียบ เค้าไม่ชอบหน้าเราหรือเปล่า หรือเค้าไม่อยากคุยกับเรา ซึ่งผู้เขียนก็เคยรู้สึกแบบนั้นมาก่อน แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกัน ก็สัมผัสได้ว่าเป็นนิสัยของคนสวีเดน คือเค้าจะสังเกตุการณ์ก่อนแล้วค่อยสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ผู้เขียนจำได้ในวันที่เริ่มทำงานกับคนสวีเดนครั้งแรก เมื่อผู้เขียนชวนเค้าคุย เค้าก็ถามคำ ตอบคำ จนทำให้เรารู้สึกอึดอัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง เราก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนถึงทุกวันนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงาน และรู้จักกับบุคลลหลากหลาย ทำให้เราสัมผัสได้ว่า คนแต่ละชาติ จะมีลักษณะบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างกันไป
ทุกวันนี้การไปทำงานที่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะใคร ๆ ก็สามารถส่งใบสมัคร และสัมภาษณ์งานผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก่อนมีการตกลงร่วมงานกันอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อทุกอย่างมันง่ายขึ้น ก็ทำให้เกิดการไหลของแรงงานทั่วโลกมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากเดิมที่เราอาจจะต้องแข่งขันเฉพาะกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เราก็อาจจะจำเป็นต้องแข่งขันในระดับเวทีโลกมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้เขียนก็คิดว่าโอกาสมีสำหรับทุก ๆ คน ขอแค่เรามีความฝัน และความสามารถ อะไรก็เกิดขึ้นได้ และเป็นไปได้
ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ
ขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คน
เครดิตภาพปก canva
ภาพที่ 1- 4 โดยผู้เขียน
เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น