ไลฟ์แฮ็ก
3 เคล็ดลับก่อนเริ่มวิ่ง Mini Marathon ครั้งแรก!

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้เรามากับเรื่องราวดี ๆ ที่เกี่ยวกับ 'การวิ่ง' ค่ะ บอกก่อนเลยว่าเราไม่ใช่นักวิ่งมืออาชีพ แต่เราเพิ่งมาตกหลุมรักการวิ่งอย่างจริงจังเมื่อสองปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ เรื่องเกิดจากว่ามีเพื่อนสนิทของเราชวนให้เราไปวิ่ง Mini Marathon ระยะทาง 10 กิโลเมตร ฟังครั้งแรกก็หูผึ่งเลยค่ะและยังไม่เข้าใจว่า 10 กิโลเมตรนี่มันไกลขนาดไหนกันนะ? ในชีวิตก็ไม่เคยวิ่งจริงจังมาก่อน มากสุดก็คือเดินทางไกลค่ายลูกเสือ แต่ท้ายที่สุดเราก็ผ่านสนามแรกมาได้อย่างปลอดภัยดี แถมทำเวลาได้ดีอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากนำ 3 เคล็ดลับเตรียมตัวก่อนลงวิ่ง Mini Marathon มาฝากกัน เผื่อว่าใครยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเริ่ม อ่านจบแล้วรับรองว่าจะต้องเปลี่ยนใจลงวิ่งทันทีเลยค่ะ
01: ซ้อมไม่ต้องหนัก และต้องพักให้พอ
ช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนก่อนที่เราจะลงงานวิ่ง เราก็มีออกกำลังกายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่จริงจัง แต่พอเราสมัครงานวิ่งปุ๊บ เหมือนใจมันสั่งอัตโนมัติว่าแกต้องมาฝึกซ้อมแล้วนะ เราเลยศึกษาจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เขาวิ่งกันเป็นประจำว่า การวิ่งคือการคาร์ดิโออย่างหนึ่ง ดังนั้นเราต้องทำให้หัวใจเราแข็งแรงก่อน เราเริ่มซ้อมวิ่งแบบ Outdoor ในสวน เริ่มที่ 5 กิโลเมตรก็หอบรับประทานแล้วค่ะ จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยก่อนวิ่งจะต้องทำการวอร์มร่างกาย อันนี้สำคัญมากนะคะ ไม่งั้นคุณจะบาดเจ็บได้ และหลังจากวิ่งเสร็จต้องมีการคูลดาวน์ทุกครั้งค่ะ แต่สิ่งที่เราว่าสำคัญที่สุดเลยก็คือการไม่หักโหมจนเกินไป คือเราไม่จำเป็นต้องซ้อมวิ่ง 10 กิโลเมตรทุกวันนะคะ ร่างกายมันจะล้าเกินค่ะ สำหรับเราแล้ว เราพยายามฝึกให้หัวใจแข็งแรงและทนทานขึ้น จากนั้นเราจะใช้เวลาในการพักผ่อน กินอาหารดี ๆ ซ่อมแซมร่างกาย แล้วนอนให้พอค่ะ แค่นี้ก็มีแรงไปลุยวันจริงแล้วค่ะ
Advertisement
Advertisement
Photo by Matthew LeJune on Unsplash
02: ศึกษาสนาม เส้นทาง จุดปล่อยตัว และเส้นชัย
อันนี้สำคัญม๊ากกก (เสียงสูงปรี๊ด) เพราะเราเห็นหลายคนมาตกม้าตายเพราะไม่ได้ศึกษาเส้นทางนี่แหละ การที่เรารู้เส้นทางจะทำให้เราวางแผนเวลา และการเดินทางได้อย่างพอดี และทำให้เรารู้ว่าแต่ละด่านเราจะผ่านจุดไหน ปล่อยตัวกันตรงไหน เสมือนการเตรียมทำการบ้านก่อนซ้อมรบมาให้พร้อม ฝากของกันให้เรียบร้อย ไม่ใช่วิ่งไปถือทั้งโทรศัพท์ กุญแจรถ บัตรจอดรถ แบบนี้คงทำเวลาอย่างที่ตั้งใจไว้ไม่ได้แน่นอน และการศึกษาทางก็ยังช่วยให้เรากะเวลาและการวิ่งของเราได้ด้วย ว่าเราจะเริ่มสปีดของเราช่วงเวลาไหนเพื่อให้เข้าเส้นชัยตามเป้าที่กำหนด เพราะว่าในสนามจริงคนจะเยอะมาก และส่วนใหญ่จะปล่อยตัวกันตั้งแต่เช้ามืด ทำให้ไม่ค่อยเห็นทาง การศึกษาเส้นทางคือเรื่องสำคัญที่นักวิ่งหน้าใหม่ทุกคนไม่ควรมองข้ามเลย
Advertisement
Advertisement
Photo by Steven Lelham on Unsplash
03: ไม่ไหวบอกไหว
อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวที่ใครจะนำไปใช้ก็ไม่ว่ากันนะคะ คือว่าระยะทางวิ่ง 10 กิโลเมตรเนี่ย มันจะมีจุดท้อประมานกิโลเมตรที่ 5-6 นี่แหละค่ะ เพราะว่าวิ่งมาตั้งนานคิดว่าก็คงใกล้ถึงแล้วแหละ แต่พอเงยหน้าดูป้าย นี่ฉันเพิ่งวิ่งไปได้ 5 กิโลเมตรเองหรอเนี่ย? อยากร้องไห้ ขานี่ล้าไปหมด เหงื่อไหลปิดตาจนมองไม่เห็นทาง ใจนี่บอกว่าหยุดเหอะ กลับเหอะ เดินเหอะ แกจะวิ่งไปทำไมให้เหนื่อย ไกลขนาดนี้แกนั่งรถไหม แต่อย่าไปฟังเสียงพวกนั้นค่ะ แม้ว่ามันจะดังขึ้นในหัวเราเป็นระยะ ๆ ให้เรายอมแพ้ แต่เคล็ดลับเราคือ ฉันจะชนะแกให้ได้ไอ้เจ้าความท้อ เพราะจริง ๆ แล้วไหวไม่ไหวมันอยู่ที่ใจค่ะ ร่างเราไหวอยู่แล้ว มีแต่ใจเรานี่แหละที่จะบอกให้ถอย ลุยไปเลยค่ะ ผ่านช่วงระยะ 5-6 กิโลเมตรไปให้ได้แล้วคุณจะขอบคุณตัวเองมากที่อดทนจนเข้าเส้นชัยได้
Advertisement
Advertisement
Photo by Thomas Dils on Unsplash
จริง ๆ แล้วสาเหตุที่เราตกหลุมรักการวิ่ง เพราะการวิ่งเป็นเครื่องมือทดสอบความอดทน สติ และการเอาชนะใจตัวเองที่ดีเยี่ยม ระยะทางต่างเปรียบเสมือนเส้นทางในชีวิตที่เราต้องวิ่งไป บางคนท้อล้มเลิกกลางคัน บางคนเดินหน้าต่อ บางคนหยุดพัก บางคนเปรียบเทียบตัวเองกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ ตลอดเวลา คุ้น ๆ ไหมคะว่าสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนชีวิตจริงไม่มีผิด คนที่วิ่งเข้าเส้นชัยไม่ใช่คนที่วิ่งเก่งที่สุด แต่กลับเป็นคนที่เตรียมพร้อมมาอย่างดี และมีใจที่ต่อสู้ต่างหาก การวิ่งเพียงแค่ 1 ครั้งก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรได้เยอะทีเดียว เราการันตีเลยว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณวิ่งเข้าเส้นชัย พลังแห่งความสุข ความรัก ความภาคภูมิใจในตัวเองจะถาโถมเข้ามาอย่างมหาศาล แล้วชีวิตคุณก็อาจจะเปลี่ยนไปเพียงแค่การลงวิ่งแค่ครั้งเดียว ขอให้ทุกคนวิ่งให้สนุกนะคะ :)
ความคิดเห็น
