ไลฟ์แฮ็ก
8 ปัญหาหลักของนักเขียนมือใหม่ รับมือยังไง ถึงจะสำเร็จ!

กว่าจะอ่านหนังสือจบเล่มนึงก็ว่านานแล้ว กว่าจะเขียนหนังสือจบเล่มนึงนานยิ่งกว่า... การเป็นนักเขียนบทความ สารคดี นวนิยาย ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแต่จะต้องใช้ความเพียรพยายามและความรักในการเขียน เพราะกว่าจะเขียนเสร็จแต่ละงานย่อมใช้เวลาพอสมควร รวมทั้งยังต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย หลัก ๆ เลยก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
หลังจากเคยเป็นมือใหม่ เขียน ๆ เลิก ๆ อยู่นานหลายปี ทำให้เราค้นพบแนวทางในการรับมือกับอุปสรรค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเขียน จากประสบการณ์ตรงที่ใช้ได้ผลจริงกับตัวเอง วันนี้เลยอยากเอาเทคนิคมาแบ่งปันกับทุกคน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง
มาดูกันเลยว่า 8 ปัญหาหลัก ๆ ของนักเขียนมือใหม่มีอะไรบ้าง และเราจะตั้งรับมันอย่างไร ยิ่งแก้ได้ไว ยิ่งสำเร็จเร็ว!
1. คิดเยอะไป
นักเขียนทุกคนล้วนมีไอเดียที่อยากเขียนอยู่ในใจ แต่ใช้เวลาคิดมากไป มัวแต่จินตนาการ วางแผนการเขียน นั่งคิด นอนคิดทั้งวัน สุดท้ายพอถึงเวลาจับปากกาก็เขียนไม่ออก จนรู้สึกเหนื่อยล้าและถอดใจในที่สุด พวกเราพบปัญหานี้บ้างไหม?
Advertisement
Advertisement
วิธีรับมือ : ลงมือเขียนไปเลย ไม่ต้องคิดมาก ! อย่างไรเสียสิ่งที่เราจะเขียนก็มีแต่ตัวเราเองที่รู้ อาจเป็นเรื่องเล่า ประสบการณ์ ความทรงจำของเราเอง ถ้าเราไม่เขียน สิ่งที่เราคิดก็จะเป็นได้แค่ไอเดียหนึ่งที่ถูกเก็บไว้ แต่ถ้าเราลงมือทำ อย่างน้อยผลลัพธ์ที่ได้มาก็เป็นประโยชน์กับตัวเอง คือ เราได้ฝึกฝนฝีมือ ได้เกฺ็บไว้อ่านเล่นและเตือนสติตัวเอง หรือถ้าหากผู้อื่นได้อ่านงานเขียนของเรา ก็ยิ่งเป็นผลพลอยได้ ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขาด้วย
รูปภาพจาก Unsplash
2. คิดใหญ่ไป
นักเขียนหลายคนชอบวางพล็อตเรื่องที่จะเขียนใหญ่เกินไป ฉันต้องเด่น ต้อนปัง! ดังกว่า J.K.Rowling (นักเขียนเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์) ชั่วข้ามคืนให้ได้ ดังนั้นฉันต้องคิดการใหญ่ แรก ๆ ก็ทำได้อยู่หรอก วางแผนตัวละครเป็นร้อยเป็นพันตัว วางโครงเรื่อง แบ่งพาร์ทแบ่งตอนออกเป็นหลายสิบภาค แต่พอจะต้องเริ่มเขียนตอนแรกจริง ๆ ก็ตันเสียแล้ว
Advertisement
Advertisement
ไหนจะต้องเชื่อมโยงไปตอนต่อไปอีก "ตายแล้ว! ชื่อเพื่อนตัวเอกฉันยังคิดไม่ออกเลย เห้อ! พักก่อนแล้วกัน ลองไปเขียนเรื่องที่สั้นลงมาหน่อยดีกว่าเรา..." แต่พอเริ่มเรื่องใหม่ ก็คิดการใหญ่อยู่ดี แล้วก็ขว้างทิ้ง สุดท้ายก็วนเป็นวงจรอยู่อย่างเดิม ไม่ได้ผุดได้เกิดกันสักทีชิ้นงาน
วิธีรับมือ : เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้น ๆ พล็อตเรื่องเล็ก ๆ ก่อนให้สำเร็จ แล้วเราค่อยไต่เต้าขึ้นไปสู่งานที่ใหญ่ขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการฝึกฝน พัฒนาฝีมือตนเองไปเรื่อย ๆ สักวันเราก็จะมีประสบการณ์มากพอ รู้เทคนิควิธีการผูกโครงเรื่อง ดำเนินเรื่อง การสร้างตัวละครยังไงให้มีมิติมากยิ่งขึ้น และเราก็จะค้นพบแนวทางของตัวเราด้วยว่าเราเหมาะกับงานเขียนสไตล์ไหน ทุกอย่างต้องใช้เวลาฝึกฝน เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ
3. เขียนไปแก้ไป
นักเขียนส่วนใหญ่มีพรสวรรค์ทางด้านภาษา แต่บ้างก็มัวแต่นั่งสรรคำ แต่งคำให้ไพเราะ เขียนไปแก้ไปตลอดเวลา เขียนหนึ่งบรรทัดอ่านซ้ำและแก้คำ เขียนไปได้สามบรรทัดอ่านซ้ำและแก้คำ ทำวน ๆ อย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ ไป ๆ มา ๆ ก็จะให้รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้จะเขียนอะไรต่อ สะสมมากเข้าก็จะกลายเป็นความเครียดนะเออ!
Advertisement
Advertisement
วิธีรับมือ : เขียนไปก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ทีหลังก็ได้ งานเขียนของเราใช่ว่าจะต้องรีบเร่ง เขียนเสร็จแล้วต้องส่งตีพิมพ์ในวันนั้นเลยซะเมื่อไหร่ ถึงอย่างไรพอเราเขียนเสร็จแล้ว ร้อยทั้งร้อยก็ต้องมานั่งย้อนอ่านงานตัวเองอยู่ดี ดังนั้นเราควรเปลี่ยนวิธีเสียใหม่ ด้วยการเขียนให้เสร็จไปก่อน หนึ่งบท หนึ่งหน้า หรือยาวเท่าไรก็ได้ที่เรากำหนดไว้ แล้วค่อยไล่กลับมาเกลาภาษาให้สละสลวย และลองอ่านดูว่าภาษาที่เราใช้เข้าใจไหม จับใจความได้ไหม อ่านสนุกไหม แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ลองเอาเทคนิคนี้ไปใช้ดูนะ
ภาพจาก Unsplash
4. ไม่กำหนดเวลาในการเขียน
นักเขียนมือใหม่ มือเก่า หรือมือโปร ก็ล้วนประสบปัญหานี้ได้ทั้งนั้น นั่นคือการไม่กำหนดเวลาในการทำงานเขียน มัวแต่นั่งคิดนั่งเครียดทั้งวัน บ้างเขียนได้เยอะ บ้างเขียนไม่ได้เลย จนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ข้าวปลาน้ำท่าก็ไม่กิน ไม่ลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่พบปะพูดจากับใคร นาน ๆ เข้าจะทำให้เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจ และรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวได้ในที่สุด
หรือบางคนก็ไม่กำหนดเวลาส่งงาน ไม่มีขอบเขตของเวลา ว่างานชิ้นนี้จะใช้เวลาเขียนเท่าไหร่ ทำให้เกิดปัญหาที่ว่า "เขียนงานเดียว สองสามปีก็ยังไม่จบ" ฟังดูน่าเหนื่อยใจนะ กับการทำสิ่งเดียวตลอดหลายปี อย่าเป็นแบบนี้กันเลย ชีวิตเรามันสั้นนะ
วิธีรับมือ : ต้องวางแผนการเขียนกับตารางชีวิตของตัวเองให้ลงตัว รวมถึงต้องกำหนดวันส่งงานด้วย (หมายถึงส่งให้ตัวเองอ่านก็ได้) ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง เราสามารถแบ่งได้ว่าเราชอบเขียนช่วงไหน เวลาใดของวัน อาจเป็นช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน สักครึ่งชั่วโมง ลองดูซิว่าจะเขียนได้เยอะขนาดไหน แล้วค่อยกลับมาแก้ภาษาในภายหลังก็ได้
หรือถ้าเราต้องไปทำงาน เราอาจจะสละเวลาก่อนนอนสักครึ่งชั่วโมง สำหรับคนที่เริ่มต้นไม่ต้องเยอะมากก็ได้ หรือถ้าเรามีความสุขกับการนั่งเขียนไปเรื่อยเปื่อย สักชั่วโมง สองชั่วโมง ก็แล้วแต่เราเลย สิ่งสำคัญคือต้องระลึกไว้ว่า ชีวิตเรามีอะไรให้ทำมากมาย เราเองก็เป็นอะไรได้หลายอย่าง อย่าจำกัดตัวเองให้ทำอะไรอย่างเดียวเลย ทุกข์เปล่า ๆ
5. ผลัดวันประกันพรุ่ง
นักเขียนบางคน ชอบอ้างเหตุผลให้ตัวเองเวลาที่ไม่ลงมือเขียน เช่น "เพราะอากาศร้อนไม่มีอารมณ์ ต้องอาบน้ำก่อน", "เพราะในห้องมันอึดอัด ต้องไปเขียนที่ร้านกาแฟ", "เพราะทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ไว้เขียนวันหยุดแล้วกัน" หรือ "หยุดทั้งทีอยากทำอะไรที่ผ่อนคลาย ไว้ก่อนแล้วกัน..." มัวแต่ไว้ก่อน ๆ ๆ ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้เริ่มเขียนสักที งานก็ไม่มีวันเสร็จ
วิธีรับมือ : เมื่อเราตัดสินใจกับตัวเองว่าเราจะทำงานเขียน มันต้องกลายเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต จะเลี่ยงทำไม่ได้เด็ดขาด ! ความสำคัญของมันเหมือนกับการต้องกินยาระงับเบาหวาน การไปทำงาน หรือการโทรคุยกับแฟน ไม่โทรไม่ได้ ! เพราะเราเลือกแล้วนี่ว่าเราจะคบกับแฟนไปจนแต่งงาน งานเขียนก็เช่นกัน !
เราแน่วแน่แล้วว่าเราจะเขียนไปจนเสร็จ เราก็ต้องแบ่งความสำคัญให้กับมันด้วย แบ่งเวลาสัก 15 นาที ครึ่งชั่วโมงต่อวัน นั่งเขียน นอนเขียนในโทรศัพท์ก็ได้ วันละนิด วันละหน่อย แล้วมันก็จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเราไปเอง
ภาพจาก Unsplash
6. กลัวความคิดเห็นของผู้อ่าน
นักเขียนบางคนก็กลัวคำวิจารณ์ ชอบคิดถึงตอนที่เขียนเสร็จและเผยแพร่ผลงาน (ทั้ง ๆ ที่ความจริงยังไม่ได้เริ่มเขียน) ตอนแรกก็มุ่งมั่นอยากจะลองเขียนแนวที่ตัวเองสนใจ เช่น อยากเขียนแนวโรงเรียนเวทมนต์ แบบฮอกวอตส์ แต่พอคิดไปคิดมาก็กลัวว่า "คนอ่านจะหาว่าเราเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ไหมนะ", "จะชอบตัวละครของเรามั้ยนะ" หรือ "จะอ่านสนุกไหมนะ" สุดท้ายก็เลยล้มเหลว ไม่เขียนมันซะเลยดีกว่า ไอเดียนี้น่าจะไม่เวิร์คแน่ ๆ
วิธีรับมือ : ให้นึกถึงเจตนาที่เราอยากเขียน เราเริ่มทำมันเพราะอะไร ? เราเขียนเพราะเรามีความสุข เราเบื่อนิยายคนอื่น เราอยากมีเรื่องสั้นของตัวเองไว้อ่านเล่น หรือเพราะเราอยากเขียนเล่าประสบการณ์ตัวเอง อยากแบ่งปันข้อคิดให้กับผู้อ่าน จะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่เราต้องไม่ลืมมัน ดังนั้นถ้าคนที่เขาอ่านแล้วไม่ชอบงานเรา หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่ดี เราก็แค่ยอมรับและขอบคุณ (อย่างน้อยเขาก็อ่านจนจบ แสดงว่างานเราก็ไม่ถึงกับย่ำแย่จนทนอ่านไม่ได้)
เราต้องยอมรับสัจธรรมของโลกที่ว่า "มีคนรัก ก็ย่อมมีคนเกลียด" เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นดีเห็นชอบกับเราไปซะทุกอย่างได้หรอก แม้แต่คนที่รักเราอย่างพ่อแม่หรือแฟนยังไม่เห็นดีเห็นงามกับเราทุกอย่างเลยจริงไหม เพราะฉะนั้นเราแค่ทำสิ่งที่เราอยากทำให้ดีที่สุดก็พอ
7. ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
นักเขียนทุกคนล้วนอยากให้ผลงานของตัวเองออกมาดี ประสบความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่าน ผลงานงานต้องโด่งดัง ปังเป๊ะ ได้รับคำชมล้นหลาม ก็เลยคิดว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ บทพูดต้องเด็ด ตัวละครต้องสมจริง เนื้อหาต้องมีสาระให้ข้อคิดแง่คิด ภาษาต้องไพเราะเสนาะหู ทุกอย่างต้องเพอร์เฟ็ค แล้วพอเราเขียนออกมาไม่ใกล้เคียงที่ว่า ก็อยากฉีกมันทิ้งและเลิกล้ม
วิธีรับมือ : ทำใจยอมรับว่า ไม่มีความสมบูรณ์แบบอยู่บนโลกใบนี้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นลักษณะของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต อาทิ กล้วย เป็นผลไม้ที่มีหลายสายพันธ์ุ บ้างทรงกลมยาว บ้างทางเรียวเล็ก รสชาติก็แตกต่างกัน แต่พันธ์ุไหนล่ะที่อร่อยที่สุด ? พันธ์ุไหนที่มีรูปทรงสมบูรณ์ที่สุด ? คำตอบคือ "ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง" เพราะถ้าถามฝรั่ง อาจตอบกล้วยหอม ถามคนไทยอาจตอบกล้วยน้ำว้า ไม่มีรสชาติและรูปทรงไหนที่สมบูรณ์แบบ
งานเขียนของเราก็เช่นกัน งานเขียนของคนอื่นก็เช่นกัน มันไม่มีงานชิ้นไหนที่สมบูรณ์แบบ อันเป็นที่รักที่ชอบของทุกคนไปเสีนหมด บางคนอ่านเรื่อง แวมไพร์ม ทไวไลท์ แล้วคิดว่าเป็นนิยายรักโรแมนติกอันดับต้น ๆ แต่บางคนอาจคิดว่าเป็นแค่นิยายรักทั่วไปก็ได้ อย่าได้แคร์ความสมบูรณ์แบบ เพราะมันไม่มีกฏเกณฑ์ที่ชี้วัดตายตัว ขึ้นอยู่ที่ความคิดเห็นของแต่ละคน
ภาพจาก Unsplash
8. ไม่มีความสุขกับการเขียน
ข้อนี้นับว่าเป็นอุปสรรค์ใหญ่ที่สุดที่นักเขียนต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการคิดเยอะเกินไป ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากไป กลัวคำวิจารณ์มากไป ต่าง ๆ นานา ทำให้นักเขียนเกิดความเครียด และลืมไปว่า "ความสุขที่แท้จริงของการเขียนคืออะไร"
วิธีรับมือ : ง่ายสุดคือ "เลิกเขียนไปซะ" ถ้าไม่มีความสุขจะทำไปทำไม แปลว่าเราไม่ได้รักมันมากพอที่จะทนรับด้านแย่ ๆ ของมัน เราอาจจะต้องลองหยุดสักพักเพื่อทบทวนตัวเองว่าเรารักที่จะเขียนจริงหรือเปล่าหรือแค่หลอกตัวเอง
ถ้าคำตอบคือ "ใช่ ฉันรักการเขียน" ก็ให้นึกถึงความสุขจากตอนที่เราเขียนเสร็จ หรือตอนที่มีผู้อ่านชื่นชอบงานของเรา และงานของเราสามารถให้ข้อคิด แง่คิด สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน นั่นแหล่ะคือความสุขที่แท้จริงจากการเขียน
แต่ถ้าคำตอบคือ "ไม่ ฉันไม่เคยมีความสุขกันมันเลย" ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่เราคิดว่าชอบดีกว่า จะได้ไม่เสียเวลาชีวิต ยิ่ง move on เร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบตัวเองเร็วขึ้นเท่านั้น
แต่เชื่อเถอะว่า ทุกงานล้วนมี ด้านแย่ ๆ ในตัวของมันทั้งนั้นแหล่ะ เช่น การเป็นนักแสดง ก็ต้องอดทนท่องจำบทพูด คุมน้ำหนัก ดูแลผิวพันธุ์ การเป็นครู ก็ต้องอดกลั้นกับการตรวจข้อสอบเป็นร้อยๆชุด หรือการเป็นตำรวจ ก็ต้องเสี่ยงชีวิตตัวเองในบางครั้งตอนไปจับผู้ร้าย ทุกงานมีด้านแย่ ๆ และความท้าทายที่แตกต่างกันไป อยู่ที่ว่าเรามีความสุขกับการทำสิ่งใด...
ความคิดเห็น
