ไลฟ์แฮ็ก
Kintsugi ความงามจากบาดแผล

สวัสดีครับ วันนี้ทุกท่านสบายดีไหมครับ?
เห็นภาพภาชนะที่มีเส้นสีทองสอดแทรกตามพื้นผิวของมันไหมครับ ถึงจะไม่เป็นระเบียบ แต่มันสวยงามมาก คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า ก่อนที่เจ้าภาชนะใบนี้จะมีรวดรายอันวิจิตรนั้น มันได้ผ่านการชำรุดแตกหักมาก่อน แล้วจึงก่อเกิดเป็นลวดลายที่พวกเราได้ชมกันครับ ผมคิดว่าผู้อ่านหลายท่าน คงจะรู้สึกย้อนแย้งที่ว่า ทุกครั้งเวลาจานชาม หรือบรรดาภาชนะที่ทำจากแก้วหรือเซรามิคนั้น เกิดการแตกหัก ไม่ว่าจะบิ่นเล็กน้อยหรือแตกเป็นเศษเสี้ยว พวกเราก็จะคิดว่าเจ้าสิ่งนี้ไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้ว เลยบอกลาพวกมันแล้วพาไปอยู่ใน ณ ถังขยะ แล้วลวดลายนี้จะเกิดขึ้นได้อย่าไง? แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว พวกเขามีมุมมองที่ต่างออกไป พวกเขานำเศษภาชนะที่แตกเหล่านั้นมารวมกัน แล้วซ่อมแซมพวกมันโดยการนำรักทองมาเชื่อมภาชนะให้ติดกัน จึงเกิดเป็นความงดงามในอีกระดับขั้นหนึ่งราวกับเป็นการคืนชีพใหม่ให้เหล่าจานชามพวกนี้เป็นมากว่าภาชนะใช้สอย ซึ่งศิลปะในการชุบชีวิตนี้ ถูกเรียกว่า “คินซึกิ”
Advertisement
Advertisement
กำเนิดใหม่
คินซึกิ (金継ぎ) มาจากศัพท์ 2 คำนะครับ ซึ่งคำแรกคือ 金 (คิน) ที่แปลว่า “ทอง” ส่วนอีกหนึ่งคำคือคำว่า 継ぎ (ซึกิ) แปลว่า “การปะหรือการเชื่อม” นะครับ ซึ่งถ้านำมากล่าวรวมกันจะให้ความหมายในทำนองที่ว่า “การเชื่อมด้วยทอง” และคำว่า คินซึกิ นี้ ก็ใช้ในการกล่าวถึงการซ่อมแซมภาชนะที่แตกหักโดยเชื่อมด้วยรักทองดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นครับ
ราวกับรอยเย็บบาดแผลของมนุษย์...
การปรากฏกายของเจ้าคินซึกิ ต้องย้อนกลับ ณ ยุคศตวรรษที่ 15 โน่นแหละครับ ในยุคนั้นตระกูลขุนนางอาชิคางะ (足利氏) ได้ดำรงตำแหน่งโชกุนยาวนานหลายชั่วอายุคน ซึ่งในช่วงระยะเวลาการปกครองนั่นเอง โชกุนท่านหนึ่ง ได้ส่งถ้วยชาที่เขาทำมันแตกหักชำรุดข้ามน้ำข้ามทะเลไปซ่อมที่ประเทศจีน (ในยุคของราชวงศ์หมิง 大明) พอกลับมาถึง โชกุนกลับพบความตกใจที่ว่า ถ้วยชานั้นได้รับการซ่อมโดยการนำลวดเหล็กมาเชื่อมกัน ราวกับรอยเย็บบาดแผลของมนุษย์ก็ไม่ผิด จึงไม่มีความสวยงามเอาเสียเลยล่ะครับ โชกุนเลยคิดหาวิธีใหม่ในการซ่อมถ้วยชาใบโปรดนี้ ไม่ใช่แค่ซ่อมได้ แต่ต้องสวยงามอีกด้วย ช่างฝีมือของโชกุนจึงมองหาวิธีอันงดงามในการประกบถ้วยชาอีกครั้งโดยการใช้ครั่งผสมทอง
Advertisement
Advertisement
หนนี้ มันงดงามแล้วล่ะ
คินซึกิ มีที่มาจากแนวคิด “วาบิ-ซาบิ (侘寂)”ที่สอนถึงความเรียบง่าย ถ่อมตน ยอมรับในความเป็นไปของธรรมชาติและชีวิตที่มีทั้งขึ้นและลง ซึ่งก็ยังมีเรื่องราวได้เล่าไว้นะครับว่า พระนิกายเซนรูปหนึ่งนาม "เซน โนะ ริคิว" (千利休)ได้จาริกลงทางทิศใต้ ในระหว่างการเดินทางท่านรับเชิญไปร่วมฉันอาหารค่ำกับกับขุนนางท่านหนึ่งที่บ้านของเขา(พระที่ญี่ปุ่นฉันอาหารค่ำได้นะครับ) ซึ่งเป็นความต้องการของเจ้าบ้านที่หมายจะให้พระท่านได้ชมแจกันโบราณที่ประณีต มีมูลค่าสูง ซึ่งเขาได้นำมาจากประเทศจีน แต่ในช่วงเวลามื้อค่ำมาถึง เซน โนะ ริคิว ไม่แม้แต่จะมองเจ้าแจกันนั่น แต่กลับไปชมและดื่มด่ำกับกิ่งไม้ที่สั่นไหวในสวนแทน แล้วจึงลากลับ ด้วยความผิดหวัง เจ้าบ้านผู้น้อยเนื้อต่ำใจจึงบันดาลโทสะทุบแจกันที่ว่านั่นลงพื้นแตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วเข้าห้องไป ในระหว่างนั้นแขกเหรื่อคนอื่น ๆ จึงรวบรวมเศษแจกัน และนำมาประกอบใหม่ด้วยวิธีคินซึกิ ในวันหนึ่ง เซน โนะ ริคิว ได้กลับมาเยือนบ้านขุนนางผู้นี้ ในครานี้ ปราชญ์ภิกษุนิกายเซนนั้นจดจ้องไปที่ แจกันอันเดิมที่มีรอยแตกเป็นลวดลายสีทอง รอยยิ้มที่มุมปากแสดงออกมา และกล่าวว่า “หนนี้ มันงดงามแล้วล่ะ”
Advertisement
Advertisement
สมบูรณ์แบบ คือ ไม่สมบูรณ์แบบ
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน มนุษย์ล้วนพบกับความผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น แม้แต่ในช่วงเวลาของพวกเราก็เช่นกันครับ ทุกอย่างที่เราได้ทำลงไป ทั้งดีและไม่ดี ทั้งล้มเหลวและสำเร็จ ก้าวหน้าในการงานหรือรอยร้าวแห่งความสัมพันธ์ ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ให้กับพวกเรา บทเรียนที่ขับเคลื่อนให้เราได้กล้าที่จะสัมผัสถึงความผิดพลาด ปรับปรุงแก้ไข และไม่ให้เราต้องพลาดพลั้งอีก ชีวิตที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง ในขณะที่เรากำลังปกปิดเรื่องแย่ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต และแสวงหาความสมบูรณ์แบบ แต่ คินซึกิ กำลังนำเสนอเราให้เห็นความงดงามของชีวิตในแง่มุมของความไม่สมบูรณ์แบบนั้น ทำให้ตัวเองเข้าใจถึงบาดแผลภายในจิตใจของตัวเอง ยอมรับและโอบกอดข้อบกพร่องที่ตัวเราได้สร้างไว้ แล้วก้าวต่อไปพร้อมกับมัน เพื่อที่ปลายทางนั้นเราจะได้พบว่า
ข้อบกพร่อง คือ ความงดงามของชีวิต
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ ได้ค้นพบความงามในชีวิตของท่านหรือยังครับ? สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
Pics : cover page , 1 , 2 , 3 , 4
ความคิดเห็น
