อื่นๆ
สร้างชิ้นงานจากแม่พิมพ์ไฟเบอร์

วิธีทำชิ้นงานแฟริ่งมอเตอร์ไซค์จากแม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาส
ในคอลัมน์นี้นักเขียนขออนุญาติ นำความรู้ดีๆมาฝากซึ่งก็คือการสร้างชิ้นงานจากแม่พิมพ์ไฟเบอร์กัน เผื่อมีเพื่อนๆท่านไหนสนใจอยากจะลองทำดูบ้างหรืออาจจะนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้ในอนาคต เพราะปัจจุบันชิ้นงานที่สร้างจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ยกตัวอย่าง เช่น แฟริ่งแต่งสำหรับรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ ของประดับตกแต่งบ้านที่ทำออกมาด้วยงานไฟเบอร์กลาสอย่างพวก เขากวางเทียม ฯลฯ
แต่ที่นักเขียนจะมาเขียนในคอลัมน์นี้คือจะเป็นวิธีการทำชิ้นงานจากวัสดุไฟเบอร์กลาสจากแม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาส ซึ่งอาจจะข้ามขั้นตอนในการสร้างแม่พิมพ์ไป ส่วนเรื่องวิธีการสร้างแม่พิมพ์นั้นหากนักอ่านท่านไหนสนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมใน เว็ปไซค์ต่างๆที่ขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟเบอร์กลาส หรือในช่องทางวีดีโอใน You tube ปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีมากมายหลายช่องที่นำมาสอนกัน
Advertisement
Advertisement
ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
- แปรงขนาด 1 นิ้ว
- ใยแก้ว
- ลูกกลิ้งไล่ฟองอากาศ
- ทินเนอร์ล้างแปรง หรือ น้ำยาอาชิโทน
- แก้วสำหรับผสมส่วนผสม 3 แก้ว
- เรซิ่นผสมตัวม่วงแล้ว
- น้ำยาเร่งให้เรซิ่นแข็งตัว (ฮาร์ด)
- เจลโค้ด (เจลโค้ดคือผงเบาผสมกับเรซิ่น)
- สีผสมเรซิ่น
- แว็กซ์ทาแม่พิมพ์ ( บางที่เรียกขี้ผึ้งทาแม่พิมพ์)
ขั้นตอนที่1
ใช้แว็กซ์ทาในแม่พิมพ์ให้ทั่วจากนั้นเช็ดคราบแว็กซ์ออก จากนั้นผสมเจลโค้ดกับสีผสมเรซิ่นเข้าด้วยกัน ใส่ตัวเร่ง (ฮาร์ด) ในสัดส่วนที่ให้แห้งกำลังดี ไม่แห้งเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ( สำหรับตัวนักเขียนเองใช้ในสัดส่วน เจลโค้ดครึ่งแก้ว : ฮาร์ด 10 หยด) หรือบางทีก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นอากาศร้อน หรือว่า อากาศเย็น ถ้าหากอากาศเย็นควรเพิ่มตัวเร่งอีก 4-5 หยดไม่อย่างนั้นงานที่เราทำจะไม่แห้ง ขั้นตอนนี้หากเรามีกาสำหรับพ่นเจลโค้ดเราสามารถใช้กาพ่นเจลโค้ดแทนการใช้แปรงได้เลย ซึ่งปัจจุบันตามโรงงานผลิตชิ้นงานไฟเบอร์กลาสจะใช้กาพ่นแทนการใช้แปรงเพราะงานที่ออกมาจะละเอียดกว่าและรวดเร็วไม่เปลืองเนื้อเจล
Advertisement
Advertisement
ขั้นตอนที่ 2
เมื่อเจลโค้ดที่เราทาเอาไว้แห้งดีแล้วนำใยแก้วที่เตรียมเอาไว้มาวางให้ทั่วแม่พิมพ์ ส่วนใยแก้วนั้นเราควรเลือกใช้ใยแก้วให้เหมาะสมกับงานที่เราทำ ซึ่งใยแก้วก็จะมีหลายชนิด เช่น ใยล่องหน ใยสาน และใยแก้วสำหรับทำชิ้นงาน ซึ่งจะมีขนาดน้ำหนักและความหนาแตกต่างกัน ที่หาซื้อได้ทั่วไปจะมีใยแก้วเบอร์ 300/450/600 บางที่ก็ขายเป็นม้วนหรือบางที่ก็มีแบ่งขายเป็นกิโลกรัม ในที่นี้สำหรับตัวนักเขียนเองใช้ใยแก้วเบอร์ 450 ซึ่งไม่หนาเกินไปและไม่บางเกินไป ใช้ทากับน้ำยาเรซิ่น 2 ชั้นกำลังดี ชิ้นงานจะออกมาแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา
จากนั้นผสมน้ำยาเรซิ่นใส่ตัวเร่งตามสัดส่วนทาลงไปและไล่ฟองอากาศด้วยลูกกลิ้งไล่ฟอง จนไม่มีฟองอากาศ และรอจนกว่าน้ำยาเรซิ่นที่เราทาไปจะแห้งสนิท (เทคนิค : หากมีเวลาควรจัดการขอบชิ้นงานก่อนน้ำยาจะแห้งเพื่อให้งานเสร็จเร็วและช่วยลดรายละเอียดที่จะต้องทำในขั้นตอนสุดท้าย)
Advertisement
Advertisement
ขั้นตอนที่ 3
เมื่องานแห้งสนิทดีแล้วแกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ และตัดแต่งส่วนขอบชิ้นงานให้เรียบร้อย ขั้นตอนนี้ค่อนข้างจะต้องระวังหากชิ้นงานที่ทำเป็นชิ้นงานแรก จากประสบการณ์ของนักเขียนงานชิ้นแรกค่อนข้างที่จะแกะยากและมักจะติดกับแม่พิมพ์ แต่ถ้าผ่านชิ้นแรกไปได้ ชิ้นถัดไปจะแกะออกง่ายเพราะเนื้อแว็กซ์หรือบางที่อาจจะเรียกขี้ผึ้งทาแม่พิมพ์นั้นได้ซึมเข้าไปในแม่พิมพ์แล้ว เพราะฉะนั้นการทาแว็กซ์หรือทาขี้ผึ้งในขั้นตอนแรกควรทาหลายๆรอบเพื่อป้องกันไม่ให้ ชิ้นงานติดกับแม่พิมพ์นั้นเองและป้องกันไม่ให้งานหรือแม่พิมพ์นั้นเสียหาย
แนะนำ : หากเป็นมือใหม่เริ่มหัดทำหลังจากทาแว็กซ์หรือขี้ผึ้งทาแม่พิมพ์เสร็จควรทาน้ำยา PVA ทับอีกที (น้ำยา PVA เมื่อทาเสร็จหลังจาน้ำยาแห้งจะมีลักษณะคล้ายฟิล์มพลาสติกบางๆ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ชิ้นงานติดกับแม่พิมพ์ หากจะซื้อน้ำยา PVA หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ทำไฟเบอร์กลาส)
และนี่ก็คือขั้นตอนการทำชิ้นงานจากวัสดุอุปกรณ์ไฟเบอร์กลาสซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงจากตัวของนักเขียนเอง และขอแนะนำว่าในขณะที่ทำงานควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเนื่องจาก น้ำยาเรซิ่นและน้ำยาทินเนอร์ เป็นสารเคมีค่อนข้างที่จะมีกลิ่นฉุน เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
บทความโดย : Number seven
เครดิตภาพประกอบโดย : นักเขียน
ความคิดเห็น
