ไลฟ์แฮ็ก
แชร์ประสบการณ์ การเติมวัตถุดิบและลับคมในการสร้างงานเขียน
เท่าที่พอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนหนังสืออยู่บ้าง อันเกิดจากความชื่นชอบการเขียน ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษา ทำให้พอจะมองเห็นอย่างหนึ่งว่า การสร้างงานเขียนก็ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะหรืองานช่างแขนงอื่น ๆ ที่จำต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ วัตถุดิบในการสร้าง และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
นักเขียนแต่ละท่านก็คงมีวิธีการแสวงหาและรวบรวมวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียน อันเป็นเสมือนการติดอาวุธ หรือลับคมของอุปกรณ์ในการสร้างผลงานให้ออกมางดงามตามความคาดหมายของตนแตกต่างกันไป
สำหรับผมเอง ก็มีแนวทางที่อยากนำมาแบ่งปัน สำหรับคุณผู้อ่านที่อยากจะปลุกไฟนักเขียนในตัว เพื่อผันตัวเองมาสร้างงานเขียนให้คนอื่นได้อ่านบ้าง อันเป็นความรู้สึกเดียวกับผมในช่วงแรก ๆ ก่อนเริ่มลงมือจับปากกา (ตอนนั้นจับปากกาจริง ๆ นะ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์ 😂) ซึ่งเมื่อก้าวเข้าสู่สนามนักเขียนแล้ว ก็ต้องเติมพลังในการเขียนเพื่อให้ก้าวต่อไปได้ ด้วยการรวบรวมวัตถุดิบและลับคมในการเขียนหนังสือ ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง ตามวิถีทางของผมเอง ดังนี้
Advertisement
Advertisement
1. เรียนรู้และเติมวัตถุดิบจากการอ่านนวนิยายสมัยเก่า ต้องขอเน้นย้ำว่า เป็นนวนิยายสมัยเก่าจริง ๆ นะครับ สำหรับแนวทางของผมที่นำเสนอนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเรียนรู้ลีลาการเขียน ถ้อยคำสำนวน การใช้ภาษา โวหาร ศิลปะในการนำเสนอของนักประพันธ์ชั้นครู จำได้ว่าตอนที่ผมเริ่มต้นเขียนหนังสือใหม่ ๆ โดยเฉพาะในช่วงมัธยมศึกษา เหมือนว่าจะอ่านหนังสือนวนิยายไม่น้อยกว่าหนังสือเรียนเลยทีเดียว จนบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนรู้จักคุ้นเคย แถมบางทียังแนะนำหนังสือให้อีกตะหาก โดยนักประพันธ์นวนิยายรุ่นเก่าชั้นครูที่ผมอ่านผลงานของท่านบ่อย ๆ เช่น ประภัสสร เสวิกุล, ทมยันตี, โสภาค สุวรรณ, ไม้ เมืองเดิม, หลวงวิจิตรวาทการ, ชมัยพร แสงกระจ่าง, สิทธา เชตวัน ฯลฯ
ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า นวนิยายของนักประพันธ์ยุคหลังจะมีคุณภาพไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้นะครับ งานเขียนทุกชิ้นล้วนสามารถเป็นครูสอน หรือเป็นแหล่งวัตถุดิบให้เรานำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างผลงานได้ทั้งนั้น ขอเพียงรู้จักเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางการสร้างผลงานของเรา
Advertisement
Advertisement
(ภาพโดย Free - photo จาก pixabay)
2. อ่านกลอนวรรณกรรมร้อยกรอง เนื่องด้วยสมัยเรียนมัธยมนั้น ผมมักได้รับโอกาสเข้าร่วมการประกวดแข่งขันแต่งคำประพันธ์อยู่บ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องแสวงหาวัตถุดิบและทบทวน ฝึกฝน พัฒนาฝีมือ ด้วยวิธีหนึ่ง คือ การศึกษาจากบทประพันธ์ และวรรณกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่เป็นมืออาชีพ แต่ขอสารภาพอย่างหนึ่งตรงนี้เลยว่า ผมมีนิสัยที่ไม่ค่อยส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ด้วยวิธีนี้สักเท่าไหร่ กล่าวคือ มีนิสัยค่อนข้างอินดี้ ไม่ค่อยชอบอ่านกลอนของนักประพันธ์สมัยใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นยุคสมัยใกล้เคียงกันนี้แทบจะไม่อ่านเลย เพราะมีแนวคิดว่า กลัวจะไปซึมซับเอาแนวการเขียนของคนอื่นมา จนกลายเป็นเหมือนการคัดลอก หรือจนเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนลดน้อยลงไป ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ควรเอาอย่าง เพราะหากจะฝึกฝนพัฒนาตัวเองจริง ๆ ก็ควรต้องเปิดรับวัตถุดิบหลากหลายรูปแบบ แล้วมาคัดเลือกเพื่อใช้ประโยชน์ตามแนวทางของตน
Advertisement
Advertisement
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะไม่ค่อยอ่านบทประพันธ์ร่วมสมัยสักเท่าไหร่ แต่ผมก็เรียนรู้จากวรรณคดี หรือวรรณกรรมชั้นครู เช่น บทกลอนสุนทรภู่ พระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ผลงานของ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ดังนี้เป็นต้น
3. ศึกษาเรียนรู้จากการฟังเพลงลูกทุ่งสมัยเก่า
(ภาพโดย ArtsyBer จาก Pixabay)
เทคนิคข้อนี้อาจจะเกิดจากวิถีชีวิตของผมเอง ที่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัด และคุ้นเคยกับเสียงเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งแท้ ย้อนยุคไปตั้งแต่ก่อนผมเกิด หรือตั้งแต่สมัยจำความได้ ซึ่งบทเพลงเหล่านั้นจะมีเอกลักษณ์ คือ มีการเล่าเรื่องผ่านเนื้อหาของเพลง แบบที่ว่า ฟังเพลงจบก็เข้าใจเรื่องราวและมองเห็นภาพตัวละครที่ปรากฎในบทเพลงได้ ซึ่งเมื่อผมโตขึ้น ได้ก้าวเข้าสู่สนามแห่งน้ำหมึกและตัวอักษร ก็ได้อาศัยเรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่องผ่านบทเพลง ที่สามารถใช้ถ้อยคำให้เข้าใจและรู้เรื่องได้ภายในเนื้อเพลง 4 ท่อน มาปรับใช้ในงานเขียน ให้มีความกระชับ รัดกุม ภายใต้กรอบความยาวของเนื้อหาที่กำหนด
4. ฟังกลอนลิเก ฟังแล้วอย่าเพิ่งขำนะครับ 😂😅 มันมีส่วนช่วยได้จริง ๆ ซึ่งก็คงต้องขอบคุณวิถีชีวิตในวัยเด็กของผมอีกเช่นกัน ที่นอกจากจะเติบโตมากับเสียงเพลงลูกทุ่งไทย ดังที่กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีโอกาสได้ยินได้ฟังการแสดงลิเก ที่ถ่ายทอดสัญญาณเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุท้องถิ่นในจังหวัด
(ภาพโดย Fancycrave1 จาก Pixabay)
ซึ่งด้วยความที่เป็นการถ่ายทอดเฉพาะสัญญาณเสียง โดยที่เราไม่ได้มองภาพ สิ่งที่ได้รับเต็ม ๆ คือ เสียงร้องและเนื้อหากลอนลิเก ซึ่งผมได้ซึมซับลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือ มีการใช้ลูกเล่นสัมผัสอักษรภายในบทกลอน เช่น บทที่ร้องว่า "...จึงตั้งศรัทธาสาธก ถึงยาจกยากจน" (ตอนหนึ่งของเพลง ดาวลูกไก่ (ทำนองลิเก) ศิลปิน พร ภิรมย์) เป็นต้น ซึ่งผมก็นำมาเป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการแต่งกลอนหรือบทประพันธ์ร้อยกรองในเวลาต่อ ๆ มา
5. ร้องเพลง ท่องอาขยาน คือ การนำเอาบรรดาเพลง หรือ บทกวีต่าง ๆ ที่เคยได้อ่านได้ฟัง ดังที่กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้านี้ มาเปล่งเสียงร้องหรือท่องทำนองเสนาะ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินกับความไพเราะ งดงามของบทประพันธ์ที่เปล่งเสียงออกมา และกลายเป็นแรงผลักดันให้อยากเป็นผู้สร้างเนื้อหาลักษณะเดียวกันนั้นด้วยตนเอง
ทั้งห้าข้อที่ยกมา คือ แนวทางกว้าง ๆ ที่ผมใช้ในการเก็บรวมข้อมูล ถ้อยคำ ภาษา เทคนิค ไว้ในคลังความรู้ เพื่อเป็นเสมือนวัตถุดิบที่จะหยิบมาใช้ในการสร้างผลงานเขียน และเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ ซึ่งผมนำมาแบ่งปันกันสำหรับผู้ที่มีความสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กันได้
เพราะวัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำไปใช้พัฒนาต่อยอดได้โดยไม่มีวันหมด ซึ่งผมก็หวังว่า การนำเอาวัตถุดิบและแนวทางลับคมให้กับงานเขียนเหล่านี้ไปใช้ จะเป็นการสร้างผลงานคุณภาพ อันจะก่อให้เกิดวัตถุดิบชนิดใหม่ ๆ ขึ้นในวงการงานเขียนอย่างไม่รู้จบ
ภาพปกบทความโดย StartupstockPhotos จาก Pixabay
ความคิดเห็น