อื่นๆ
เรื่องเล่าอาถรรพ์ตำนานวัดช้างล้อม
วัดช้างล้อม เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นวัดที่คาดการณ์ว่าสร้างขึ้นมานานแล้วประมาณ 700 กว่าปี หรือบางตำนานกล่าวว่าสร้างใน พ.ศ.400 เศษ ซึ่งในอีกเรื่องเล่าหนึ่งก็คือมีการเล่าว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่หากลงลึกไปในประวัติของยุคสุโขทัยจริงๆ แล้วพ่อขุนรามอาจจะเป็นเพียงผู้บูรณะวัดแห่งนี้เท่านั้น ที่แน่ชัดคือสร้างขึ้นในยุคสมัยของอาณาจักรสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรือง ศิลปะของวัดได้รับอิทธิพลมาจากลังกาทวีป มีลักษณะเป็นทรงระฆังคว่ำ เป็นฐานยอดเจดีย์แหลมสูง สวยวิจิตรงดงามตระการตา บริเวณรอบตัววัดมีรูปปั้นช้างอยู่ล้อมรอบบริเวณฐานเจดีย์ ซึ่งตัววัดและรูปปั้นช้างทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยหินศิลาแลง ถือเป็นแลนมาร์คและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอศรีสัชนาลัยเลยก็ว่าได้ แต่ใครจะรู้ว่าวัดแห่งนี้มีเรื่องเล่าสุดแปลก เกี่ยวกับรูปปั้นช้างที่ตั้งอยู่รอบๆ ฐานเจดีย์ ที่ถูกเล่าสืบต่อกันมาอย่างช้านาน
Advertisement
Advertisement
วัดแห่งนี้ไม่มีผู้ใดทราบได้แน่ชัดว่าในอดีตว่ามีชื่อเรียกว่าอย่างไร แต่เมื่อมีชาวบ้านมาพบโบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่กลางป่า จึงตั้งชื่อวัดตามลักษณะที่เห็น และเรียกกันต่อๆมาว่าวัดช้างล้อม เนื่องจากรอบๆ ฐานวัดมีรูปปั้นช้างล้อมรอบฐานเจดีย์อยู่ วัดนี้ถือว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดในบรรดาวัดโบราณภายในอำเภอศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้บรรจุอัฐิของพระร่วงราชกุมาร ผู้เป็นพระบรมชนกนารถ และถือว่าเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้นแบบมีช้างล้อมรอบฐานเจดีย์เอาไว้
เมื่อครั้งที่มีการค้นพบวัดแห่งนี้ใหม่ๆ บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยป่าไผ่ และทุ่งโล่งสลับกับป่าไม้ และได้มีชาวบ้านที่ทำสวน ทำไร่ ปลูกผัก อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดแห่งนี้ ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านกลับพบว่า พืชสวน และผักต่างๆ ที่ปลูกไว้ถูกทำลายย่อยยับ มีลักษณะเหมือนสัตว์ขนาดใหญ่เข้ามาบริเวณไร่และสวน และทำลายผลผลิตเป็นแถบๆ ซึ่งในตอนนั้นชาวบ้านรู้ทันทีว่าเป็นฝูงของช้างป่าที่บุกเข้ามาทำลายผลผลิตของชาวบ้านจนเสียหาย ชาวบ้านจึงได้ทำการจุดไฟไล่ฝูงช้างฝูงนี้เพื่อให้ออกไปจากบริเวณไร่สวนของชาวบ้าน แต่ช้างป่าฝูงนี้กลับไม่กลัวไฟที่ชาวบ้านได้ทำการจุดขึ้นมาขับไล่เลยแม้แต่น้อย ช้างป่าฝูงนี้ก็ยังเข้ามาทำลายและกินพืชไร่ของชาวบ้านอยู่เหมือนเดิม
Advertisement
Advertisement
เมื่อชาวบ้านหมดหนทางจึงได้คิดหาวิธีที่จะทำร้ายช้างจึงได้ขุดหลุมกับดักเพื่อจะจับช้างฝูงนี้ แต่ไม่ว่าจะวิธีนี้หรือวิธีไหน ก็ไม่สามารถทำลายช้างฝูงนี้ได้เลย จนชาวบ้านเริ่มลือกันว่าช้างฝูงนี้ น่าจะเป็นช้างผี หรืออาจจะเป็นช้างที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ เพราะช้างทั้งหมดนั้นช่างแสนรู้เสียเหลือเกิน ชาวบ้านจึงได้ดักซุ่มเพื่อแอบดูช้างฝูงนี้ จึงพบว่าช้างฝูงนี้มีทั้งหมด 36 เชือก โดยจ่าฝูงเป็นช้างพลายตัวใหญ่มหึมา เมื่อขับไล่และทำร้ายช้างไม่ได้ ชาวบ้านจึงอยากรู้ว่าช้างฝูงนี้อาศัยอยู่ที่บริเวณใด จึงดักซุ่มแอบติดตามช้างเหล่านี้ไปในเวลารุ่งสาง ชาวบ้านไล่ติดตามช้างฝูงนี้มาติดๆ ผ่านบริเวณป่าไผ่จนมาถึงบริเวณวัดช้างล้อม ชาวบ้านกลับพบว่าช้างทั้งฝูงได้หายไป แต่กลับเจอช้างฝูงใหม่ที่เป็นช้างปูนปั้นที่อยู่รอบๆ ตัววัดโบราณแห่งนี้
Advertisement
Advertisement
เมื่อชาวบ้านลองนับช้างรอบๆตัววัดกลับพบว่า มีช้างจำนวน 36 เชือกพอดี จึงคาดการณ์และเล่าต่อๆ กันมาว่าช้างที่เข้าไปกินพืชไร่ของชาวบ้านนั้นเป็นช้างปรอท (ในตำนานของไทย ปรอท เป็นโลหะเหลว คือ ธาตุกายสิทธิ์ที่ใกล้เคียงกับเหล็กไหล จริงๆแล้ว ปรอท ก็คือ "ไหล" ประเภทหนึ่ง ปรอทเป็นของอาถรรพ์ มีชีวิตจิตวิญญาณ สามารถลื่นไหลเคลื่อนย้ายตัวเองได้) หรือเป็นอาถรรพ์ของช้างที่วัดแห่งนี้ ดังนั้นเพื่อป้องกันช้างเข้าไปทำลายพืชสวนของชาวบ้านอีก รุ่งเช้าชาวบ้านจึงได้ควักลูกนัยน์ตาของช้างปูนปั้นนี้ออกเพื่อให้ช้างไม่เห็นทางและไม่สามารถออกไปทำลายพืชผลชาวบ้านได้อีก
ไม่ว่าตำนานชาวบ้านเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ที่น่าแปลกก็คือไม่มีใครพบเห็นช้างฝูงนี้ออกมาทำลายพืชผลของชาวบ้านอีกเลย เรื่องราวนี้จึงได้มีการเล่าสืบต่อกันมาว่าพอชาวบ้านควักลูกตารูปปั้นช้างออกจึงเป็นการทำลายอาถรรพ์ช้างออกไปด้วย จึงทำให้เรื่องเล่านี้กลายเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ในปัจจุบันรูปปั้นช้างนี้จะถูกกาลเวลาทำลายจนรูปปั้นพังเสียหายไปมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังหลงเหลือความงดงามวิจิตรตระการตา และเรื่องราวของความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในอดีตของไทย ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเที่ยวชม เมื่อคุณลองมาเที่ยวที่วัดแห่งนี้ดูแล้ว อยากให้ทุกท่าน ลองเดินนับช้างรอบฐานเจดีย์วัดแห่งนี้ดูสิครับ เดินนับกับเพื่อนแบบนับในใจยังไม่ต้องบอกกัน พอครบแล้วลองมาดูกันว่าคุณและเพื่อนจะนับช้างรอบวัดได้เท่ากันหรือเปล่าเพราะเรื่องแปลกที่ยังมีในปัจจุบันก็คือนักท่องเที่ยวมักจะนับช้างได้ไม่เท่ากัน...บ้างก็นับได้ 37 บ้างนับได้ 36,35 หรือบางคนนับได้ถึง 38 เชือก แต่จริงๆแล้วช้างรอบๆ วัดแห่งนี้มีแค่ 36 เชือกเท่านั้นนะครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก
-website: https://culture55020497.wordpress.com/
-https://siamrath.co.th/n/106896
เรื่องราวดีๆ ถูกแบ่งปันถึงกันได้จากตัวหนังสือ ที่ร้อยเรียงจากเรื่องเล่า และความรู้สึกดีๆ ดั่งแสงอาทิ
ความคิดเห็น