อื่นๆ
บอนสีชื่อ 'ผีเสื้อ'

บอนสีหลายพันธุ์มีชื่อเป็นสัตว์ต่างๆ ทั้งนก ไก่ วัว วันนี้มาแนะนำบอนสีที่นำแมลงมาตั้งเป็นชื่อบ้างค่ะ มี 2 พันธ์ุที่สี่ตามาแนะนำให้รู้จักค่ะ พันธ์ุแรกคือผีเสื้อชมพู ดูเหมือนเป็นพันธ์ุที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไรนัก แต่พันธ์ุนี้ดูดีดีมีความสวยไม่แพ้พันธ์ุอื่นเหมือนกันนะคะ ผีเสื้อชมพูเป็นบอนสีที่เลี้ยงง่าย แตกหน่อเก่ง ใบใหญ่ ลักษณะปลายใบแหลม และหูใบไม่ลึกถึงสะดือ ลักษณะแบบนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใบไทย มีเม็ดสีชมพูกระจายไปทั่ว เจ้าเม็ดหรือจุดแต้มบนใบ มักจะเกิดเป็นสีขาวก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นชมพูอ่อน หรือเข้ม ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมในการเลี้ยงดู
มาดูบอนสีผีเสื้ออีกพันธ์ุกันค่ะ พันธ์ุนี้มีชื่อเรียกกันว่า ผีเสื้อสมุทร ลักษณะใบของผีเสื้อสมุทร ปลายใบแหลม และหูใบไม่ลึกถึงสะดือ จากลักษณะใบถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใบไทยเช่นเดียวกันกับผีเสื้อชมพู ผีเสื้อสมุทรเป็นบอนสีอีกหนึ่งสายพันธ์ุที่สวยสะดุดตา ตอนเป็นต้นเล็กๆ ใบพื้นสีเขียวพร้อมกระดูกแดงหรือก้างสีแดงชัด สามารถระบุด้วยคำที่สื่อง่ายๆ ว่าเป็นบอนก้างแดง และมีเส้นแดง โตขึ้นอีกนิดเริ่มเห็นเม็ดเล็กๆ กระจายบนใบ และเมื่อโตเต็มที่เม็ดเล็กๆ เพิ่มจำนวน มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมฉายความสวยให้เม็ดสีชมพูเข้ามา เพ่งดูแล้วมีขอบขาวที่เม็ด กระจายอยู่บนใบ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของใบบอนสีแบบนี้ ในหนังสือการปลูกบอนสี เขียนโดยคุณบุนนาค สีสด ได้อธิบายไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงของใบบอนสีนี้เรียกว่า การแผลงของใบบอนสี
Advertisement
Advertisement
ก้านของผีเสื้อสมุทร เป็นก้านพื้นชมพูหม่นมีเสี้ยนดำห่าง คุณสมัยฯ บางซื่อ เป็นผู้ขอตั้งชื่อผีเสื้อสมุทรไว้ที่สนามบาร์ไก่ขาวในปี พ.ศ. 2475 จัดได้ว่าเป็นบอนสีเก่าแก่สายพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในไทยมาช้านาน หากดูจากชื่อแล้ว คนชอบอ่านวรรณคดี ก็คงสามารถเดาได้ไม่ยากว่า บอนสีผีเสื้อสมุทร อยู่ในตับพระอภัยมณี เป็นการตั้งชื่อโยงใยไปยังนางยักษ์จำแลงผู้หลงรักพระอภัยมณีจนต้องแปลงกายเป็นสาวงาม บอนสีผีเสื้อสมุทรในสายตาของสี่ตานั้นก็งามจริงๆ เป็นบอนสีอีกหนึ่งต้นที่รับมาตั้งแต่ใบเขียวๆ ต้นเล็ก การเลือกซื้อบอนสีต้นเล็กอาจมีความเสี่ยงได้มาไม่ตรง จึงมีการถามย้ำกับผู้ขายด้วยว่า โตมาเป็นผีเสื้อสมุทรแน่ๆ นะ ซึ่งทางผู้ขายก็ให้ความมั่นใจเต็มที่ ทำให้ตัดสินใจรับมา และก็ไม่ผิดหวังเลย บอนสีในตับพระอภัยมณี นี้มีอยู่หลายชื่อ แต่สี่ตายังไม่มีโอกาสได้เห็นบอนสีชื่ออื่นๆ ของตับพระอภัยมณีในท้องตลาด หากมีโอกาสได้เก็บบอนสีเก่าๆ ที่เคยมีมาในอดีตก็คงจะดีมาก ผู้อ่านล่ะคะ มีบอนสีในตับพระอภัยมณีมาครอบครองกันบ้างรึยัง ?
Advertisement
Advertisement
หมายเหตุ: รูปถ่ายทั้งหมดสี่ตาเป็นผู้ถ่ายและเป็นเจ้าของรูปภาพทุกรูปค่ะ
เอกสารอ้างอิง: การปลูกบอนสี, ผู้แต่ง คุณ บุญนาค สีสด
อัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !
ความคิดเห็น
