ไลฟ์แฮ็ก
10 เคล็ดลับวิธีทำบุญ โดยไม่ต้องลงทุนสักบาท
การที่เราเกิดและเติบโตมาในสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา สิ่งหนึ่งที่คงได้ยินมาตั้งแต่เด็ก คือ เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า "บุญ" ซึ่งมีทั้งแนวคำสอนและคติความเชื่อกันว่า เป็นพลังงานด้านบวกที่ก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตและโลกใบนี้ ตั้งแต่การยกระดับจิตใจของผู้ที่กระทำ ไปจนถึงพลานุภาพในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน
ดังนั้น จึงมีการแนะนำพร่ำสอนให้กระทำสิ่งที่ถือเป็นต้นกำเนิดของพลังงานบุญที่ว่านี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าต้องมีการเสียสละเงิน หรือ สิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นการถวายแด่พระภิกษุสงฆ์หรือมอบแก่ผู้คนทั่วไปที่อยู่ในฐานะด้อยกว่า เพื่อแลกกับบุญที่จะได้มา ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจว่า ผู้ที่จะมีโอกาสทำบุญได้มาก คือ ผู้ที่มีเงินทองหรือมีกำลังทรัพย์เท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง ช่องทางในการสร้างบุญมีมากกว่านั้น และเราสามารถสร้างได้ในวันที่ไม่มีกำลังทรัพย์ หรือมีไม่เพียงพอ เพราะวิธีการสร้างบุญนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนเสมอเหมือนการทำธุรกิจหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยน
Advertisement
Advertisement
โดยในทางพระพุทธศาสนา แนะนำวิธีการทำบุญไว้ 10 ช่องทาง
ที่สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ดังนี้
1. การทำบุญโดยการแบ่งปันสิ่งที่เรามีอยู่ และสามารถเอื้อเฟื้อแก่ผู้อื่นได้โดยไม่เดือดร้อน เช่น การบริจาคเสื้อผ้า ของใช้ที่ไม่ใช้แล้ว การแบ่งปันอาหารการกินที่เราทำเองหรือมีกินเพียงพอให้แก่เพื่อนบ้าน หรือนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่ต้องไปซื้อหามาใหม่เพื่อมาทำบุญ ซึ่งวิธีการทำบุญลักษณะนี้ก็คือการให้ทาน หรือภาษาพระเรียกว่า ทานมัย ซึ่งแปลว่า บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน นั่นเอง
2. การทำบุญโดยการควบคุมการกระทำและคำพูดของตน ไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนวุ่นวายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าใช้ภาษาธรรมมะหน่อยก็คือการรักษาศีลนั่นเอง ซึ่งเราสามารถกระทำได้ด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องใช้ตัวช่วยหรืออุปกรณ์ใด ๆ ถามว่าการรักษาศีลก่อให้เกิดบุญอย่างไร ผู้เขียนมองว่า การรักษาศีลก็คือ การประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งการไม่เบียดเบียนใคร เท่ากับเป็นการสร้างสันติสุขให้แก่ตัวเราเองและผู้อื่น เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนและโลกอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดพลังงานในการป้องกันตนเองจากเรื่องร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่รู้จักควบคุมการกระทำและคำพูด และส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นผลจากการรักษาศีล ที่เรียกว่า ศีลมัย คือ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล
Advertisement
Advertisement
<< ภาพโดย truthseeker08 จาก Pixabay >>
3. การทำบุญโดยการฝึกขัดเกลาสภาพจิตใจ ความคิด และอารมณ์ ให้อยู่ในสภาวะที่เป็นบวกและมีคุณภาพ คือ มีความสงบ นิ่ง ทรงพลัง ซึ่งศัพท์ทางธรรมเรียกว่า การภาวนา ซึ่งพระอาจารย์ผู้สอนการฝึกจิตภาวนาหลาย ๆ ท่านกล่าวว่า การฝึกภาวนานี้สามารถกระทำได้ด้เวยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา ตามความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องมานั่งหลับตาทำสมาธิอย่า่งที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนมองว่า การฝึกภาวนาก็เหมือนกับการฝึกออกกำลังกายเพื่อให้สภาพร่างกายแข็งแรงนั่นเอง แต่ในการฝึกจิตใจด้วยการภาวนานั้น จะฝึกให้มีความสงบนิ่งมากที่สุด ยิ่งนิ่งยิ่งทรงพลัง ซึ่งพลังที่เกิดขึ้นจากฝึกภาวนาก็คือพลังงานบุญ ตามศัพท์ที่เรียกว่า ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการภาวนา นั่นเอง
4. การทำบุญโดยการวางตัวให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งตรงกับศัพท์ธรรมะว่า อปจายนมัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อนตน เป็นหนึ่งในสิบวิธีการสร้างบุญในทางพระพุทธศาสนา ด้วยการแสดงออกทางกายและวาจา โดยไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาสิ่งของกำนัลไปแสดงความนอบน้อมอย่างที่หลายคนอาจจะเข้าใจ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ผลโดยตรงที่ได้จากการใช้วิธีนี้ คือ ช่วยขัดเกลาความคิดและจิตใจของเรา ไม่ให้มีทิฏฐิหรือความอวดดื้อถือดีมากเกินไป และยังทำให้เป็นเสน่ห์แก่ตัวเราผู้กระทำ อันจะส่งผลให้ผู้ที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ คนวัยเดียวกัน หรือแม้แต่ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่า มีความรักใคร่เอ็นดู พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ อันอาจถือได้ว่า เป็นผลจากพลังงานบุญที่เกิดจากการใช้วิธีนี้สร้างขึ้นมา
Advertisement
Advertisement
<< ภาพโดย Daniela Dimitrova จาก Pixabay>>
5. การทำบุญโดยการช่วยเหลือการงาน บริการสังคม หรือทุกวันนี้เราจะคุ้นเคยกับคำว่า จิตอาสา ซึ่งเป็นการเสียสละแรงกาย แรงใจ และเวลา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเงิน แต่ผลที่ได้ในแง่ของการทำบุญนั้น ผู้เขียนมองว่า ได้ผลไม่น้อยกว่าการใช้เงินทำบุญเลย
6. การทำบุญโดยการแบ่งปันบุญของตนให้ผู้อื่น คือ ลองสมมติว่า บุญ คือ ทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่เราได้มาแล้วไม่ว่าจากช่องทางใด และเห็นว่ามีพอที่จะแบ่งปันแก่คนอื่นที่อาจจะมียังไม่มีโอกาสสร้างบุญได้มากเท่าเรา เราก็สามารถแบ่งปันบุญที่เรามีอยู่ เหมือนกับการแบ่งปันสิ่งของ ด้วยการตั้งใจส่งมอบบุญที่เรามีออกไป ไม่ว่าจะส่งมอบโดยเฉพาะเจาะจง หรือแผ่ออกไปไม่มีประมาณ ดังที่เราจะเคยเห็นการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลหลังจากการทำบุญในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถกระทำได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตองในการกรวดน้ำเสมอไป เพราะกลไกสำคัญในการแบ่งปันอยู่ที่ความตั้งใจของเรานั่นเอง เพียงแค่ตั้งใจก็สำเร็จได้ ดังศัพท์ที่ว่า ปัตติทานมัย คือ บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศบุญกุศลให้เป็นทาน ซึ่งจะมีความพิเศษกว่าการให้ทานด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินเงินทองเสียอีก เพราะการให้ทานด้วยบุญกุศลนี้ ยิ่งให้ยิ่งเพิ่ม ไม่มีวันหมด ดังที่มีการเปรียบเทียบว่า บุญก็เหมือนกับเปลวไฟจากการจุดเทียน การแบ่งปันส่วนบุญก็คือการต่อเทียนออกไปเรื่อย ๆ เปลวไฟจากเทียนแท่งเดิมก็ยังไม่ดับ แต่มีเปลวไฟจากเทียนแท่งใหม่เกิดขึ้น ยิ่งต่อไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสว่างมากขึ้นเท่านั้น
<< ภาพโดย Myriam Zilles จาก Pixabay>>
7. การทำบุญโดยการอนุโมทนาบุญของผู้อื่น ที่เราคงคุ้นเคยกับการยกมือขึ้นกล่าวคำ สาธุ อนุโมทนา เวลาเห็นหรือทราบว่าคนอื่นทำบุญ โดยที่ขณะนั้นเราอาจจะไม่ได้ร่วมสละทรัพย์หรือเงินทองทำบุญด้วย เพียงแต่ส่งความรู้สึกไปพลอยยินดี เสมือนว่าเราได้ร่วมทำบุญนั้นด้วย ซึ่งวิธีนี้สามารถสร้างบุญได้จริง หากจะเปรียบเทียบก็คล้าย ๆ กับการต่อเทียนจากผู้จุดเทียนดังที่กล่าวในข้อที่แล้ว คือ แม้เราไม่ได้เป็นผู้จุดเทียนโดยตรง แต่เราใช้เทียนที่เรามีอยู่ คือ จิตใจที่พร้อมเปิดรับ และพลอยยินดีกับเปลวเทียนของผู้จุด นำไปต่อเทียนนั้นมา เปลวไฟก็จะติดที่เทียนของเรา และให้แสงสว่างได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการทำบุญที่เรียกว่า อนุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
// ภาพโดยtruthseeker08 จาก Pixabay//
8. การทำบุญโดยการฟังธรรมะ หรือที่เรียกว่า ธัมมัสวนะมัย (บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม) ซึ่งทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหรือเงินทองค่ารถค่าน้ำมัน (และค่ากัณฑ์เทศน์ ^^) ในการไปนั่งฟังพระที่วัดเสมอไป เพราะมีสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอใน Youtube หรือคลิปเสียงจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้สามารถเปิดฟังกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะขณะเดินทาง ระหว่างทำงาน พักผ่อน หรือก่อนนอน ซึ่งเป็นการสร้างบุญในแง่ของการพัฒนาคุณภาพจิตใจในขณะฟังธรรมและคิดตามไปด้วย ซึ่งบางครั้งมีลักษณะใกล้เคียงกับการฝึกจิตภาวนาดังที่กล่าวมาในข้อ 3 ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็จะคล้ายคลึงกัน
9. การทำบุญโดยการให้ความรู้ แนะนำสิ่งดี ๆ ที่เรียกว่าเป็นวิทยาทานหรือธรรมทาน ซึ่งเป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง เพราะเป็นการส่งมอบความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางโลก หรือความรู้เกี่ยวกับธรรมะ เพื่อชี้นำทางที่ดี ที่ถูก ที่ควร แก่ผู้ที่ยังอาจรู้น้อยกว่าเรา เพื่อให้เขามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
10. การทำบุญโดยการปรับทัศนคติของตนให้ถูกต้อง หรือใช้ภาษาธรรมะหน่อยก็คือ ทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐุชุกรรม) ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้เขียนมองว่า วิธีการนี้นอกจากจะเป็นช่องทางตรงในการสร้างบุญแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำบุญให้ถูกต้องและได้ผลเต็มที่เลยทีเดียว เพราะเหมือนกับการเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องก่อน ก็จะมองเห็นวิธีการที่จะไปสู่ผลสำเร็จโดยไม่หลงทาง
ทั้งสิบวิธีที่กล่าวมานั้น เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 หรือวิธีการทำบุญ 10 ประการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นช่องทางที่หลากหลาย ที่สามารถเลือกใช้ได้โดย ไม่จำต้องแยแสข้ออ้างที่ว่า ไม่มีเงิน ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส
เพราะจุดเริ่มต้นของการทำบุญจริง ๆ อยู่ที่ความตั้งใจที่จะทำ มิใช่ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าเสมอไป
ภาพปกบทความ โดย Paul Henri Degrande จาก Pixabay
ความคิดเห็น