อื่นๆ

18 มงกุฎ...บุกกุฏิเณร

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
18 มงกุฎ...บุกกุฏิเณร

ในปัจจุบันรูปแบบการหลอกลวงมีหลากหลายมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะทางโลกโซเชียลออนไลน์มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งมาก ไม่ว่าเรื่องการลงทุน การหาคู่  การปล่อยเงินกู้ การใช้รูปปลอม โปรไฟล์ดี เพื่อให้คนหลงเชื่อ หรือแม้แต่การแฮกข้อมูล ซึ่งจะว่าไปการจะไว้ใจกันแม้แต่คนใกล้ตัวบางครั้งถ้าเป็นเรื่องเงินแล้วก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่จะตามมา แต่ส่วนใหญ่ถ้าเราหรือใครที่จะต้องได้รับความเสียหายมักมีเหตุจากความโลภเสมอ

บาตรพระ เรื่องของเณรน้อยที่มาจากต่างจังหวัดรูปหนึ่ง มาอยู่ที่วัดในกรุงเทพฯ แทนพี่ชายที่เพิ่งลาสิกขาออกไปทำงาน ด้วยความที่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ค่อยมีเพื่อนมากนัก เพราะเพื่อนส่วนใหญ่ก็มาจากต่างจังหวัด และอยู่วัดไกลกัน การเดินทางในกรุงเทพฯก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักบวชโดยเฉพาะรถโดยสารประจำทาง ที่มีคนร่วมเดินทางที่หนาแน่นเสมอ หากเดินทางด้วยรถแท็กซี่ก็หมดค่าใช้จ่ายมาก วันหยุดเรียนของเณรน้อยเลยต้องอยู่กับวัดไม่ได้ไปไหน

Advertisement

Advertisement

เณรน้อย วันหนึ่งมีโทรศัพท์สายหนึ่งเข้ามาในเครื่อง แนะนำตัวเองว่าเป็นเพื่อนพี่ชาย เรียนเป็นสามเณรด้วยกันมา บอกชื่อพี่ชายได้ถูกต้อง อยากมาหาน้องเณรเพราะตัวเองทำงานที่ท่าอากาศยานแห่งหนึ่ง มีของอยากจะให้น้องเณรเพราะเป็นเพื่อนกับพี่ชาย น้องเณรก็เลยไว้ใจ แต่ก็ไม่ทันได้โทรหาพี่ชายว่ามีเพื่อนคนนี้จริงไหม ไม่ถึงชั่วโมงผู้ชายคนนั้นก็มาหา แต่งตัวภูมิฐาน มีนามบัตรให้ ชื่อ เบอร์โทร ตำแหน่งที่ทำงานในท่าอากาศยานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เวลาใกล้เพลจึงพาน้องเณรไปถวายเพลหน้าวัด จากนั้นก็เสนอสิ่งที่ตัวเองตั้งใจมาหาน้องเณร โดยบอกว่า ที่สนามบินที่ตนเองทำงานมีของหนีภาษีอยู่ ถ้าอยากได้ให้ไปแลกกับอะไรก็ได้ ด้วยความที่น้องเณรก็ไม่เข้าใจเกี่ยวกับของหนีภาษีต่าง ๆ มากพอ น้องเณรจึงถามกลับว่า

"ต้องทำอย่างไรโยมพี่"

"เอาตังค์ไปซื้อของแลกก็ได้"

Advertisement

Advertisement

"ซื้ออะไรดีครับ"

"เอาอย่างงี้ละกัน เอาตังค์ให้โยมพี่ แล้วจะเอาของมาให้"

"มีของอะไรบ้างครับ?"

"ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ของใช้ในบ้าน น้องเณรอยากได้อะไร"

"อยากได้โทรทัศน์เล็ก ๆ สักเครื่องเอาไว้ดูข่าวต่าง ๆ"

"แล้วตอนนี้น้องเณรมีเงินเท่าไหร่?"

"ติดตัวมีไม่ถึงร้อยเลยครับ ต้องไปกดตังค์ที่ฝั่งน้ำตรงข้ามกับวัดนี้มีตู้ ATM อยู่"

"งั้นเราไปกดตังค์ดีกว่า"

"แล้วน้องเณรมีเพื่อนวัดอื่นอีกไหม โยมพี่อยากไปช่วย"

"ก็มีนะ อยู่วัดแถว ๆ สามเสน"

"มีที่ไหนอีกไหม?"

"มีครับ แต่ไม่รู้จักเขตวัดที่เพื่อนอยู่"

"งั้นบอกชื่อวัดกับเพื่อนมาก็ได้"

นามบัตร ผู้ชายคนนั้นพยายามถามถึงเพื่อน ๆ ของน้องเณรอีกหลายรูปเลย หลังจากนั้นทั้งสองก็ข้ามเรือโดยสารไปอีกฝั่งเพื่อทำการกดตังค์ แต่ที่บริเวณตู้  ATM มีคนมาใช้บริการเยอะมากและเป็นช่วงพักเที่ยงพอดี คนก็เลยมากดตังค์กันเยอะ ก็เลยให้น้องเณรกลับไปรอที่ร่ม ๆ ก่อน แล้วให้บอกรหัส ATM แล้วผู้ชายคนนั้นก็ไปต่อแถวรอกดตังค์ให้น้องเณร สักครู่ใหญ่ ๆ ผู้ชายคนนั้นก็กลับมาพร้อมแบงค์พัน 1 ใบ และคืนบัตร ATM ให้ พร้อมบอกน้องเณรว่าให้กลับไปรอที่วัดก่อน ตอนเย็นจะเอาโทรทัศน์มาให้ เณรน้อยก็กลับไปรอที่กุฏิตั้งแต่บ่ายจนเย็น ตั้งใจว่าถ้าได้โทรทัศน์มาในวันที่ไม่ได้ไปเรียนก็จะได้ดูข่าวหรือรายการต่าง ๆ ให้รู้สึกผ่อนคลายบ้าง

Advertisement

Advertisement

โทรทัศน์ รอจนเย็นก็ไม่เห็นมีวี่แววว่าจะมาก็เลยหยิบโทรศัพท์โทรกลับไปตามเบอร์โทรที่ผู้ชายคนนั้นโทรมาครั้งแรก ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้แล้ว ก็เลยนำนามบัตรขึ้นมา โทรหาตามเบอร์ที่เขียนไว้ ก็ติดต่อไม่ได้อีกเหมือนกัน ก็เลยลองโทรหาเพื่อนอีกวัดที่สนิทกัน ก็ทราบว่าเพื่อนก็ถูกผู้ชายคนหนึ่งไปหาเพราะมีคนแนะนำมาอีกต่อ ใช้วิธีเดียวกันว่าเป็นเพื่อนของพี่ชาย มีของหนีภาษี แล้วถามว่ามีเพื่อนคนอื่น ๆ อีกไหม เพื่อนก็เลยแนะนำมาหาน้องเณรตามลำดับ และเพื่อนก็ขอโทษที่แนะนำให้มาหา เลยรู้ว่าถูกหลอกไปแล้ว ก็เลยรีบโทรหาเพื่อนคนอื่น ๆ ที่ได้แนะนำกับผู้ชายคนนั้นไปเพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอกอีก โทรหาพี่ชาย พี่ก็บอกว่าไม่รู้จักเหมือนกัน

วันต่อมาได้ทราบข่าวการถูกจับของผู้ชายคนนั้นขณะที่กำลังไปก่อเหตุที่วัดอื่นอยู่ สามเณรที่เสียหายได้วางแผนกับพระในวัดทำทีเหมือนเชื่อแล้วเอาเงินให้จากนั้นตำรวจที่มารออยู่แล้วก็แสดงตัวออกมา

เงินหนึ่งพันบาท สามเณรน้อยก็ได้แต่อโหสิกรรมไป ไม่ติดใจเอาความใด ๆ คิดเสียว่าเงิน 1,000 บาทที่เอาไป เป็นหนี้ที่เคยทำไว้มาก่อน ถือว่าเป็นค่าบทเรียนของความโลภ และบทเรียนของการเชื่อคนง่ายเกินไป

เณรน้อยยังนึกในใจ...ดีนะมีแค่พันเดียว ถ้ามีมากกว่านั้น บัตร ATM ก็คงไม่ได้คืน...

ทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นของผมสมัยที่เป็นเณรน้อยไปอยู่ที่วัดในกรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ยังจำได้ไม่ลืมเลย

ดังนั้นความโลภ ความหลงในรูปร่างหน้าตา คารม หรืออะไรที่ได้มาง่าย ๆ ก็อย่าได้หลงเชื่อกัน การทำงานได้เงินมาด้วยความสุจริตจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว ขอให้มีความสุขกับการทำสัมมาอาชีพ ไม่เบียดเบียน คดโกงใคร ได้น้อยแต่ดี ดีกว่าได้มาก แต่ผิดทาง

"ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน"

สำนวนไทยนี้ยังคงใช้ได้เสมอไม่ว่าจะยุคไหนก็ตามและขณะเดียวกันถ้าเราไม่อยากเสียหายก็ต้องยึดสุภาษิตไทยที่ว่า

"อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" ที่ยังใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน
บ่อบัวเครดิต

ภาพปก โดยผู้เขียน และขอบคุณแอพ canva ใช้ตกแต่งข้อความ

ภาพประกอบที่ 1-6 โดยผู้เขียน


เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์