ไลฟ์แฮ็ก
4 checklist สะกิดใจ ก่อนไปแจ้งความ (ให้ได้ความ)
หลังจากวันที่ผมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากการสาธิตของทนายดำ เกี่ยวกับการปฏิบัติเมื่อเจอสถานการณ์บนท้องถนนที่ทำให้เรากลายเป็นผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหา ดังที่เขียนไว้ในบทความ "5 ยุทธวิธีรับมือ เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาในคดีจากการใช้รถใช้ถนน" แล้ว ผมก็ไม่ได้พบทนายดำเจ้าเพื่อนยากอีก เพราะต่างคนต่างก็ยุ่งอยู่กับภารกิจการงานของตน
จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมเข้าไปทำธุระในกรุงเทพ เลยแวะหาเจ้าเพื่อนเกลอ พอดีวันนั้นเขากำลังจะไปยายประนอม ญาติห่าง ๆ ของเขาที่พักอาศัยอยู่แถวปริมณฑล โดยผมเองก็รู้จักคุ้นเคยกับยายประนอมมาก่อน จึงได้ถือโอกาสติดตามไปเยี่ยมเยียนแกด้วย
ยายประนอมแกมีนิสัยค่อนข้างขี้บ่น แกสามารถบ่นได้กับทุกเรื่องรอบตัว ตั้งแต่เรื่องความหงุดหงิดไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวของแกเอง ไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศ
Advertisement
Advertisement
เช่นเดียววันที่ผมกับทนายดำเข้าไปเยี่ยม ก็ได้ฟังยายประนอมบ่นเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ จับใจความได้ประมาณว่า แถวบ้านที่แกพักอาศัยอยู่นั้น มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างวุ่นวาย ด้วยปัญหาจุกจิกกวนใจ ตั้งแต่การทะเลาะเบาะแว้งหรือกระทบกระทั่งของคนในชุมชน ไปจนถึงปัญหาอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย อะไรพวกนี้ แต่พอไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บ่อยครั้งก็ไม่ค่อยรับแจ้งความ หรือบางทีก็รับแจ้งความแบบขอไปทีเหมือนไม่ค่อยเต็มใจ หรือบางกรณีแจ้งความไปก็บันทึกไว้แต่ไม่เห็นมีการดำเนินการหรือจัดการอะไรกับคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ซึ่งเป็นเหมือนความอัดอั้นตันใจที่แกระบายให้ผมและเพื่อนฟัง
หลังจากฟังยายประนอมบ่นจนเหมือนจะพอใจ (หรือไม่ก็เหนื่อย 😄) จึงหยุดพักยก ก่อนจะปลีกตัวออกไป บอกว่าจะไปหาของกินเล่นมาให้เพิ่มเติม วงสนทนาจึงเหลือผมนั่งคุยกับทนายเพื่อนยากถึงประเด็นเกี่ยวกับปัญหาหนึ่งที่ได้จากการบอกเล่า (บ่น) ของยายประนอม คือ เรื่องการไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้ยินประชาชนหลายคนบ่นว่า ไปแจ้งความแล้วเหมือนไม่ได้ความ ว่าจะมีวิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
Advertisement
Advertisement
ทนายดำยิ้ม (อีกแล้ว) ขยับตัววางท่าเป็นผู้ทรงภูมิรู้ขึ้นมาตามเคย ก่อนจะเอ่ยขึ้นในลักษณะเหมือนวิเคราะห์ปัญหา
/ภาพโดย geralt จาก pixabay/
"ปัญหาเรื่องการไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วคนที่แจ้งรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจนี่นะ ถ้ามองอย่างเป็นกลาง โดยไม่ได้เข้าข้างใคร และยังไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของตำรวจเค้าเนี่ย บางทีคนที่ไปแจ้งความ ก็ต้องดูด้วยว่า การที่เราไปแจ้งความเนี่ย มันอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ในการที่ตำรวจเขาจะรับแจ้งหรือดำเนินการให้ได้มากน้อยแค่ไหนด้วยนะเว้ย...เพราะถ้ามันไม่เป็นไปหลักเกณฑ์หรืออยู่ในขอบเขตที่เขาจะรับแจ้งหรือดำเนินการให้ได้ เราก็คงไปโทษตำรวจเขาฝ่ายเดียวไม่ได้นะถ้าเขาไม่สามารถรับแจ้งความหรือดำเนินคดีตามที่เราต้องการได้อ่ะเพื่อน..."
/ภาพโดย www_slon_pics จาก pixabay/
Advertisement
Advertisement
"แล้วจะดูยังไงหล่ะ ว่าไอ้การที่เราจะไปแจ้งความเนี่ย ตำรวจเค้าจะรับแจ้งหรือดำเนินคดีให้ได้มากน้อยแค่ไหน ยังไงอ่ะ" ผมถามโดยเจตนาเปิดช่องให้ทนายเพื่อนเก่าที่กำลังจะแก่ได้แสดงภูมิรู้อีกครั้ง
และก็เป็นไปตามที่คาด เมื่อสีหน้าของทนายดำฉายแววแห่งความกระหยิ่มยิ้มย่องและความภูมิอกภูมิใจ ก่อนจะเริ่มอธิบาย
"กูยกข้อพิจารณาให้ฟังแบบสรุป ๆ ละกันนะ ว่า การที่จะไปแจ้งความได้เนี่ย มันมีหลักเกณฑ์สำคัญอะไรบ้าง..."
"อย่างแรกเลย เรื่องที่แจ้งความเนี่ยมันจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำผิด ที่เรียกว่าเป็นความผิดอาญา
/ภาพโดย mohammed_hassan จาก Pixabay/
ก็คือความผิดที่คนทำจะต้องรับโทษ หลัก ๆ ก็โทษจำคุกหรือโทษปรับ เช่น ลักขโมย ทำร้ายร่างกาย ดูหมิ่น ด่าทอ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเค้ามีอำนาจสืบสวนสอบสวนเฉพาะในคดีอาญา(1) ซึ่งการสืบสวนสอบสวนของตำรวจเนี่ยก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา โดยอาจจะเปรียบเทียบปรับตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ หรืออาจจะส่งต่อให้อัยการยื่นฟ้อง ดำเนินคดีในชั้นศาล แต่ถ้ามันไม่ใช่คดีอาญา เช่น เป็นเรื่องคดีแพ่ง คือ พวกเรียกร้องค่าเสียหายอะไรพวกนี้ ตำรวจเค้าไม่มีอำนาจรับแจ้งความหรือสืบสวนสอบสวนให้ ต้องไปหาทนายฟ้องเป็นคดแพ่งเอา.... "
"อย่างที่สอง เรื่องที่ไปแจ้งความเนี่ย มันจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดในท้องที่ของสถานีตำรวจที่ไปแจ้งด้วย
/ภาพโดย mohammed_hassan จาก Pixabay/
เพราะเวลามีการสอบสวนในเรื่องนั้น ๆ ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนเค้าจะมีขอบเขตอำนาจหน้าที่สอบสวน ที่กฎหมาย ใช้คำว่า มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่า ได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน(2) หรือถ้าเรื่องมันเกิดขึ้นหลาย ๆ ท้องที่เกี่ยวพันกัน ก็ต้องมีอำนาจในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในบรรดาท้องที่ที่เกี่ยวพันกันนั้นด้วย(3) สรุปก็คือ ต้องแจ้งตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ"
"อย่างที่สาม คนที่ไปแจ้งความเนี่ย ต้องเป็นผู้เสียหาย
ก็คือคนที่ได้รับผลจากการทำผิด(4) เช่น คนที่โดนทำร้าย คนที่โดนลักทรัพย์ คนที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท อย่างนี้เป็นต้น รวมถึงบางกรณีอาจให้คนที่มีอำนาจจัดการแทน เช่น กรณีผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนจัดการเองไม่ได้ พ่อแม่ลู
กเมียก็จัดการแจ้งความแทนได้(5) อย่างนี้ถึงจะแจ้งความเพื่อขอให้เอาผิดหรือเอาเรื่องเอาราวกับคนทำ คือเอาตัวมาลงโทษได้ ภาษากฎหมายเรียกว่าเป็นการร้องทุกข์(6) แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย อาจทำได้เพียงการกล่าวโทษ คือ บอกว่ามีคนทำผิดแบบนั้นแบบนี้ (7) แล้วให้ตำรวจเค้าไปสืบสวนตามอำนาจหน้าที่เอา "
/ภาพโดย geralt จาก pixabay/
"อย่างที่สี่ ก็ต่อเนื่องมาจากเมื่อตะกี้ที่บอกว่า คนที่เป็นผู้เสียหายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิร้องทุกข์ คือ กล่าวหาคนที่ทำผิด ว่าทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย(8) และต้องการให้เอาตัวคนทำผิดมารับโทษ
อันนี้ต้องระบุให้ชัดเจนนะ ว่าต้องการให้เอาตัวคนผิดมารับโทษ ก็คือการแสดงความประสงค์จะดำเนินคดีนั่นเอง
หากไม่แจ้งให้ชัดเจน มันก็จะเป็นการไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ต่างจากการกล่าวโทษธรรมดา ๆ ที่ใครก็กล่าวโทษได้ และเมื่อไม่มีการร้องทุกข์ ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ในคดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต้องมีการร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซะก่อน(9)"
"โห...คุยกับมึงเนี่ยได้ความรู้ทุกรอบเลยนะ" ผมป้อนลูกยอด้วยความรู้อุปนิสัยใจคอของเพื่อน
และเหมือนเพื่อนก็จะรู้ทันเมื่อเห็นผมหยิบสมุดบันทึกและปากกาขึ้นมาจดประเด็นที่เขาพูดให้ฟัง เพราะเขาเอ่ยดักคอขึ้นว่า
"แล้วนี่มึงจะเอาเรื่องที่กูพูดไปเขียนเป็นบทความส่งทรูไอดีอินเทรนด์อะไรนั่นของมึงอีกใช่มั้ยเนี่ย"
ผมยิ้มเขิน ๆ แล้วเอ่ยเลียบเคียงถามหยั่งเชิง "แล้วมึงว่าไง กูน่าจะเอาไปเขียนได้มะ เดี๋ยวกูให้เครดิตมึงด้วย ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์นะ..."
ทนายดำหัวเราะอย่างอารมณ์ดี "เอาไปเขียนเหอะกูไม่หวง กูก็ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคงไม่ได้หาอ่านได้จากบทความทั่วๆไปหรอก ที่เหลือคือหน้าที่มึงแล้วหล่ะ ที่จะเขียนตามสไตล์ของมึงให้โดดเด่น เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดคนอ่านตามคอนเซ็ปต์ของเว็บไซต์เขาละกัน ไม่งั้นโดน บก.ปฏิเสธแล้วจะมานั่งหงุดหงิด โทษกูไม่ได้นะโว้ย!! "
แล้วเราก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน ในขณะที่ผมแอบนึกด่ามันในใจ ว่ามึงบังอาจมากที่เอาเรื่องจริงมาพูดเล่น!!
อ้างอิง
(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 - 21/1
(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18
(3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19
(4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1(4)
(5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5
(6) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1(7)
(7) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1(8)
(8) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 1(7)
(9) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา121 วรรคสอง
ภาพปกบทความโดย www_slon_pics จาก pixabay
ความคิดเห็น