ไลฟ์แฮ็ก

4 เคล็ดลับชอปปิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
4 เคล็ดลับชอปปิ้งอย่างไรไม่ให้เป็นภาระโลก

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้เรากลับมาอีกครั้งด้วยเรื่องราวดี ๆ ที่เรานั้นได้ปรับเปลี่ยนมาทำในชีวิตประจำวันแล้วได้ผลดีมาก ๆ เลยอยากมาแชร์ต่อให้ทุกคนได้อ่าน เนื่องจากว่าช่วงนี้เราได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับ ไฟป่า ฝุ่นควัน ทำให้เห็นว่าสภาพอากาศในปัจจุบันตอนนี้กำลังวิกฤตอย่างมาก หลายคนได้แต่แชร์ข่าวออกไป แต่ทว่าพวกเราสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่านั้น วันนี้เราได้นำ 4 เคล็ดลับในการชอปปิ้งแบบไม่เป็นภาระโลก (ร้อน) ซึ่งเป็นเทคนิควิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เริ่มได้ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเลย


เคล็ดลับที่ 1: คิดก่อนซื้อ

ก่อนที่เราจะไปชอปปิ้งแต่ละครั้ง เราจะลิสต์รายการที่เราจำเป็นไว้เสมอ อาทิ ผงซักฟอก ยาสีฟัน หรือ อื่น ๆ ที่เราจำเป็น เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะว่าเมื่อเราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ต เรามักจะเห็นสินค้าลดราคา สินค้า 1 แถม 1 มากมาย ทำให้เราอดไม่ไหวที่จะซื้อเก็บไว้ ทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นอาจจะไม่ได้จำเป็น หรือแม้แต่พวกของแถมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาม ถ้วย ถุงผ้า เราไม่ได้มองว่าการได้ของแถมเหล่านี้มานั้นทำให้เราคุ้มค่า เพราะหากเราไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น มันก็จะกลายเป็นขยะที่มาวางไว้เฉย ๆ ที่บ้านเสียมากกว่า ดังนั้นก่อนจะหยิบอะไรกลับบ้านให้เราคิดให้รอบคอบว่า สิ่งนั้นจำเป็น หรือ เราแค่อยากได้แค่นั้น ยิ่งเหล่าอาหารที่เราซื้อกลับมาก็ควรซื้อให้พอดี เพื่อที่จะไม่กลายเป็นขยะอาหาร ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหา Food Waste เห็นไหมคะว่าเรื่องเล็ก ๆ แค่นี้ พวกเราก็สามารถช่วยโลกได้เยอะแล้ว

Advertisement

Advertisement

1Photo by Raquel Martínez on Unsplash


เคล็ดลับที่ 2: เซย์โนว์พลาสติก และไม่เสพติดถุงผ้า

เราเริ่มปฏิวัติพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของเราตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ด้วยการนำพลาสติกเก่า ๆ ที่เก็บไว้นำมาติดรถ และติดกระเป๋าไว้ เวลาออกไปชอปปิ้งเราจะยื่นถุงพลาสติกเก่าเหล่านี้ให้พนักงานใส่ของแทนที่จะใช้ถุงพลาสติกใบใหม่ หรือซื้อถุงผ้าเพิ่มขยะให้โลกไปอีก นอกจากนี้หลายคนบอกว่าฉันไม่ได้ใช้ถุงพลาสติก เพราะซื้อถุงผ้าใหม่ตลอด แต่นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขยะให้โลกเช่นกัน ทางที่ดีถ้าเราสามารถลดพลาสติก และลดการซื้อถุงผ้าเพิ่มได้ก็จะยิ่งดีต่อโลกมากเท่านั้นค่ะ เพราะจำไว้ว่าถุงผ้าไม่ใช่กระแส ไม่ได้จำเป็นต้องมีเยอะ แต่เรานำมาใช้ให้คุ้มค่าดีกว่าเนอะ

1Photo by Sophia Marston on Unsplash


เคล็ดลับที่ 3: เตรียมกล่องอาหารไว้อุ่นใจกว่าเยอะ

Advertisement

Advertisement

ถุงพลาสติกใส่ของอาจจะลดลงแล้วก็จริง แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เราพยายามฝึกฝนตัวเองให้ทำเสมอคือการพกกล่องแก้ว หรือกล่องข้าวพลาสติกติดรถ หรือติดไว้ที่ออฟฟิศ ช่วงกลางวันบางครั้งเราลงไปซื้ออาหารข้างล่าง เราก็จะนำกล่องเหล่านี้ไปให้พ่อค้าแม่ค้าช่วยใส่อาหารมาให้ เพื่อที่จะลดกล่องโฟม ถุงข้าวแกง หรือแม้แต่กล่องข้าวแบบกระดาษ สำหรับเราแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นขยะหมดภายในไม่กี่นาที นอกจากนี้หลอดต่าง ๆ เราก็เลือกที่จะใช้เป็นแบบสแตนเลสล้างได้ เพื่อที่จะได้ไม่เพิ่มขยะพลาสติกด้วย แรก ๆ อาจจะดูยุ่งยากหน่อย เพราะเราต้องนำกล่องมาล้างเอง แต่เชื่อเถอะค่ะว่ามันดีต่อโลกของเรา ดีต่อเรา และดีต่อคนรุ่นหลังเราแน่นอน

1Photo by S'well on Unsplash


เคล็ดลับที่ 4: หยิบเท่าที่เราใช้ เหลือไว้ให้คนข้างหลัง

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่เราได้เรียนรู้ด้วยตนเอง คือการซื้อของอย่างพอดี พอกิน พอเพียง เวลาเห็นสินค้า 1 แถม 1 ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หลายคนจะโกยกลับบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคิดว่าคุ้ม เสียแล้วทิ้งยังดีกว่าไม่ได้ซื้อ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่ดีนักต่อโลกของเรา หากลองปรับเปลี่ยนแนวคิดว่า ฉันจะซื้อเท่าที่ฉันกิน ที่เหลือจะได้แบ่งให้กับครอบครัวอื่น ๆ ได้กินด้วย เมื่อกินได้แบบพอดีแล้ว ฉันก็ไม่ต้องทิ้งเศษอาหารเหล่านี้ให้เป็นภาระโลกอีกต่อไป เห็นไหมคะแค่ปรับเปลี่ยนแนวคิดชีวิตเราก็เปลี่ยน แล้วถ้าทุกคนช่วยกันทำแบบนี้้ในทุกบ้าน เชื่อเลยว่าจำนวนขยะในโลกใบนี้จะต้องลดลงแน่นอน

Advertisement

Advertisement

1Photo by Gerardo Marrufo on Unsplash


หลายคนบอกว่าเราคนเดียวจะไปเปลี่ยนโลกได้อย่างไร แต่เรากลับมีความเชื่อมั่นว่า เราคนเดียวแค่เริ่มต้นก็เท่ากับช่วยเปลี่ยนแปลงโลกแล้ว เมื่อเราเปลี่ยน คนรอบข้างเราก็มักมีพฤติกรรมที่จะปรับเปลี่ยนตาม หากเราเป็นพ่อแม่ เป็นอาจารย์ หรือเป็นบุคคลในสังคม ยิ่งควรที่จะเริ่มต้นเป็นตัวอย่างที่ดี  อย่าลืมว่าเรามาอาศัยอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น สิ่งที่เราควรทำคือการรักษาสิ่งแวดล้อมไว้เพื่อให้คนรุ่นหลัง รุ่นลูก รุ่นหลานของพวกเรา ได้เติบโตและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป :)

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
CHACHII
CHACHII
อ่านบทความอื่นจาก CHACHII

มนุดผู้รักชาเขียว หนังสือ และ การเดินทาง

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์