ไลฟ์แฮ็ก

5 วิธี ทำให้คุณดูฉลาดในที่ประชุม

596
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 วิธี ทำให้คุณดูฉลาดในที่ประชุม

การทำงานของหลายๆคน อาจจะต้องมีการประชุมเป็นส่วนหนึ่งของงานด้วยใช่มั้ยละคะ แต่บางครั้งการประชุมก็น่าเบื่อ และยากที่จะจดจ่ออยู่กับเนื้อหาในการประชุมเสียจริงๆ อย่างไรก็ดี การประชุมมีประโยชน์ต่อตัวคุณและงานของคุณมากกว่าที่คิดค่ะ เพราะเป็นอีกที่ที่คุณจะได้แสดงความสามารถออกมา หรือที่เรียกกันว่า โชว์กึ๋น และทำให้ทุกคนรวมทั้งเจ้านาย หัวหน้าของคุณเห็นว่า คุณนั้นมีศักยภาพมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่าให้การประชุมสูญเปล่าค่ะ มาใช้ประโยชน์จากการประชุม ทำให้ตัวคุณดูดี ดูฉลาดในที่ประชุมกันดีกว่า ว่าแต่ มีวิธีไหนบ้างนะ มาดูกันค่ะ

วิธีที่ 1 ตั้งคำถามเมื่อสงสัย

หลายคนไม่กล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาในการประชุม เพราะกลัวว่าจะดูไม่ฉลาด ดูไม่เข้าใจ เลยเก็บความสงสัยนั้นเอาไว้ แล้วไปตั้งคำถามหลังการประชุมกับผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ หรืออาจจะไปบ่นกับเพื่อนๆว่า ไม่เห็นจะเข้าใจเลยว่า ที่ประชุมหรือหัวหน้าต้องการให้ทำอะไรกันแน่ การทำแบบนี้ นอกจากจะทำให้คุณเสียเวลาที่จะต้องมาเสาะหาคำตอบหรือทำความเข้าใจในภายหลังแล้ว คำตอบที่คุณได้มาอาจจะมาจากการคาดเดาของใครบางคนที่ก็ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรืออาจจะได้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ด้วยค่ะ

Advertisement

Advertisement

เพราะฉะนั้น ดีที่สุด คือ เมื่อไม่เข้าใจ เมื่อมีข้อสงสัยก็ตั้งคำถามในที่ประชุมไปเสียเลย วิธีนี้ไม่ได้ทำให้คุณดูแย่หรือดูไม่ฉลาด ตรงกันข้าม กลับทำให้คุณดูดีขึ้นมาอีกต่างหาก เพราะคุณมีส่วนร่วม มีบทบาทในการประชุม ทำให้ทุกคนเห็นว่าคุณจดจ่ออยู่กับเนื้อหาของการประชุมอย่างตั้งใจ ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนที่ไม่กล้าถาม ก็จะเห็นคุณเป็นฮีโร่เลยค่ะที่คุณช่วยคลายข้อสงสัยที่พวกเขาไม่กล้าถาม หรือบางทีคุณอาจช่วยเปิดประเด็นที่พวกเขาคาดไม่ถึงก็เป็นได้ค่ะ แต่ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อตัวคุณเอง คือ คุณสามารถนำเนื้อหาจากการประชุมไปต่อยอดกับงานของคุณได้ทันทีและถูกต้องอีกด้วย

วิธีที่ 1

วิธีที่ 2 ตั้งคำถามเมื่อไม่สงสัย

หากการตั้งคำถามเมื่อสงสัยเป็นประโยชน์ การตั้งคำถามเมื่อไม่สงสัยก็เป็นประโยชน์เช่นกันค่ะ เพราะอะไรนะหรือ? ในเมื่อไม่สงสัย และเข้าใจอยู่แล้ว แล้วจะถามไปทำไมกันล่ะ? คุณคงมีคำถามนี้ขึ้นมาใช่มั้ยคะ คำตอบคือ การถามเมื่อไม่สงสัย เป็นการถามเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เป็นประโยชน์เช่นกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ถามเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่คุณรับทราบนั้นถูกต้องแล้ว (อย่างน้อยก็ทำให้คุณแน่ใจว่าคุณไม่ได้รับและแปลสารผิด) ถามเมื่อคุณเห็นว่าบางจุดอาจจะไม่ชัดเจนสำหรับผู้เข้าประชุมคนอื่นๆ หรือแม้จะเป็นแค่การถามเพื่อมีส่วนร่วมเฉยๆก็ได้ค่ะ ก็อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การมีส่วนร่วม มีบทบาทในการประชุม ทำให้ทุกคนเห็นว่าคุณจดจ่ออยู่กับเนื้อหาของการประชุมอย่างตั้งใจค่ะ และการตั้งคำถามเป็นการควบคุมให้สมาธิของคุณจดจ่ออยู่กับการประชุมอย่างต่อเนื่องค่ะ ครั้งหน้าอย่าลืมตั้งคำถามนะคะ แม้ว่าคุณจะไม่สงสัยก็ตาม

Advertisement

Advertisement

วิธีที่ 2

วิธีที่ 3 จดบันทึกลงสมุดบันทึกของคุณ

การจดบันทึกเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณไม่หลุดโฟกัสไปจากการประชุมที่อยู่ตรงหน้า นอกจากนี้ยังอาจจะจดบันทึกเพื่อกันลืม จดบันทึกเพื่อไปต่อยอดงานของคุณ หรือแม้แต่การจะเป็นเพียงแค่การวาดรูปเล่นลงสมุดบันทึกเพื่อฆ่าเวลาจากการประชุมที่น่าเบื่อก็ตาม การจดบันทึกทำให้คุณดูฉลาดขึ้นมาอีกระดับ เพราะคุณจะดูตั้งใจ จดจ่อกับการประชุมอยู่ตลอดเวลาค่ะ

วิธีที่ 3

วิธีที่ 4 แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ แสดงออกว่าคุณเห็นด้วยหรือเห็นต่าง

หลายคนเมื่อเข้าประชุม อาจจะแค่เข้าไปนั่งเฉยๆและแทบจะไม่เคยพูดอะไรเลย เพราะรู้สึกว่าแค่ไปรับฟังแล้วก็นำมาปฏิบัติก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้าอยากดูเฉลียวฉลาด คุณควรพยายามแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการแบ่งปันประสบการณ์บ้างค่ะ คุณไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่าเห็นด้วยกับประเด็นต่างๆไปเสียทุกเรื่อง เพราะการแสดงความเห็นต่าง ก็เป็นอีกวิธีในการแสดงความฉลาดค่ะ แต่ต้องแสดงออกอย่างมีหลักการและมีเหตุผลที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากคุณรู้สึกว่ายากที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย อาจจะแสดงออกด้วยการตั้งคำถามในจุดที่คุณไม่เห็นด้วยแทนที่จะเป็นการคัดค้านหรือพูดออกมาว่าไม่เห็นด้วย เพื่อรักษาบรรยากาศในที่ประชุมและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลอย่างมืออาชีพ รวมทั้งตัวคุณเองก็จะดูฉลาดและเป็นมืออาชีพเช่นกันค่ะ

Advertisement

Advertisement

วิธีที่ 4

วิธีที่ 5 พูดชี้แจงโดยอ้างอิงตัวเลข กราฟ หรือ สถิติ

การชี้แจงข้อมูลหรือจูงใจผู้คนในที่ประชุม การใช้แค่วาทศิลป์และความสนิทสนมคุ้นเคยกันระหว่างคุณและผู้เข้าร่วมประชุมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากขาดข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายมารองรับ ดังนั้น การจะนำเสนอ ชี้แจง หรือจูงใจผู้คน ควรเป็นไปในรูปแบบของการอ้างอิงตัวเลข กราฟ สถิติที่ชัดเจนเข้าใจได้ง่าย เพื่อสนับสนุนคำพูดของคุณ ทำให้คำพูดของคุณมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะไม่ใช่การคาดเดา

ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า

"เราควรทำโปรโมชั่นสำหรับผู้เข้าพักขั้นต่ำสามคืนให้ได้รับส่วนลดค่าอาหารเพิ่มเป็น 15% เพื่อจูงใจให้ลูกค้าพักนานขึ้นค่ะ"

เปลี่ยนเป็นพูดว่า

"เราควรทำโปรโมชั่นสำหรับผู้เข้าพักขั้นต่ำ 3 คืนให้ได้รับส่วนลดค่าอาหารเพิ่ม 15% เพราะจากการสถิติที่ผ่านมา ระยะเวลาเข้าพักเฉลี่ยของผู้เข้าพักอยู่ที่ 2.2 คืน และลูกค้ามากกว่า 50% อยากให้โรงแรมมอบส่วนลดค่าอาหารให้ด้วย ดังนั้น โปรโมชั่นนี้อาจจะช่วยจูงใจให้ลูกค้าพักกับเรานานขึ้น และเรามีโอกาสที่จะสร้างรายได้มากขึ้นทั้งในส่วนห้องพักและร้านอาหารค่ะ"

วิธีที่ 5

อย่าลืมนำทั้ง 5 วิธีไปลองใช้กันดูนะคะ และถ้าคุณมีวิธีอื่นๆอีกละก็ อย่าลืมนำมาแบ่งปันกันบ้างนะคะ

ภาพปก โดย ผู้เขียน

ภาพประกอบทั้งหมด โดย โปรแกรม PowerPoint

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน  App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Tarisa
Tarisa
อ่านบทความอื่นจาก Tarisa

อยากให้ทุกคนมีรอยยิ้มและสุขภาพดี

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์