อื่นๆ

5 วิธีรับมือกับนักเรียน ที่ไม่อยากเรียน

2.4k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 วิธีรับมือกับนักเรียน ที่ไม่อยากเรียน

5 วิธีการรับมือกับนักเรียน ที่ไม่อยากเรียน

ภาพคุณครูหน้านิ่วคิ้วขมวด ยืนรอนักเรียนอยู่หน้าห้อง พร้อมยกมือขึ้นดูนาฬิกาเป็นระยะอย่างอ่อนระอาใจ ดูจะเป็นภาพชินตาไปเสียแล้ว เมื่อถึงเวลาเรียนของนักเรียนห้องที่เลื่องชื่อลือชาด้านความไม่อยากเรียน  นี่ยังไม่รวมถึงเสียงพูดคุย หยอกล้อกันจอแจ  แอบเล่นโทรศัพท์บ้าง แอบกินขนมบ้าง หลับในห้องเรียนบ้าง  ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคุณครูที่กำลังเจอนักเรียนแบบนี้ เราคือเพื่อนกัน

ครูหลายคนแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการตักเตือน ต่อว่า ไปจนถึง ดุด่า และ ตี ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนส่งเสริมการเรียนรู้แล้ว ยังทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดการต่อต้าน จนนอกจากจะเกิดความไม่อยากเรียนแล้ว ยังเพิ่มความไม่ชอบครูเข้าไปอีก ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าไม่มีนักเรียนคนไหนอยากเรียนกับครูที่เขาไม่ชอบ

Advertisement

Advertisement

เบื่อ

เรามาดูวิธีรับมือกับนักเรียนที่ไม่อยากเรียน เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนที่แสนน่าเบื่อ ให้มีชีวิตชีวาและอบอวลไปด้วยความสุขกันเถอะ

1. “ไม่ชอบวิชา ชอบครูก็ยังดี”

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น 'ไม่มีนักเรียนคนไหนอยากเรียนกับครูที่เขาไม่ชอบ' จากการที่ผู้เขียนได้สำรวจลักษณะของครูที่นักเรียนอยากเรียนด้วยมากที่สุด ก็พบว่า 80% ของนักเรียน ชอบครูที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ มีความตลกสอดแทรกในการสอนบ้างพอให้คลายเครียด สำหรับคุณครูที่เป็นเสือยิ้มยาก หรือ ตลกไม่เป็น เน้นสอนเสร็จแล้วสั่งการบ้าน หมดคาบแยกย้าย ก็ลองพยายามยิ้มให้มากขึ้น(อย่างจริงใจ) มองหาเรื่องราวที่น่าจะเป็นประเด็นสนใจของนักเรียนมาพูดคุยเพื่อสร้างความผ่อนคลายบ้าง อาจจะเสียเวลาสักหน่อย แต่อย่างน้อยนักเรียนจะเริ่มเปิดใจให้คุณมากขึ้น ครูได้ใจ นักเรียนได้ความรู้ ก็คุ้มอยู่นะ

Advertisement

Advertisement

ครู

2. “โจทย์ยากไป ไม่อยากทำ”

เมื่อทำให้นักเรียนเปิดใจได้แล้ว ต่อไปก็ต้องให้เขาเปิดสมองรับความรู้จากเราด้วย เริ่มจากดูพื้นฐานความรู้ของนักเรียนและความสามารถในการพัฒนาตัวเอง เพื่อคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด เริ่มจากเนื้อหาที่ง่ายแสนง่ายให้นักเรียนรู้สึกว่า เฮ้ย! เราก็ทำได้นะ เพิ่มความซับซ้อนทีละนิด อธิบายช้า ๆ และหากมีเรื่องไหนที่ต้องใช้ความรู้เดิมมาเชื่อมโยง ก็อย่าเบื่อที่จะต้องอธิบายเรื่องเก่าซ้ำ ๆ ถึงเขาจะจำได้ไม่หมด แต่เขาจะรู้สึกดีมากกว่าการที่คุณครูพูดกับเขาว่า “เรื่องนี้เรียนมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงจำไม่ได้” อย่างแน่นอน

ยาก

3. “สื่อการสอนและกิจกรรม ช่วยได้มาก”

ลองหาสื่อการสอน กิจกรรม หรือเกมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สอน แต่อย่าให้ยากและซับซ้อนจนนักเรียนหมดความตื่นเต้นที่จะทำ ยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นอย่างมาก หากห้ามนักเรียนเล่นโทรศัพท์ไม่ได้ ก็ใช้โทรศัพท์ให้เป็นประโยชน์ซะเลย มีแอปพลิเคชันมากมายที่จะทำให้นักเรียนของคุณเกิดความรู้ควบคู่กับความสนุกสนาน อาทิ Kahoot  Plickers Classdojo เป็นต้น ลองหามาใช้กันดูนะคะ

Advertisement

Advertisement

สอน

4. “เห็นคะแนน ก็ชื่นใจ”

ทำให้นักเรียนของคุณรู้สึกว่า คะแนน เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้  ครูบางคนหักคะแนนเก่งจนน่าใจหาย จะดีกว่าไหมถ้าเปลี่ยนมาเป็น จดหน้านี้เสร็จอย่างเป็นระเบียบมีคะแนน ทำแบบฝึกหัดเสร็จทันในคาบมีคะแนน หรือแม้แต่ เข้าห้องเรียนตรงเวลามีคะแนน การให้คะแนนเป็นการเสริมแรงทางบวกที่จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าการทำดี มีความรับผิดชอบนั้นมีค่า อาจจะใช้ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซนต์กับนักเรียนบางคนแต่เมื่อเขาเริ่มรับรู้ว่าเพื่อนในห้องคนอื่น ๆ ได้คะแนนกันเยอะ และการได้มาของคะแนนนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรงนัก ก็จะทำให้เขาอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้

คะแนน

5. “นักเรียนทุกคนแตกต่าง...ครูต้องเข้าใจ”

กลวิธีใด ๆ ที่จะนำมาใช้รับมือกับนักเรียนกลุ่มนี้นั้นตัวครูเองต้องพิจารณาความเหมาะสม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนไว้เสมอ ความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต หรือปัญหาส่วนตัวที่นักเรียนมี ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนทั้งสิ้น ทำความรู้จักกับนักเรียนให้มากที่สุด  เพื่อจะสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนได้ เหมือนหมอที่ต้องเข้าใจอาการคนไข้ถึงจะสามารถรักษาได้ถูกต้อง

แตกต่าง

วิธีรับมือกับนักเรียนที่ไม่อยากเรียนทั้ง 5 วิธีข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนบรรยากาศในห้องเรียน ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเริ่มต้นที่ตัวครู เพียงก้าวเข้าไปในห้องเรียนด้วยรอยยิ้ม แม้สถานการณ์ และพฤติกรรมของนักเรียนอาจจะทำให้คุณครูแทบยิ้มไม่ออก  หยิบยื่นเนื้อหาและข้อคำถามที่ส่งเสริมกำลังใจให้นักเรียนค่อย ๆ ไต่ระดับจากง่ายไปยาก  ใช้สื่อการสอนและกิจกรรมที่หลากหลาย  เน้นให้คะแนนเพื่อเสริมแรงทางบวก และเปิดดวงตาในหัวใจเพื่อมองให้เห็น และเข้าใจถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน

เรามาเปลี่ยนห้องเรียนที่แสนอึมครึม และบรรยากาศมาคุ ไปเป็นห้องเรียนที่สนุกสนาน และมีแต่นักเรียนที่อยากเรียนไปด้วยกันนะคะ


เครติดภาพจาก pixabay.com

ภาพหน้าปก โดย JESHOOTS-com / ภาพที่ 1 โดย PublicDomainPictures/ ภาพที่ 2 โดย mohamed_hassan /

ภาพที่ 3 โดย PublicDomainPictures / ภาพที่ 4 โดย Steive Riot/ ภาพที่ 5 โดย akshayapatra / ภาพที่ 6 โดย WikiImages

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์