ไลฟ์แฮ็ก

5 เคล็ดลับ อาชีพนักแปล จากประสบการณ์ 27 ปี

353
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 เคล็ดลับ อาชีพนักแปล จากประสบการณ์ 27 ปี

ผมอายุ 63 ปีแล้ว...

จากชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดทำให้สรุปได้แล้วว่าทักษะที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของผมมากที่สุดได้แก่ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ

สมัยเรียนมัธยมเคยทักท้วงอาจารย์ที่สอน Literature ว่าท่านแปลผิด เพราะในประโยคที่ท่านกำลังแปลอยู่นั้นมันอยู่ในรูปปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ คือ not 2 ครั้งก็จะกลายเป็นไม่ not ไป ทำให้อาจารย์ชี้หน้าแล้วบอกว่า "คนนี้อนาคตจะไม่ธรรมดา"

พอเข้ามหาวิทยาลัย เรียนคณะวิทยาศาสตร์แต่จบมาได้ด้วยภาษาอังกฤษ คือตอนนั้นบ้าแบดมินตัน ในหัวมีแต่เรื่องแบด ฯ ไม่สนใจเรียนจนคะแนนตกต่ำ ก็แค่ลงเรียนภาษาอังกฤษเยอะ ๆ เกรดก็ดีขึ้นได้เอง จนจบมาได้ในที่สุด เพราะภาษาอังกฤษล้วน ๆ

พอเรียนจบเข้ารับราชการเป็นทหาร ภาษาอังกฤษก็พาให้ได้รับทุนไปเรียนชั้นนายร้อยที่อเมริกาตอน พ.ศ. 2528 ประมาณครึ่งปี แล้วพอถึงปี 2532 ภาษาอังกฤษก็พาให้ได้เข้าเรียนชั้นนายพันอีกประมาณครึ่งปี

Advertisement

Advertisement

เมื่อกลับมาแล้ว ระหว่างรับราชการน้องชายเอางานแปลที่เพื่อนเขาแปลแล้วไม่ผ่าน บรรณาธิการไม่อนุมัติจนผู้แปลถอดใจแล้ว มาลองให้ผมแปล ก็เรียกได้ว่ามันเป็นงานที่มีปัญหาน่ะนะ แต่ก็ลองทำดู ปรากฏว่า "ผ่าน" ทำให้ผมได้ร่วมงานแปลกับซีเอ็ด ฯ มาตั้งแต่นั้น เริ่มด้วยการแปลบทความลงนิตยสาร How to in business แล้วก็ตามมาด้วยหนังสือเล่ม หลังจากนั้นก็ได้แปลของสำนักพิมพ์อื่นอีกหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2536 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นจำนวนเล่มได้เกิน 50 เล่ม นับเป็นตัวเงินได้เกิน 3 ล้านบาท โดยหนังสือที่แปลนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทนิยาย และฮาวทู

ซุนวู

ฮาวทู

ภาพหนังสือของผู้เขียน โดยผู้เขียน

ปัจจุบัน วงการหนังสือลดความคึกคักลง งานหายากขึ้น หากแต่ภาษาอังกฤษยังคงสามารถนำเงินมาเข้ากระเป๋าผมได้อย่างต่อเนื่อง ผมหันมารับงานแปลทั่วไปจากต่างประเทศ ได้ยินมานานแล้วเหมือนกันว่าการรับงานแปลจากต่างประเทศได้เงินดีกว่าการรับงานแปลจากในไทยเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน

Advertisement

Advertisement

ดีว่ามี Facebook ช่วย...

คือได้ไปสมัครกลุ่มนักเขียนนักแปลไว้ แล้วมีการประกาศรับนักแปลจึงติดต่อเข้าไป พบว่าเขาให้ค่าแปลคำละ 50 สตางค์ ซึ่งก็ต่อรองไปว่าน้อยมาก ยังจำได้ว่าได้รับคำตอบมาว่า “คนอื่นก็ได้เท่านี้พี่” ก็เลยตัดสินใจลองทำดู เพราะคิดเสียว่าเป็นการฝึกงานแปลที่รับจากต่างประเทศ เรายังไม่เคยทำ ไม่รู้ว่าเขามีงานอย่างไรบ้าง จะทำได้บ้างหรือเปล่า ถือเสียว่าราคานี้เป็นราคาฝึกงานก็แล้วกัน

พอทำไปได้สักพักก็เริ่มหางานจากต่างประเทศเอง จากที่ไม่ค่อยกล้าเขียนอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยกล้าสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ พอค่อย ๆ ทำไปแล้ว ชั่วโมงบินเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็ทำได้คล่องขึ้น เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย อย่าง Grammarly ซึ่งเป็น App สำหรับช่วยตรวจแกรมม่าและท่วงทำนองการเขียนนั้นนับว่าช่วยได้มากทีเดียว

Advertisement

Advertisement

ผมค่อย ๆ สะสมเอเย่นต์ จนเดี๋ยวนี้มีเจ้าประจำอยู่ประมาณ 3 แห่ง  แห่งแรกเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่เดี๋ยวนี้โดนบริษัท American ควบรวมไปแล้ว แห่งที่ 2 เป็นบริษัทเวียดนาม แล้วก็มีแห่งที่ 3 เป็นบริษัทในไทยนี้เอง  ทุกแห่งล้วนให้ราคาไม่ต่ำกว่าคำละ 1 บาท ก็นับว่าพอใช้ได้อยู่ แต่ก็ยังหาช่องทางที่ทำให้ได้ค่าตอบแทนมากกว่านี้ไม่พบเลย

เมื่อถึงยุค covid  อาชีพอื่นได้รับความเดือดร้อนกันไม่มากก็น้อย แต่อาชีพผมยังมีงานทยอยเข้ามาให้ทำได้อยู่เรื่อย ๆ นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่งานของเราไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มากมายนัก แล้วก็ทำให้ได้เห็นความสำคัญของการมีไข่ใส่ไว้ในตะกร้าหลายใบ หรือมีช่องทางทำรายได้หลายช่องทาง ช่องทางหนึ่งเสียหายไปก็ยังเหลือช่องทางอื่นที่ยังสามารถให้รายได้กับเราได้ แต่ของผมโชคดีหน่อยที่ไข่ทุกใบปลอดภัยดี

สำหรับท่านที่อยากประกอบอาชีพนักแปล (ไม่ว่าจะแบบเต็มเวลาหรือฟรีแลนซ์) ผมขอสรุปเคล็ดลับที่ท่านควรทราบไว้ 5 ประการดังนี้

  1. ต้องฝึกภาษาอังกฤษ (หรือภาษาต้นทางที่ท่านถนัด)ให้เชี่ยวชาญ
    หากท่านเริ่มต้นด้วย "ฉันทะ" แล้ว วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา จะตามมาเอง วิธีสร้างฉันทะในภาษาต้นทางคือ ท่านต้องหาเนื้อหาที่น่าสนใจ และ/หรือ สนุกสนาน มาเสพ เช่นในกรณีของผมอาจารย์ที่สอนสมัยมัธยมนำ English literature มาสอน ทำให้เรียนได้อย่างสนุกสนานมาก เพราะก็เหมือนเป็นการเรียนจากนวนิยายนั่นเอง
  2. ภาษาไทยสำคัญกว่าที่คิด
    ในการแปลนั้น ภาษาปลายทาง (ภาษาไทย) สำคัญกว่าภาษาต้นทางเสียอีก งานแปลของท่านจะสละสลวยหรือไม่อยู่ที่ทักษะด้านภาษาไทยของท่าน แต่เรามักมองข้ามความสำคัญของภาษาไทย เพราะรู้สึกว่าใช้อยู่ทุกวัน รู้อยู่แล้ว แต่ที่จริงแล้วหากเราใส่ใจฟังที่ครูสอนให้ดี ศึกษาภาษาไทยให้แตกฉาน ก็จะช่วยท่านได้มากในเวลาประกอบอาชีพ ไม่ใช่แต่เพียงอาชีพนักแปล การเป็นข้าราชการก็ต้องเขียนหนังสือราชการ ซึ่งถ้าเรามีพื้นฐานภาษาไทยดีก็จะช่วยได้มาก
  3. การตลาดสำคัญที่สุด
    นักแปล (ซึ่งมักจะเป็นฟรีแลนซ์) ต้องหางานหรือช่องทางใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ช่องทางเดิม ๆ ที่ท่านใช้หารายได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจไม่มีอีกแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องเดินหน้าหาช่องทางใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ
  4. มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมและเพียงพอ
    • เน็ตแรง
    • คอมแรง
    • dic ดี (แนะนำ Longdo.com)dicภาพโดย MonikaP จาก Pixabay
  5. ต้องรู้จัก CAT tools ด้วย
    CAT tools ย่อมาจาก Computer Assisted Translation tools ซึ่งก็คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการแปลนั่นเอง เครื่องมือชนิดนี้จะช่วยแยกประโยคออกมาจากย่อหน้า ให้เราใส่ใจแปลไปทีละประโยค และมีฟังก์ชันช่วยจดจำประโยคที่เราเคยแปลไปแล้ว ไม่ต้องแปลซ้ำอีก รวมทั้งมี glossary ไว้ช่วยจดจำศัพท์ ให้เรานำกลับมาใช้ได้อย่างสะดวกด้วย CAT tools ที่นิยมกันในวันนี้มี Trados, Wordfast, Memsource, Matecat เป็นต้น
    laptopLalmch จาก Pixabay">ภาพโดย Lalmch จาก Pixabay

อาชีพนักแปลเป็นอาชีพหนึ่งที่ยังไม่สูญสิ้นไปตามกาลเวลา แม้หนังสือจะลดความนิยมลงไปบ้าง หากแต่ผู้คนยังต้องรับเนื้อหาจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก็กลับถาโถมเข้ามาได้อย่างรวดเร็วกว่าหนังสือไปเสียอีก ดังนั้น โลกจึงยังต้องการนักแปลมาทำหน้าที่ถ่ายทอดความหมายต่อไป (อย่างน้อยก็อีกสักพักใหญ่ ๆ ละน้า)

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์