ไลฟ์แฮ็ก

5 เทคนิคการจดจำเนื้อหาไปสอบ แบบง่ายๆแต่ได้ผล

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
5 เทคนิคการจดจำเนื้อหาไปสอบ แบบง่ายๆแต่ได้ผล

ในช่วงฤดูกาลที่เพื่อนๆต้องเข้าสอบ ไม่ว่าสอบประจำภาคเรียน สอบเลื่อนระดับการศึกษา หรือ สอบเพื่อเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ มักจะต้องมีการสอบหลายๆวิชาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และมั่นใจได้เลยว่า เพื่อนๆต้องพยายามจดจำและทำความเข้าใจเนื้อหาของหลายๆวิชาในเวลาเดียวกันอีกด้วย ดังนั้น ความท้าทายในการจดจำเนื้อหาเพื่อนำไปตอบข้อสอบจึงมีอยู่มากมายเลยทีเดียว วันนี้จึงอยากจะมาแบ่งปัน เทคนิควิธีจดจำเนื้อหาที่จะต้องใช้สอบได้ดีขึ้นและง่ายขึ้น ให้เพื่อนๆได้เอาไปใช้กันค่ะ

เทคนิคที่ 1 จดจำเฉพาะอักษรตัวแรก หรือ เฉพาะคำแรก

วิธีนี้คลาสสิคและยังใช้ได้ผลเสมอ และเป็นวิธีที่เหมาะมากหากสิ่งที่ต้องการจดจำอยู่ภายใต้หัวข้อเดียวกัน และมีหลายๆคำตอบที่จำแนกเป็นข้อๆภายใต้หัวข้อใหญ่นั้น เช่น เพื่อนๆเคยได้ยินการจดจำหมวดอักษรกลางมั้ยคะว่า แทนที่จะจำว่า อักษรกลางมีทั้งหมด 9 พยัญชนะ คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ แต่ให้จดจำว่า ไก่-จิก-เด็ก-ตาย-บน-ปาก-โอ่ง แทนค่ะ เพียงแค่ 6 คำ เท่านั้น แต่ใช้แทนการจำพยัญชนะได้ถึง 9 ตัว แถมถูกต้องแม่นยำด้วยค่ะ โดยคำว่า:

Advertisement

Advertisement

  • ไก่ เป็นตัวแทนการจำอักษร กอไก่
  • จิก เป็นตัวแทนการจำอักษร จอ จาน
  • เด็ก เป็นตัวแทนการจำอักษร ดอ เด็ก และ ฎอ ชฎา
  • ตาย เป็นตัวแทนการจำอักษร ตอ เต่า และ ฏอ ปฏัก
  • บน เป็นตัวแทนการจำอักษร บอ ใบไม้
  • ปาก เป็นตัวแทนการจำอักษร ปอ ปลา
  • โอ่ง เป็นตัวแทนการจำอักษร ออ อ่าง

ดังนั้น อักษรใดก็ตามที่ไม่ใช่พยัญชนะต้นของ 6 คำนี้ ก็ถือว่าไม่ใช่อักษรกลาง เห็นมั้ยคะว่า ทั้งง่ายและนำมาใช้ได้ทันทีเลยค่ะ นอกจากนี้ สามารถนำวิธีนี้มาประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชาเลยค่ะ ไม่ใช่แค่เฉพาะวิชาภาษาไทยเท่านั้นค่ะ

เทคนิคที่ 1

เทคนิคที่ 2 จดจำเป็นภาพ

การจดจำเป็นภาพ หากเพื่อนๆทำได้ จะสามารถจดจำได้ดีกว่าการท่องจำค่ะ วิธีนี้เหมาะมากกับการจดจำคำศัพท์ของภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่นๆ) ที่เรากำลังเรียนหรือกำลังจะสอบค่ะ เพราะการท่องจำคำศัพท์ว่าสะกดอย่างไร แปลว่าอะไร ยังลืมได้ง่ายกว่าการจดจำคำศัพท์เป็นภาพค่ะ

Advertisement

Advertisement

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า เพื่อนๆจำภาพเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่ตัวเองกำลังพยายามจดจำได้แล้ว คำตอบคือ ต้องทดสอบตัวเองค่ะ โดยการตั้งคำถามและพยายามนึกภาพคำตอบ แล้วพูด/เขียนคำตอบนั้นออกมาค่ะ ถ้านึกภาพคำตอบและตอบออกมาได้ทั้งการพูดหรือเขียน แสดงว่า คำตอบที่เป็นภาพนั้น เข้าไปอยู่ในความทรงจำของเพื่อนๆแล้วค่ะ เช่น หากพูดว่า apple ที่แปลว่า ผลแอปเปิ้ล แทนที่จะคิดว่า apple คือ การสะกดคำว่า a-p-p-l-e ให้นึกถึงภาพผลแอปเปิ้ลสีแดงหรือสีเขียวที่เราชอบกินแทนค่ะ วิธีนี้ต้องหมั่นฝึกฝนนะคะให้สมองเราได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ หากทำได้ จะไม่ใช่แค่ได้ประโยชน์จากการตุนคำศัทพ์ไว้ในสมองเท่านั้นค่ะ แต่มีผลทำให้การฝึกการสนทนาภาษาอังกฤษสามารถทำได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

เทคนิคที่ 2

เทคนิคที่ 3 จดจำโดยหาสิ่งเปรียบเทียบ

การหาสิ่งเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราต้องการจดจำ เป็นอีกวิธีลัดที่ช่วยให้เพื่อนๆจดจำโดยไม่ต้องท่องจำค่ะ มาดูตัวอย่างกันค่ะ เช่น เขียงที่ใช้ในการทำครัวตามหลักสุขอนามัยด้านอาหารที่ถูกต้องมีอยู่ 6 สี และใช้งานแตกต่างกันออกไปตามประเภทของอาหารที่จะใช้กับเขียงสีนั้นๆ โดยเฉพาะ เราจะมีวิธีจดจำว่า เขียงสีอะไรใช้กับอาหารประเภทใด โดยเปรียบเทียบสีของเขียงกับสิ่งอื่น ดังนี้ค่ะ

Advertisement

Advertisement

  • เขียงสีแดง เปรียบเทียบกับสีเนื้อวัวดิบ - เขียงสีแดงจึงไว้ใช้กับเนื้อสัตว์ดิบ
  • เขียงสีเหลือง เปรียบเทียบกับสีของลูกเจี๊ยบ หรือไก่วัยเด็กที่ขนเป็นสีเหลือง  - เขียงสีเหลืองจึงไว้ใช้กับสัตว์ปีกดิบ
  • เขียงสีน้ำตาล เปรียบเทียบกับสีของไก่ย่าง ที่ย่างจนสุกแล้วกลายเป็นสีน้ำตาล  - เขียงสีน้ำตาลจึงไว้ใช้กับเนื้อสัตว์ปรุงสุก
  • เขียงสีฟ้า เปรียบเทียบกับสีของน้ำทะเล - เขียงสีฟ้าจึงไว้ใช้กับเนื้อปลาและอาหารทะเลดิบ
  • เขียงสีเขียว เปรียบเทียบกับสีของพืชผัก - เขียงสีเขียวจึงไว้ใช้กับผักผลไม้
  • เขียงสีขาว เปรียบเทียบกับสีของขนมปัง - เขียงสีขาวจึงไว้ใช้กับขนมปังและผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งก็มีสีขาวเช่นกัน

เทคนิคที่ 3

เทคนิคที่ 4 จดจำโดยตั้งชื่อเล่นให้สิ่งนั้น

วิธีนี้ทำให้สิ่งที่เราจดจำยากและอาจจะเครียดเวลานึกถึงค่ะ ดังนั้น เราจะทำให้สิ่งนั้นหรือเรื่องนั้น กลายเป็นสิ่งที่น่ารัก โดยตั้งชื่อเล่นให้ เอาแบบน่ารักๆ หรือแบบเท่ๆก็ได้ค่ะ ยกตัวอย่าง เซลล์ (cell) มีโครงสร้างที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ เยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ไซโตพลาซึม (cytoplasm) และนิวเคลียส (nucleus) เพื่อนๆอาจจะตั้งชื่อ 3 ส่วนนี้ด้วยชื่อเล่น ที่เพื่อนรู้สึกว่าง่ายการจดจำ (สำหรับตัวเอง) เช่น เยื่อหุ้มเซลล์ เรียกว่า เมมบี้ ไซโตพลาซึม เรียกว่า ไซตี้ และนิวเคลียส เรียกว่า นิววี่ หากตั้งชื่อแล้วรู้สึกขำกับชื่อที่ตั้งขึ้นมา หรือรู้สึกชอบชื่อนั้น ก็จะยิ่งจดจำชื่อนั้นได้ดีค่ะ

เทคนิคที่ 4

เทคนิคที่ 5 จดจำโดยใช้บริบทหรือเรื่องราวของสิ่งนั้น

เพื่อนๆสามารถจดจำโดยใช้บริบทหรือเรื่องราวของสิ่งนั้นได้ดี โดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน หากเพื่อนๆจำได้ เมื่อครั้งที่ละคร เรื่อง บุพเพสันนิวาส กำลังออนแอร์อยู่นั้น หลายคนจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งละครเรื่องนี้อ้างถึงและสอดแทรกเนื้อเรื่องของตัวละครไว้กับประวัติศาสตร์ ผู้เขียนมั่นใจเลยว่าเพื่อนๆยังสามารถจดจำชื่อตัวละคร บทบาทของตัวละครนั้นในประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามลำดับได้อีกด้วย เพราะบริบทของละครช่างน่าสนใจและดึงดูดให้ผู้คนจดจำเนื้อหาของประวัติศาสตร์ได้ไปในเวลาเดียวกัน

ลองคิดดูว่า ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการท่องจำว่า ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ มีบุคคลสำคัญอะไรบ้าง มียศอะไร หน้าที่คืออะไร ได้ทำความดีงามอะไรบ้าง หรือทำไม่ดีอย่างไร โดยที่ไม่มีเรื่องราวมาเกี่ยวข้องเลย เพื่อนๆคงต้องใช้เวลาท่องจำกันสักระยะหนึ่งเลยค่ะ ในขณะที่การดูละครเรื่องนี้กลับทำให้เพื่อนๆจดจำได้ โดยไม่ต้องท่องจำแม้อต่นิดเดียวด้วยซ้ำ ยิ่งฉากไหนที่ดูแล้วมีความรู้สึกร่วมกับตัวละคร ทั้งสุข เศร้า ขำขัน ก็ยิ่งจดจำได้แม่นยำค่ะ ดังนั้น การจดจำเนื้อหาโดยมีเรื่องราวประกอบจะทำให้เข้าใจและจดจำได้ดีขึ้นมากๆเลยละค่ะ

เทคนิคที่ 5

หวังว่าทั้ง 5 เทคนิคจะช่วยให้เพื่อนๆ ทำคะแนนสอบได้ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วยนะคะ

ภาพปกและภาพประกอบทั้งหมด โดย ผู้เขียน

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน  App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
Tarisa
Tarisa
อ่านบทความอื่นจาก Tarisa

อยากให้ทุกคนมีรอยยิ้มและสุขภาพดี

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์