อื่นๆ

9 สิ่งที่ต้องรับมือเมื่อกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
9 สิ่งที่ต้องรับมือเมื่อกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร

9 สิ่งที่ต้องรับมือเมื่อกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร


ถ้าใครเลยเล่นเกม Farm ville ในเฟซบุ๊กจะจำได้ว่าการปลูกพืชผักมันเป็นอะไรที่สนุกมาก  หลังจากเราพรวนดิน หย่อนเมล็ด ผักจะค่อย ๆ โตขึ้น ยิ่งปลูกมากก็ยิ่งได้มาก หลายคนก็ใฝ่ฝันจะทิ้งชีวิตลูกจ้างในเมืองกลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรที่บ้าน ใช้ชีวิตชิว ๆ อยู่กับพืชผักสีเขียว  แต่ชีวิตจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น  ต้องเจออะไรมากมาย  ซึ่งแต่ละคนก็เจอไม่เหมือนกันแล้วแต่สภาพแวดล้อมและต้นทุนของแต่ละคน

1. คำพูดลบ ๆ จากคนรอบข้าง
ต้องยอมรับว่าสังคมชนบทยังยกย่องคนที่รับราชการหรือทำงานในเมืองก็จะดูโก้ดูดี  แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรากลับบ้านมาเป็นเกษตรกรหรือค้าขายทั่ว ๆ ไป  เราก็จะอาจจะเจอคำพูดลบ ๆ ทั้งจากคนที่หวังดีและคนขี้นินทา  เขาจะมองว่าเราล้มเหลวเลยกลับมาทำงานที่คนไม่ต้องจบปริญญาอย่างเขาก็ทำได้และทำไม่สำเร็จมาแล้วด้วย  แต่ถ้าเป็นฟาร์มใหญ่ ๆ หรือทำโรงเรือนอย่างดี  ข้อนี้ก็ถูกยกเว้นไป  เราต้องเข้าใจว่าเขาพูดจากชีวิตเขาเอง  เขาไม่ได้เข้าใจเป้าหมายของเรา  เราทำได้แค่หยุดแสวงหาการยอมรับจากคนอื่น และมุ่งหน้าแสวงหาความสุขให้ตัวเอง

Advertisement

Advertisement

2. ภัยธรรมชาติ การทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ประมง ซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติ  เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติ แต่เราป้องกันและบรรเทาได้ถ้ามีการเตรียมการรับมือที่ดี หลัก ๆ ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภาคใต้นี่เป็นปกติของน้ำท่วมเลย  ขึ้นอยู่ว่าจะท่วมมากท่วมน้อย ท่วมเวลาไหน  บางอย่างป้องกันได้แต่ต้องใช้ทุนเยอะ  หลายคนเลยเลือกที่จะหยุดการผลิตไปเลยในช่วงหน้าฝน  ภัยต่อมา คือ ภัยแล้ง น้ำท่วมว่าหนักแล้วแต่ก็อยู่ไม่นาน  ช่วงแล้งนี่แล้งนาน  น้ำทำการเกษตรก็ไม่พอ น้ำเลี้ยงปลาก็ไม่มี น้ำในคลองแห้งขอด  น้ำร้อนจนปลาลอยตายเกลื่อน สภาพอากาศก็แปรปรวน  ทำให้สัตว์อ่อนแอ ป่วยง่าย โรคต่าง ๆ ก็ระบาดและอีกสารพัดปัญหาที่ควบคุมไม่ได้

ภาพน้ำแห้งเหือด

ภาพโดย Mysticsartdesign จาก Pixabay

3. ศัตรูธรรมชาติ การปลูกพืชผักก็มีศัตรูธรรมชาติ เช่น หนู แมลง หนอน โรคต่าง ๆ การเลี้ยงปลาก็มีศัตรูทั้งในน้ำ เช่น งูน้ำ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในน้ำ และบนอากาศ คือ นกต่าง ๆ ที่ร้ายสุด คือ นกกาน้ำ  เพราะสามารถดำลงไปในน้ำและกินลูกปลาทีละเยอะ ๆ  ซึ่งศัตรูเหล่านี้เป็นต้นทุนที่เราต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการและทำให้ผลผลิตเราเสียหาย  ส่วนหอยที่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นศัตรูกับการเลี้ยงปลาแต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้มากเพราะเวลาลงจับปลาแต่ละครั้ง  ถ้าไปเหยียบเอาเปลือกหอย  จะได้แผลลึกเเละเจ็บเท้าไปหลายวัน

Advertisement

Advertisement

4. ราคาสินค้าตกต่ำ การทำเกษตรเชิงเดี่ยวส่วนมากเราจะขายให้พ่อค้าคนกลาง  ซึ่งเรากำหนดราคาเองไม่ได้ สินค้าประมงก็เช่นเดียวกัน  บางช่วงที่ผลผลิตออกมามาก  ราคาก็ตกแต่เราก็จำเป็นต้องขาย เพราะสินค้าพวกนี้รอไม่ได้  ถึงเวลาก็ต้องจำหน่าย  ถ้าเป็นปลาบางชนิด เช่น ปลาดุก ถ้าไซส์ใหญ่ไป แม่ค้าที่รับซื้อไปทำปลาดุกร้าก็ไม่รับซื้อ  เกษตรกรต้องหาทางขายไปยังผู้บริโภคโดยตรงหรือแปรรูปให้ได้

ภาพวัชพืช

ภาพโดย photoAC จาก Pixabay

5. ภัยจากเพื่อนมนุษย์ มักเกิดจากที่ดินที่ทำกินอยู่คนละที่กับที่พักอาศัย และไม่มีรั้วกำแพงกั้นที่มิดชิด   ที่พบบ่อย คือ การลักขโมยผลผลิต, ขโมยวัสดุอุปกรณ์, สัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้านเข้ามาทำลายผลผลิต  เช่น ทำนา ปลูกผัก แล้ววัวมากินข้าวหรือเหยียบย่ำพืชผัก  นอกจากทรัพย์สินจะเสียหายแล้วยังทำให้หัวเสียอีกด้วย

Advertisement

Advertisement

6. โดนโกง
ส่วนมากจะไม่เกิดกับลูกค้าหน้าใหม่แต่จะเกิดกับคนที่เรารู้จัก  ที่เราไว้ใจหรือเกรงใจ  เพราะถ้าเป็นคนไม่รู้จัก  เราจะระวังตัวและไม่ให้เครดิตแต่กับคนรู้จัก เช่น เพื่อน ญาติ คนละแวกบ้าน เราจะเกรงใจ ยอมให้เครดิต ส่งของก่อนค่อยจ่ายเงิน  พอเขาไม่จ่าย  เราก็ไม่กล้าทวงอีก

7. เงินหมุนไม่ทัน
ช่วงแรกที่เราเริ่มทำงาน  เราต้องใช้เงินไม่น้อยในการลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์  ตลอดถึงต้นทุนในการผลิต  แต่ผลผลิตทางการเกษตรต้องใช้เวลาในการผลิตและไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าพอครบกำหนดจะได้ผลผลิตดังคาด  บางครั้งจะได้เก็บผลผลิตอยู่แล้วแต่อยู่ ๆ ก็เกิดโรค  ฉะนั้นช่วงที่ผลผลิตยังไม่ออก  เราต้องมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาหรือมีเงินสำรองไว้ว่าช่วงที่เรายังไม่มีรายได้  เราจะยังมีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายแต่ละเดือน

8. งานหนักและเหนื่อย
ต้องทำใจว่างานเกษตรต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อน  งานก็หนัก  การทำงานหนักกลางแดดร้อน ๆ ทำให้หมดพลังงานเอาง่าย ๆ พาลหงุดหงิดด้วย  วางแผนจะทำโน่นทำนี่  พอเจออากาศร้อนมาก ๆ บางทีก็ต้องถอย  ซึ่งบางคนจะตื่นมาทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนถึง 10 โมง และเริ่มงานอีกทีหลัง 4 โมงเย็นจนค่ำ  ช่วงกลางวันนอนพักผ่อน  ทำงานที่อยู่ในร่ม  การปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพอากาศก็จะช่วยลดความเหนื่อยล้าลงได้  ส่วนการทำงานหนักมาก ๆ ยกของผิดท่า  ทำงานโดยไม่มีการป้องกัน เช่น สูดดมละอองข้าว ฝุ่น ควัน ช่วงแรก ๆ อาจจะยังไม่เห็นผล  แต่ถ้าทำต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะเกิดโรคตามมามากมาย  ทำอะไรจึงต้องป้องกันตัวเองไว้เสมอ  เพราะร่างกายเราสำคัญที่สุด

ภาพคนทำงานกลางแดด

ภาพโดย jackma34 จาก Pixabay

9. ยิ่งอยู่ไกลตัวเมืองระบบสาธารณูปโภคยิ่งไม่ดี
ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ในตัวเมืองไฟฟ้าจะไม่ค่อยดับหรือดับไม่เกิน 10 นาที  แต่นอกเมืองไฟฟ้าจะดับบ่อยกว่าและดับนานหลายชั่วโมง  ถ้างานเราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เช่น อนุบาลลูกปลา  เลี้ยงสัตว์ในฟาร์มปิด  ต้องมีระบบสำรองไฟไว้  ถนนหนทางในพื้นที่นอกเมืองก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อเยอะ รถเราก็สึกหรอได้ง่าย  มีค่าซ่อมบำรุงเยอะขึ้น

ถึงทุกอย่างจะไม่ได้ราบรื่นหมดแต่มันก็เป็นธรรมดาของทุกงานที่ต้องเจออุปสรรคกันบ้าง  ถ้างานนั้นเป็นงานที่เรารัก  เราก็จะสามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันมันไปได้  เมื่อเทียบกับการได้มาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ได้ดูแลพ่อแม่ในช่วงบั้นปลายของท่าน  แค่นี้มันก็คุ้มแล้วไม่ใช่หรือ

นิ้วกลมเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตในฝันของใครหลายคนที่อยากนั่งกินนอนกิน  แท้จริงแล้วเป็นชีวิตที่น่าสงสาร  เพราะมนุษย์มิได้อยู่ได้ด้วยอาหารท้องเท่านั้น  หากยังอยู่ได้ด้วยอาหารของหัวใจ  นั่นคือความหมายและคุณค่าของตัวเอง  ชีวิตที่มีความสุข คือ ชีวิตที่ได้ใฝ่หาตัวตนที่ดีกว่า  ตัวตนที่ยอดเยี่ยมที่สุด เราจะได้พัฒนาร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณผ่านในเส้นทางนั้น"

ขอให้ทุกคนมีความสุขกับเส้นทางที่ตัวเองเลือกนะคะ

ภาพปู่กับหลาน

ภาพโดย sasint จาก Pixabay

ภาพปกโดย likedok88 จาก Pixabay

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์