ไลฟ์แฮ็ก

First Jobbers' Salary, มือใหม่หัดมีเงินเดือน ควรรู้อะไรบ้าง?

236
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
First Jobbers' Salary, มือใหม่หัดมีเงินเดือน ควรรู้อะไรบ้าง?

ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ราคาข้าวของแพงทะลุรายได้ขั้นต่ำไปไกล เงินเฟ้อมาโบกมือทักทายเราอยู่ทุกวัน เด็กจบใหม่ทุกวันนี้ (หรือแม้แต่คนทำงานแล้วก็ตาม) พอเรียนจบก็มักจะมีอยู่สองทางเลือก ไม่เป็นลูกจ้าง ก็เป็นนายจ้าง

แน่ล่ะว่าใครก็อยากเป็นนายตัวเอง ถ้าโชคดีที่บ้านมีกิจการอยู่แล้ว มีป๊าม๊าคอยดูแลรอส่งต่อให้ การเริ่มต้นชีวิตก็อาจไม่ยากเย็นนัก และเงินเดือนก็ดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทุกท่านที่อยู่ในกลุ่มนี้คงมีเป้าหมายในการทำงานเป็นการพัฒนาธุรกิจเดิม หรือเพิ่มกำไรของกิจการให้อยู่ในหลักร้อยล้าน พันล้าน หรือมากกว่านี้ ขึ้นกับความเก่งความเก๋าที่ประยุกต์ใช้มาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยแล้วนั่นแหละ

ส่วนเราท่านที่ไม่ได้มีกิจการให้สานต่อ หรือไม่คิดอยากจะรับช่วงต่องานที่บ้านล่ะก็ ทางเลือกการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็เป็นทางเลือกที่มีมากมายให้หลายคนได้ฟาดฟันส่งใบสมัคร แย่งชิงตำแหน่งอย่างดุเดือด โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 อย่างนี้แล้ว คนที่มีงานอยู่แล้วก็ต้องเกาะเก้าอี้ไว้ให้มั่น คนที่ยังไม่มีก็ยื่นใบสมัครกันจนตาลาย และสุดท้ายคำตอบรับจากบริษัทก็มาถึง... ยินดีด้วย คุณได้รับเลือกให้เข้าทำงานแล้ว!

Advertisement

Advertisement

กลุ่มคนทำงาน

Cr. StartupStockPhotos / pixabay

First Jobber ที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยมาสดๆ ร้อนๆ เปลี่ยนสถานะรายได้จากการขอเงินพ่อแม่เป็นทำงานหาเงินใช้เอง แต่ใครจะรู้ไหม ว่าเงินเดือนที่ได้ทุกเดือนนั้น เราจะไม่ได้จำนวนเงินเป๊ะๆ ตามที่อยู่ในสัญญาการทำงานหรอกนะ

สาเหตุที่เราจำเป็นต้องรู้ว่า Net Income หรือรายได้สุทธิ ต่อเดือนของเราเป็นเท่าไหร่ ก็เพื่อที่เราจะสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง ตั้งแต่การเริ่มหาที่พัก (ในกรณีที่ไม่ได้อยู่บ้าน) การเลือกวิธีเดินทางไปทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เราไม่ต้องเดือดร้อนมีหนี้สินตั้งแต่ช่วงเริ่มทำงาน งั้นมาดูกันดีกว่า เมื่อถึงวันเงินเดือนออกแล้ว เราจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ และถูกหักค่าใช้จ่ายอะไรไปก่อนบ้าง...

1. ภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax)

เอกสารภาษี Cr. stevepb / pixabay

Advertisement

Advertisement

สองสิ่งที่เราหนีไม่พ้นนั่นคือ ความตาย และ ภาษี! การมีรายได้ก็หมายถึงการมีภาษีตามมาด้วย ซึ่งปกติแล้วเราทุกคนที่มีรายได้ต่อปีเกิน 150,000 ขึ้นไป มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา ดังนั้น บริษัทจึงหักเงินเดือนส่วนหนึ่งมาเป็นภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่นายจ้าง (ผู้จ่ายเงินได้) ต้องทำตามกฎหมายแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายภาษีประจำปีอีกด้วย เพราะการที่เราทยอยจ่ายภาษีที่ละน้อยๆ ต่อเดือน ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินก้อนสำหรับการจ่ายภาษีแต่ละครั้ง ซึ่งบางครั้งคนที่เพิ่งทำงานอาจลืมที่จะคิดเรื่องของภาษีไป ทำให้ต้องไปเดือดร้อนหาเงินมาจ่าย เพราะถ้าไม่จ่ายภายในเวลาที่กำหนด ขอบอกว่าค่าปรับจากสรรพากรคิดแพงมว้ากกก

ส่วนจะหักเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับเงินเดือนของเรา โดยจะนำเงินเดิอน (รายได้) มารวมกันตลอดทั้งปี เรียกว่า 'รายได้พึงประเมิน' แล้วนำไปหักลดค่าใช้จ่ายเบื้องต้น จะได้เป็น 'รายได้พึงประเมินสุทธิ' จากนั้นจึงนำไปคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้า ก่อนจะนำจำนวนภาษที่เราต้องจ่ายมาหาร 12 เดือน แล้วแบ่งจ่ายแต่ละเดือนนั่นเอง

Advertisement

Advertisement

หากท่านใดที่เมื่อถึงสิ้นปี พบว่าภาษีถูกหักไปนั้นมีจำนวนมากกว่าที่เราต้องจ่ายจริง ก็สามารถไปขอคืนภาษีส่วนเกินได้ ส่วนคนที่จ่ายไปน้อยกว่าความเป็นจริง ก็เพียงแค่จ่ายส่วนต่างเพิ่มไปเท่านั้น

ข้อแนะนำเรื่องภาษีสำหรับ First Jobber

  1. ถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้ทั้งปีไม่ถึง 150,000 บาท แต่ก็ควรยื่นหลักฐานการมีรายได้ (ภ.ง.ด.90/91) ให้กรมสรรพากรทราบทุกปี เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราไม่ได้หลบเลี่ยงภาษีมาก่อน เมื่อในอนาคตเรามีรายได้ต่อปีตามเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว
  2. มาตรการลดหย่อนภาษีนั้นมีมากมาย และเปลี่ยนแปลงทุกปี ย้ำว่าเปลี่ยนแปลงทุกปี! เพราะฉะนั้นจึงควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ที่สำคัญคือต้องอ่านรายละเอียดเกณฑ์การลดหย่อนให้ครบถ้วน ถ้าให้ดีควรอัพเดทข้อมูลไม่เกิน 1 เดือน ก่อนยื่นแบบฟอร์มภาษี
  3. จำไว้ว่าภาษีเป็นเรื่องของรายละเอียดและประสบการณ์ ไม่แปลกที่เด็กจบใหม่ (ถ้าไม่ได้เรียนด้านนี้มา) จะรู้สึกสับสนยุ่งยากกับการยื่นภาษี ขั้นแรกให้เราจำให้ได้ว่าเงินได้ของเราอยู่ในประเภทไหน ซึ่งส่วนมากถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนจะตกอยู่ในประเภท 40(1),(2) จากจึงค่อยๆ หาความรู้ไปเรื่อยๆ อาจลองถามพ่อแม่หรือพี่ที่ทำงานให้ลองตรวจทานให้ก่อนยื่นภาษีเป็นทางเลือกที่ดีนะ

2. ค่าประกันสังคม (Social Security)

ประกันสังคม Cr. mohamed_hassan / pixabay

ประกันสังคม เป็นคำที่เราได้ยินกันมานาน และหลายคนก็มักรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรจากประกันสังคมนี้ แต่รู้ไหมว่าเงินประกันสังคมนี้มีประโยชน์หลายอย่าง และเป็นเงินออมภาคบังคับจากทางรัฐเพื่อให้คนไทยมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยทั้งทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เท่ากัน สำหรับ First Jobber สิ่งที่น่าจะได้ใช้จริงมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการเบิกเงินค่าเจ็บป่วยและทำฟัน อย่างที่มักเห็นตามป้ายคลินิกทันตกรรมว่าใช้สิทธิประกันสังคมได้ไม่เกิน 900 บาท/ปี (สำหรับการรักษาทั่วไป ที่ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม)

เงินสมทบประกันสังคม ตามปกติจะหักอยู่ที่ 5% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท ยกเว้นเกิดสถานการณ์พิเศษที่ประชาชนต้องใช้เงิน อย่างเช่น โควิด-19 ที่ผ่านมา ครม. ได้เสนอให้ลดเงินสมทบลงเป็น 2.5% เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้รายเดือนเพิ่มมากขึ้น และนายจ้างมีเงินไปหมุนกิจการต่อได้

ข้อแนะนำเรื่องประกันสังคมสำหรับ First Jobber

  1. อย่างที่บอกว่าเป้าหมายหลักของประกันสังคม คือการที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนมีเงินใช้หลังเกษียณ เพราะฉะนั้นเราจึงจะได้เงินสมทบ (พร้อมผลประโยชน์การลงทุน) เมื่ออายุ 55 ปี หรือเมื่อเกษียณอายุแล้วเท่านั้น โดยจะได้เป็นเงินบำเหน็จเมื่อทำงานและจ่ายเงินสมทบไม่เกิน 180 เดือน ถ้าหากเกิน 180 เดือน สามารถเลือกรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้
  2. เมื่อเริ่มทำงาน เราจะต้องเลือกโรงพยาบาลที่จะใช้สิทธิประกันสังคม แนะนำว่าควรเลือกโรงพยาบาลที่เราใช้บริการประจำอยู่แล้ว หรือเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือที่ทำงาน ส่วนใครที่มีประกันอยู่แล้วและไม่คิดว่าจำเป็นต้องใช้สิทธิประกันสังคม ขอแนะนำให้ลงชื่อในโรงพยาบาลรัฐที่มีคนใช้บริการเยอะ เพราะโรงพยาบาลที่เราลงชื่อนั้นจะได้เงินสนับสนุนของรัฐบาลตามจำนวนผู้ใช้สิทธิประกันสังคม ถึงเราไม่ได้ไปใช้สิทธิ เงินส่วนนั้นก็จะถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยคนอื่น ถือว่าเป็นการบริจาคเงินส่วนของเราให้กับโรงพยาบาลได้นั่นเอง

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

เงิน กอง เติบโต Cr. nattanan23 / pixabay

ถ้าใครได้ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเรียกสั้นๆว่า PVD ให้พนักงานแล้วล่ะก็ ขอบอกเลยว่าคุณโชคดีมาก! เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมภาคสมัครใจที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะมีส่วนนี้เป็นสวัสดิการให้พนักงานหรือไม่ PVD มีหน้าที่คล้ายกับกองทุนประกันสังคมภาคบังคับ นั่นคือลูกจ้างจะหักเงินเดือนเข้าสู่กองทุน และนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบอ้างอิงตามสัดส่วนที่ลูกจ้างจ่าย โดยมี % การสมทบตามเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้ และพนักงานหรือลูกจ้างสามารถเลือกแผนหรือนโยบายการลงทุนได้เอง รวมถึงเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ตามจำนวนครั้งที่บริษัทกำหนด

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเป้าหมายคือทำให้พนักงานมีเงินใช้หลังเกษียณ เราจึงจะสามารถถอนเงินออกจากกองทุนนี้ได้ก็ต่อเมื่อเกษียณอายุหรือลาออกจากการเป็นพนักงานแล้วเท่านั้น และควรตรวจสอบด้วยว่าอายุงานหรืออายุสมาชิกกองทุนของเรานั้น จะมีสิทธิได้รับเงินสมบทและผลประโยชน์จากนายจ้างจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนนี้จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของนายจ้าง

ข้อแนะนำเรื่องประกันสำหรับ First Jobber

  1. รู้หรือไม่? ในประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 789,851 บริษัท (อัพเดท 31 มี.ค. 2564) แต่มีบริษัทที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่เพียง 20,121 บริษัท (อัพเดท ไตรมาสที่1/2564) เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากจำนวนเงินเดือนแล้ว การนำสวัสดิการในส่วนนี้มาพิจารณาเลือกบริษัทที่เราอยากทำงานด้วยก็ดีไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าคุณคิดว่าอยากทำงานกับบริษัทไปนานๆ
  2. โดยปกติแล้ว พนักงานจะเริ่มหักเงินเดือนเข้าสู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ต่อเมื่อได้เป็นพนักงานประจำแล้วเท่านั้น เด็กจบใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงโปรฯ (Probation) จึงอย่าเพิ่งตกใจไปนะถ้าบริษัทมีกอง PVD แต่เรายังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัทนั้นจะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. เป็นผู้จัดตั้งและดูแล เมื่อเราได้เป็นสมาชิก PVD ของบริษัทแล้ว จึงควรรู้ด้วยว่า บลจ.ที่ดูแลกองทุนคือใคร หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ PVD การสอบถามกับบลจ.โดยตรง จะได้รับคำตอบที่ถูกต้องและรวดเร็วกว่าถามจากฝ่าย HR ของบริษัทแน่นอน

เรื่องเงินเดือนที่ควรรู้สำหรับ First Jobber

  • ตามกฎหมายแรงงานแล้ว นายจ้างไม่มีสิทธิหักเงินเดือนหากลูกจ้างมาทำงานสาย เพราะฉะนั้นหากใครไปทำงานสายแล้วบริษัทหักเงินเดือน รู้ไว้เลยว่าเขากำลังละเมิดกฎหมายแรงงาน และเรามีสิทธิฟ้องร้องได้นะ (ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรเข้างานสายอยู่ดี เพราะเวลาทำงานจะมีผลตอนประเมินขึ้นเงินเดือนและโบนัสประจำปี)
  • แม้ว่าเราจะลาออกจากงานกลางคันหรือทำงานไม่ครบเดือน เรายังมีสิทธิได้รับเงินเดือนอยู่นะ โดยบริษัทจะคิดเงินตามวันที่เราอยู่ในฐานะพนักงาน เช่น เราทำงานวันที่ 1-7 แล้วลาออก โดยเอกสารลาออกบอกให้มีผลวันที่ 8 เราก็ยังมีสิทธิได้เงินในส่วนของเจ็ดวันที่เราทำงาน แม้สองในเจ็ดวันนั้นจะเป็นเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดก็ตาม โดยจะมีเรทคำนวนอย่างไรขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละบริษัท (ทั้งนี้ ต้องดูสัญญาการทำงานให้ดีว่าต้องแจ้งลาออกก่อนอย่างน้อยกี่วัน เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อทั้งเราและบริษัท)

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกเพื่อนๆ ชาว First Jobber ทั้งหลายว่าอนาคตการทำงานของเราเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และพวกเราทุกคนคงมีเป้าหมายต่อจากนี้อีกมาก สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้วางแผนทบทวนให้ดีคือเรื่องเงิน เพราะเราเชื่อว่าเป้าหมายทุกอย่างนั้นจะสำเร็จได้ง่ายขึ้นถ้าเรามีเงินมากพอ ฮ่าๆ สำหรับวันนี้ Gen Z Planner ขอพูดคุยเรื่องเงินเดือนเพียงเท่านี้กันก่อน พอหอมปากหอมคอ ครั้งหน้าจะพบกันเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนแบบไหนอีก รอติดตามได้เลย!

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
GenZPlanner
GenZPlanner
อ่านบทความอื่นจาก GenZPlanner

วางแผนการเงินง่ายๆ สไตล์ New Gen

ดูโปรไฟล์

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์