อื่นๆ

OMG โดนโกง [ซื้อ-ขายออนไลน์] ทำไงดี !!!!

109
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
OMG โดนโกง [ซื้อ-ขายออนไลน์] ทำไงดี !!!!
ช่วยด้วยค่ะ / ครับ  โดนXXXโกงมา โอนตังค์ไปแล้ว ของไม่ส่ง โดนบล็อคแชทไปแล้วด้วย ทำไงดี

สถานการณ์ที่ COVID ระบาดแบบนี้ นโยบาย Social distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคมก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดในครั้งนี้ แถมยังมีการขอความร่วมมือให้งดเดินทางออกจากบ้านเว้นเหตุจำเป็นอีก คนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้บริการซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งการสั่งอาหารส่งเดลิเวอรี่ หรือซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง e-marketplace เช่น LAZADA,KAIDEE,SHOPEE หรือทางกลุ่มซื้อขายต่าง ๆ ใน FACEBOOK หรือผ่าน IG แต่เดี๋ยวก่อน เมื่อมีช่องทางซื้อขายที่แสนสะดวกสบายขนาดนี้ แถมการซื้อขายแบบนี้ก็แทบไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าตาของพ่อค้าแม่ขายตัวจริง จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพเข้ามาปะปนกันได้ หากเป็นแพลทฟอร์มที่เข้ารับผิดชอบก็ดีไป แต่ถ้าเป็นช่องทางที่ทุกการซื้อการขายเป็นเรื่องที่แพลทฟอร์มนั้นไม่รับผิดชอบละจะทำยังไงกันดี  ฉะนั้นวันนี้จะมาบอกขั้นตอนหรือแนวทางปฏิบัติหากเราถูกโกง ตกใจได้แต่ต้องตั้งสติกันด้วยเด้ออออ

Advertisement

Advertisement

STEP I   เก็บทุกหลักฐานเด็ด

เมื่อเรารู้ตัวว่าถูกโกงสิ่งแรกที่ควรทำไม่ใช่การบันทึกหน้าภาพจอแล้วแชร์ประจาน [อันนี้ไม่แนะนำให้ทำอย่างยิ่ง เพราะอะไรจะมาอธิบายทีหลัง]  แต่ควรควรเก็บทุกหลักฐานเท่าที่จะมีอยู่ ซึ่งหลักฐานที่ควรเก็บไว้ทุกครั้งที่ทำการซื้อของออนไลน์คือ

  • - แชท ที่ทำการพูดคุยถึงรายละเอียดในการซื้อสินค้าชิ้นนั้น ๆ
  • - หลักฐานการโอนเงิน หากทำรายการผ่านแอปก็บันทึกสลิปเก็บไว้ก่อน หากทำรายการที่ตู้หรือผ่านผู้ให้บริการอื่น ๆ ก็เก็บสลิปการโอนเงินหรือใบเสร็จชำระเงินนั้นไว้ให้ดี ทางที่ดีก็ถ่ายรูปหรือถ่ายเอกสารไว้ด้วย กันเหนี่ยวไว้น
  • -  จดบันทึกเลขที่บัญชีที่ทำการโอน และชื่อเจ้าของบัญชีเอาไว้
  • - รูปโปรไฟล์ หน้าโปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ขายที่เราทำการสั่งซื้อด้วย บันทึกภาพหน้าจอเอาไว้ให้หมด

เก็บตามนี้ทุกครั้งที่ทำการซื้อของ หากได้รับสินค้าและตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าแล้วตรงกับที่ตกลงไว้ก็ลบทิ้งได้ แต่หากโดนโกงขึ้นมาก็เอาหลักฐานทั้งหมดนั้นพิมพ์ใส่กระดาษซะแล้วไปสู่ขั้นตอนถัดไป

Advertisement

Advertisement

หลักฐานการโอนเงิน ตัวอย่างหลักฐานการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคาร

STEP II    แจ้งความร้องทุกข์กับคุณตำรวจ ให้มืออาชีพมารับไม้ต่อ

หากถูกโกงแล้วจริง ๆ FACEBOOK ก็หาย LINE ไม่ตอบ ก็อย่าตีโพยตีพายแต่ให้รีบนำหลักฐานที่เราเก็บไว้พิมพ์ใส่กระดาษให้ภาพมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย เห็นรายละเอียดชัดเจน อย่าไปงกไปเสียดายตังค์แบบแผ่นหนึ่ง 6 ภาพไม่เอานะ  จากนั้นก็ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในเขตพื้นที่ที่เราโอนเงิน ย้ำ!!! ท้องที่ที่เราโอนเงิน [เช่น โอนเงินที่ตู้ ATM โลตัสลาดพร้าว ก็ไปที่ สน.พหลโยธิน จะเก็บไปแจ้งที่สถานีตำรวจอื่นเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้มาที่ท้องที่อีก เสียเวลาไปอี๊ก] หรือหากโอนผ่านแอปพลิเคชั่นก็ไปสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดได้เลย หรือหากอยู่ใกล้ สะดวกเดินทางก็เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ก็ได้ จะมีการติดตามหาตัวคนร้ายได้รวดเร็วกว่าหรือจะแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านจากนั้นไป แจ้ง ปอท. ก็ได้เช่นกัน โดยการแจ้งความร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือแจ้งด้วยวาจาต่อเจ้าพนักงานก็ย่อมได้

Advertisement

Advertisement

ขอย้ำอีกครั้งว่าไปสถานีตำรวจและแจ้งเจ้าพนักงงานว่าต้องการแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีถึงที่สุด การแจ้งความร้องทุกข์ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือนหลังจากทราบว่าถูกโกง อย่าชะล่าใจจนเสียสิทธิ์ไปละ

แบบฟอร์มการร้องทุกข์ด้วยหนังสือ แบบฟอร์มการเขียนหนังสือร้องทุกข์แจ้งต่อเจ้าพนักงาน


STEP III   ให้เจ้าพนักงานรีบออกหนังสือส่งธนาคารเพื่อขอให้อายัดบัญชีของคนร้ายและติดต่อธนาคารเพื่อทำการอายัดบัญชี

เมื่อผ่าน STEP II มาแล้วก็แจ้งเจ้าหน้าที่ให้รีบทำหนังสือไปยังธนาคารที่คนร้ายได้เปิดบัญชีไว้ โดยในหนังสือจะมีรายละเอียดทุกอย่าง โดยให้พนักงานสอบสวนรีบทำหนังสือส่งธนาคารเพื่อขอให้อายัดบัญชีของคนร้าย และประสานงานไปยังสายด่วน ปปง. 1710 เพื่อส่งสำเนาและเร่งในการประสานขอความร่วมมือในการอายัดโดยด่วนต่อไป จากนั้นให้ทำการติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชี โดยเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย ใบแจ้งความ คำสั่งอายัดบัญชีที่ได้มาจากการแจ้งความ สมุดบัญชีของเรา สำเนาบัตรประชาชน และหลักฐานที่มี  บางธนาคารเจ้าหน้าที่ธนาคารอาจทำการติดต่อเจ้าของบัญชีปลายทางให้ และให้โอนเงินคืนมาเพื่อยุติคดีความ  [ฉ้อโกงแค่เรายังยอมความกันได้] โดยการอายัดจะอายัดได้เฉพาะยอดเงินที่เราโดนหลอกให้โอนไปเท่านั้น แต่หากคุณไม่ได้เงินคืนหรือไม่ยินยอมให้คนผิดจบเรื่องแค่ตรงนี้ก็ไปสู่ขั้นตอนถัดไป

ตัวอย่างหนังสือ

ตัวอย่างหนังสือขอตรวจสอบและอายัดการดำเนินการทางบัญชี

STEP IV ร้องขอให้เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบคดีประสานกับฝ่ายสืบสวนเพื่อหาตัวตนคนร้าย

กรณีที่ตรวจสอบกับธนาคารที่คนร้ายเปิดบัญชีและพบว่าเงินถูกถอนไปแล้วให้เจ้าพนังงานที่ดูแลคดีประสานกับฝ่ายสืบสวนเพื่อขอภาพคนร้ายขณะกำลังถอนเงิน ซึ่งธนาคารจะมีข้อมูลว่าเงินนั้นถูกถอนไปจากที่ใด เวลาเท่าใด เพราะภาพจากวงจรปิดของตู้ ATM มักจะเก็บไว้ของ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น  จากนั้นก็ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีธนาคารมาสอบปากคำ หากถูกจ้างให้เปิดบัญชี เจ้าของบัญชียอมมีความผิดตามกฎหมาย หรือหากคนร้ายใช้หลักฐานปลอมมาเปิดบัญชีนั้น ก็ต้องหาเบาะแสอื่นเพื่อตามตัวคนร้ายต่อไป

ATM

STEP V   YES or SAD

กรณีที่ YES ก็ยินดีด้วยคุณตามคนร้ายจนเจอ หากเจอแล้วจะยอมรับเงินคืนเพื่อยอมความหรือเอาเรื่องจนถึงชั้นศาลก็เป็นสิทธ์ของคุณ แต่คนร้าย ๆ ก็ควรต้องได้รับผลร้าย ๆ ตอบแทนซะบ้างนะ

แต่หากคุณได้รับคำผลว่าคดีไม่คืบหน้า ตามคนร้ายไม่เจอ SO SAD จังเลย เสียใจด้วยนะ แต่ให้คุณทำใจไว้ได้เลย คุณคือคนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถตามตัวคนร้ายมารับโทษได้  หวังว่าคุณจะได้รับบทเรียนมีราคาและจงเตือนใจไว้ว่าทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์จงซื้อกับคนที่น่าเชื่อถือ มีตัวมีตน มีเครดิต  ง่าย ๆ เลยก็ผ่านช่องทางที่น่าเชื่อถือมีการรับประกันการซื้อขาย หากของที่เราอย่างได้จริง ๆ ขายบนช่องทาง FACEBOOK หรือ IG ก็ขอเบอร์พ่อค้าแม่ขาย โทรไปพูดคุยผ่านโทรศัพท์กันก่อน อย่างน้อยเราก็พอมีหลักฐานตามตัวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

คำสอนหลวงพ่อจรัญ

คำสอนหลวงพ่อจัญ ฐิตธมฺโม

ทั้ง 4+1 STEP ที่แจ้งไปข้างต้นไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้เงินคืนหรือตามตัวคนร้ายเจอ เพราะขึ้นชื่อว่าอินเทอร์เน็ตการปกปิดตัวตนหรือสร้างตัวตนอื่นมาหลอกหลวงเรามันง่ายมาก ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือซื้อขายกับคนที่น่าเชื่อที่ ช่องทางที่น่าเชื่อถือและหากเป็นไปได้อย่าได้โอนเงินก่อนเด็ดขาด เพราะไม่มีใครจริงใจกับเราเท่าตัวเราเอง ส่วนที่บอกว่าอย่าบันทึกหน้าจอแล้วไปแชร์เพื่อหวังผลประจานหรือด่าด้วยคำเสียหาย นอกจากจะไม่ได้เงินคืนแล้ว อาจเจอหมิ่นประมาทแถมมาด้วยหรือนำข้อความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากพิสูจน์กันได้ว่าคุณเข้าใจผิดไปเองงงงงง  สำหรับวันนี้ก็ขอตัวลาไปก่อน ครั้งหน้าจะเอาเรื่องอะไรมาฝากอย่าลืมติดตามกันได้นะ

SEE YOU NEXT TIME


  • ขอบคุณภาพประกอบปกจาก Pixabay โดยคุณ Capri23auto
  • ภาพที่ 1-3 โดย ผู้เขียน
  • ขอบคุณภาพที่ 4 จาก Pixabay โดยคุณ Peggy und Marco Lachmann-Anke
  • ขอบคุณภาพประกอบภาพที่ 5 ภาพหลวงพ่อจรัญ โดยคุณ เอกชัย พรหมเผือก ภาพจาก วิกิพีเดีย
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์