อื่นๆ

กำแพงเมืองจีนที่เก่าแก่กว่ากำแพงเมืองจีน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
กำแพงเมืองจีนที่เก่าแก่กว่ากำแพงเมืองจีน

ในพื้นที่รกร้างซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลทรายออดอส (Ordos) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย มีซากกำแพงโบราณทอดตัวคดเคี้ยวอยู่ภายในวงโค้งทางเหนือของแม่น้ำเหลืองชาวบ้านแถบนั้นเชื่อว่าเศษกำแพงหินใกล้บ้านพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีนมาหลายทศวรรษ แต่การพบเศษชิ้นส่วนหยกภายในบริเวณนั้นได้สร้างปริศนาขึ้น เพราะหยกไม่ใช่ของพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ แหล่งหยกที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปไกลกว่าพันกิโลเมตร และยิ่งเป็นปริศนาขึ้นไปอีกเมื่อการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีพบว่าบางส่วนของกำแพงมีอายุย้อนกลับไปถึง 4,300 ปี หรือเกือบ 2,000 ปี ก่อนส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของกำแพงเมืองจีนจะสร้างขึ้น

กำแพงหินภาพที่ 1 จาก ngthai.com

ทีมนักโบราณคดีจีนเดินทางมาสำรวจปริศนาดังกล่าว และทำให้ทราบว่าเศษซากกำแพงหินเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีน แต่เป็นซากเมืองป้อมปราการขนาดมหึมาแห่งหนึ่ง และเรียกกันว่า "สือเหม่า" การขุดค้นเผยให้เห็นกำแพงเมืองซึ่งยาวกว่า 10 กิโลเมตร ล้อมรอบพีระมิดสูง 70 เมตร โครงสร้างของสือเหม่าถูกออกแบบมาให้พร้อมเผชิญกับอันตราย เพราะที่ตั้งของเมืองอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างคนเลี้ยงสัตว์แห่งทุ่งหญ้าทางเหนือกับชาวนาแห่งที่ราบภาคกลาง เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู ผู้ปกครองเมืองสือเหม่าได้สร้างพีระมิดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง 20 ชั้น บนเนินเขาที่สูงที่สุด มีระบบป้องกันทั้งประตูป้อมที่ขนาบด้วยหอคอย ประตูกั้นต่างๆ ที่อนุญาตให้เข้า-ออกได้ทางเดียว และป้อมบนกำแพงที่ใช้ยิงป้องกันตัวได้จากหลายทิศทาง และยังใช้โครงสร้างที่เรียกว่าหม่าเมี่ยน(หน้าม้า) ที่มีมุมหลอกล่อให้ศัตรูเข้ามาอยู่ในวงล้อมที่ชาวเมืองสามารถโจมตีได้จากสามด้าน ชาวสือเหม่ามีการแลกเปลี่ยนแนวความคิด เทคโนโลยี และสินค้ากับวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวางจากทุ่งหญ้าแถบเทือกเขาอัลไตทางเหนือ จนถึงภูมิภาคชายฝั่งใกล้ทะเลเหลือง ซึ่งเห็นได้จากศิลปวัตถุจำนวนมากที่พบนอกจากหยกแล้ว ยังพบซากหนังจระเข้อีกด้วย

Advertisement

Advertisement

พีระมิดภาพที่ 2 จาก ngthai.com

ภายในพีระมิดนักโบราณคดียังค้นพบจิตรกรรมฝาผนัง วัตถุที่ทำจากหยก ประติมากรรมรูปสลักบนหิน และหลักฐานการบูชายัญ โดยพบกะโหลกมนุษย์กองสุมรวมกันอยู่ในหลุมหกหลุม หลุมละ 24 หัว รวมเป็น 80 หัว จำนวนกะโหลกและการจัดวางบ่งบอกถึงการตัดหัวในพิธีกรรมระหว่างการวางรากฐานของกำแพง ถือเป็นการบูชายัญเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน จากการค้นพบทำให้ทราบว่าสือเหม่าเจริญรุ่งเรืองเกือบครึ่งสหัสวรรษจากราว 2300 ปี ถึง 1800 ปีก่อนคริสตกาล และถูกทอดทิ้งไปอย่างฉับพลัน บันทึกประวัติศาสตร์หลายชิ้นบ่งชี้ถึงสาเหตุที่เมืองถูกทิ้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมื่อแรกสร้าง สือเหม่ามีสภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นและชุ่มชื้น ต่อมาสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นแห้งแล้งและเย็นขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็วในช่วง 2000 ถึง 1700 ปีก่อนคริสตกาล ทะเลสาบแห้งเหือด พื้นที่ป่าหายไป ทะเลทรายรุกล้ำ ผู้คนจึงอพยพไปยังพื้นที่อื่น

Advertisement

Advertisement

หัวกะโหลกภาพที่ 3 จาก ngthai.com

การขุดค้นที่สือเหม่ายังทำได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการค้นพบสือเหม่าและการค้นพบสถานที่ก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ทั้งนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ต้องทบทวน ทำความเข้าใจ และบอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมจีนโบราณเพื่อบอกเล่าให้ชาวโลกได้รับรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

กำแพงหินภาพที่ 4 จาก ngthai.com

ข้อมูลจาก : ngthai.com

ภาพปก จาก pixabay.com

อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์