อื่นๆ

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ (ในประเทศไทย) แบบเข้าใจง่ายๆ

7.7k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ (ในประเทศไทย) แบบเข้าใจง่ายๆ

หลายๆ ท่านที่มีแฟนเป็นชาวต่างชาติ เมื่อคบหาดูใจกันมาจนรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เรากับแฟนจะแต่งงาน ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เอาล่ะ ถ้าต้องแต่งงานกัน และจดทะเบียนสมรส จะต้องทำอย่างไรบ้าง ขอเล่าจากประสบการณ์ตรงของตัวเองนะคะ

สำหรับการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาตินั้น จะมีเอกสารและขั้นตอนที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก และที่สำคัญก่อนจะจดทะเบียนสมรส แนะนำว่าควรโทรปรึกษาสำนักงานเขต (กรณีอยู่กรุงเทพฯ) หรือที่ว่าการอำเภอ (กรณีต่างจังหวัด) ที่เราจะไปจดทะเบียนก่อนนะคะ ว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร และต้องการเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากรายการต่อไปนี้หรือเปล่า

เนื่องจากว่าบางสำนักงานเขตจะมีการพิจารณาเฉพาะหรือมีขั้นตอนเฉพาะสำหรับการจดทะเบียนกับชาวต่างชาติค่ะ เพื่อความมั่นใจและไม่เสียเวลา โทรปรึกษาฝ่ายทะเบียนของสำนักเขตนั้นๆ ก่อนนะคะ

Advertisement

Advertisement

เอกสารและรายการที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ ขอแบ่งตามฝ่ายไทยกับฝ่ายต่างชาตินะคะ

ฝ่ายเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวที่เป็นคนไทย

  1. บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริง พร้อมสำเนา
  2. ทะเบียนบ้าน ฉบับจริง พร้อมสำเนา (นำฉบับจริงมาด้วย กรณีที่เราจะทำเรื่องเปลี่ยนนามสกุลและคำนำหน้าชื่อค่ะ)
  3. พยาน 2 คน และบัตรประชาชนของพยาน ซึ่งพยานจะต้องเป็นบุคคลใกล้ชิดเราค่ะ เช่น บิดา มารดา พี่น้อง ญาติ
  4. ล่ามคนไทย 1 คน เพื่อแปลภาษาให้ฝ่ายที่เป็นชาวต่างชาติ (แนะนำว่าพยานที่เราพามา ควรมีคนหนึ่งที่สามารถแปลได้จะดีมากค่ะ)
  5. ใบสำคัญการหย่า (กรณีเคยหย่า ถ้าเป็นฝ่ายหญิง ต้องหย่ามาไม่น้อยกว่า 310 วัน หรือมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ ยกเว้นจดทะเบียนกับคู่สมรสเดิม)
  6. มรณบัตร (กรณีคู่สมรสเดิมเสียชีวิต ถ้าเป็นฝ่ายหญิงจะต้องมีรายละเอียดเหมือนข้อ 5)
  7. สูติบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร (กรณีมีบุตรด้วยกันก่อนจดทะเบียนสมรส)
  8. ใบเปลี่ยนชื่อตัว/ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (กรณีเคยเปลี่ยนชื่อตัว/ชื่อสกุล)
  9. แบบฟอร์ม คร.1 สามารถดาวน์โหลดแล้วกรอกได้ และสามารถไปเขียนที่เขตได้ค่ะ (แนะนำให้ไปเขียนที่เขตค่ะ เพราะสามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้)

Advertisement

Advertisement

ฝ่ายเจ้าบ่าว/เจ้าสาวที่เป็นชาวต่างชาติ

  1. หนังสือรับรองสถานภาพโสด ฉบับจริง (จะกล่าวในรายละเอียดถัดไปค่ะ)
  2. เอกสารแปลใบรับรองสถานภาพโสด เป็นภาษาไทย พร้อมรับรองเอกสารจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
  3. หนังสือเดินทางฉบับจริง (Passport)
  4. เอกสารรับรองหน้าหนังสือเดินทาง รับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุล ของประเทศตน ประจำประเทศไทย
  5. เอกสารแปลรับรองหน้าหนังสือเดินทางเป็นภาษาไทย พร้อมรับรองเอกสารจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
  6. หลักฐานสถานภาพทางการเงิน เช่น เอกสารเดินบัญชี สลิปเงินเดือน (บางสำนักงานเขตต้องการทราบข้อมูลค่ะ แนะนำให้เตรียมไว้ก่อน เผื่อเจ้าหน้าที่สอบถามค่ะ)

สำหรับเรื่องการขอใบรับรองสถานภาพโสดนั้น ขอกล่าวคร่าวๆ เพราะต้องให้แฟนทำนัดหมายกับสถานทูตของประเทศตนเองก่อน เพื่อให้ทางสถานทูตออกเอกสารดังกล่าวให้ และเราไปกับแฟนด้วยค่ะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะให้เราเซ็นเอกสารด้วยว่าจะแต่งงานกัน

Advertisement

Advertisement

เอกสารที่ใช้มีดังนี้

1. หนังสือเดินทางฉบับจริง (Passport)

2. ทะเบียนหย่า (กรณีแฟนเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน)

3. ค่าธรรมเนียม (สอบถามกับทางสถานทูตอีกทีนะคะ)

เผื่อเอาไว้ >> เตรียมหนังสือเดินทางฉบับจริงของเรา (ว่าที่คู่สมรสชาวไทย) หรือบัตรประชาชนไปด้วยนะคะ เพราะของเราเจ้าหน้าที่ขอหนังสือเดินทางเราไปคีย์ข้อมูลด้วยค่ะ เราไม่รู้ว่าแต่ละสถานทูตเงื่อนไขเป็นอย่างไร ทางที่ดี โทรสอบถาม และเตรียมเอกสารส่วนตัวที่สำคัญไปด้วย จะดีกว่าค่ะ

นอกจากนี้ แจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะคะว่า ขอเอกสารรับรองหน้าหนังสือเดินทางด้วย บางสถานทูตจะทำมาควบคู่กันเลยค่ะ แต่เพื่อความมั่นใจ แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าด้วยก็ดีค่ะ

ตัวอย่างหนังสือรับรองสถานภาพโสด (ประเทศออสเตรเลีย) แต่ละประเทศรายละเอียดจะแตกต่างกันนะคะ

เมื่อได้ใบรับรองสถานภาพโสดและเอกสารรับรองหน้าหนังสือเดินทางมาแล้ว แนะนำว่าให้จ้างสำนักงานแปลและรับรองเอกสารค่ะ ใช้เวลาประมาณ 3 วันทำการก็ได้เอกสารแล้วค่ะ

เมื่อได้เอกสารครบแล้ว ให้โทรติดต่อสำนักงานเขตก่อนนะคะ เพราะเจ้าหน้าที่จะขอตรวจเอกสารก่อนค่ะ แนะนำว่าให้ถ่ายเอกสารให้ครบถ้วน เอกสารที่แปลและรับรองโดยกงสุลนั้น จะต้องถ่ายเอกสารด้านหลังด้วยนะคะ

แต่ละสำนักงานเขตจะใช้เวลาในการพิจารณาแตกต่างกันค่ะ เจ้าหน้าที่จะสัมภาษณ์คร่าวๆ ว่ารู้จักกันอย่างไร รู้จักกันมานานแค่ไหน แฟนประกอบอาชีพอะไร รายได้เท่าไร เป็นต้น และเราต้องดูด้วยว่าวีซ่าของแฟนอยู่ไทยได้กี่วันด้วย ซึ่งถ้าเอกสารเรียบร้อยดีแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้ค่ะ

บางสำนักงานเขต สามารถเลือกวันไปจดทะเบียนได้ (แต่กรณีเรา เจ้าหน้าที่เขตเป็นคนเลือกให้ เพราะเราจดทะเบียนช่วงโควิทค่ะ)

วันจดทะเบียนสมรส

ไปสำนักงานเขตตามเวลาที่นัดหมายกับเจ้าหน้าที่ อย่าลืมแจ้งพยานว่าให้นำบัตรประชาชนไปด้วยนะคะ

ไปติดต่อฝ่ายทะเบียน แล้วยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ได้เลยค่ะ

จากนั้นกรอกเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่ให้มา

เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลความสัมพันธ์ค่ะ เช่น ระยะเวลาที่คบหา ระยะเวลาที่อยู่กินกันมา ฝ่ายเจ้าสาวประสงค์จะใช้คำนำหน้านามเป็นอะไร ใช้นามสกุลตามสามีหรือไม่

ล่ามจะช่วยแปลรายละเอียดในการจดทะเบียนสมรสให้กับฝ่ายเจ้าบ่าว/เจ้าสาวชาวต่างชาติค่ะ (รายละเอียดหน้าที่ 2 ของเอกสารทะเบียนสมรส คร.2 ค่ะ)

เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมอบเอกสารทะเบียนสมรส (คร.2) และใบสำคัญการสมรส (คร.3) ให้เราและแฟนคนละ 1 ชุด

ตัวอย่างใบสำคัญการสมรส (คร.3)

สำหรับคนที่วางแผนจะขอวีซ่าหรือแฟนจะกลับไปแจ้งกับประเทศว่าได้แต่งงานที่ประเทศไทยแล้ว แนะนำว่าให้ขอคัดเอกสาร คร.2 ฉบับภาษาอังกฤษ ด้วยนะคะ สำนักงานเขตสามารถออกเอกสารเป็นภาษาอังกฤษได้ค่ะ มีค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาทค่ะ

ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเลยค่ะ ใช้เวลาไม่นานมากด้วย (ถ้าเตรียมเอกสารและรายการต่างๆ ครบถ้วน)

จดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้วค่ะ

เครดิตภาพประกอบบทความ:

ภาพปก : วาดโดยผู้เขียนหรือสามารถติดตามได้ที่ Little Tum+

ภาพประกอบ : ถ่ายและปรับแต่ง โดยผู้เขียนค่ะ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์