อื่นๆ

ครอบครัว แต่ไม่ใช่ครอบครอง

111
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ครอบครัว แต่ไม่ใช่ครอบครอง

เครดิตภาพปก freepik

ลองนึกภาพครอบครัวๆหนึ่งที่สามีกับภรรยามีปัญหาทะเลาะกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว สามีหาว่าภรรยาใช้เงินฟุ่มเฟือย ตัวเองหาเงินเหนื่อยมาก แต่ภรรยาใช้เงินสบาย บางครั้งก็ทะเลาะกันเรื่องการเลี้ยงดูลูก สามีมักจะบ่นว่าภรรยาเลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไป จนลูกทำอะไรไม่เป็น พอลูกดื้อสามีก็ชอบตอกย้ำว่า เห็นมั๊ยเพราะเธอตามใจมากเกินไปจนเอาไม่อยู่ บางครั้งสามีก็จะดุและเข้มงวดกับลูกมากจนลูกไม่อยากคุยกับพ่อ เพราะรู้สึกว่าพ่อบังคับ ไม่ให้อิสระกับเขา ไม่ฟังความคิดเห็นของเขา และอีกสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา

ถ้าครอบครัวถูกครอบครองปัญหาครอบครัวจะตามมาแน่ๆเครดิตภาพจาก freepik

สาเหตุหนึ่งเกิดจาก “ผู้นำครอบครัว” รักตัวเองมากเกินไป พูดไม่ผิดหรอก “รักตัวเอง” มากเกินไป อยากให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามที่ตัวเองฝันไว้ อยากให้ลูกได้ดี อยากให้ภรรยามีหน้ามีตา สมศักดิ์ศรีกับตัวเองที่ทำงานมีตำแหน่งหน้าที่การงานดี อยากให้ครอบครัวมีเงินเก็บไว้ส่งลูกเรียน เก็บไว้กินยามแก่ ฯลฯ ซึ่งความฝันและเป้าหมายแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหรอก ทุกคนมีสิทธิ์ฝันกันได้

Advertisement

Advertisement

แต่...ผู้นำครอบครัวบางคนก็ตกหลุมพรางของความฝัน ความอยากของตัวเองมากเกินไป จนล้ำเส้นไปถึงคำว่า “เห็นแก่ตัว” เลยทีเดียว เพราะระหว่าง “ความหวังดี“ กับ “ความเห็นแก่ตัว“ มีเพียงเส้นบางๆขวางกั้นอยู่นิดเดียว นั่นก็คือ “ความรู้สึก” ของผู้รับความหวังดีนั่นเอง ถ้าผู้นำครอบครัวหวังดี แต่ภรรยาและลูกรับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผู้นำครอบครัวหวังดีแต่ความหวังดีนี้ไปกระทบความรู้สึกของภรรยาและลูกจนทำให้เขารู้สึกว่า “ครอบครัว” ไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นการครอบงำ เป็นการครอบครองไป อย่างนี้แหละถึงจะเรียกว่าความหวังดีก้าวล้ำเส้นความรู้สึกส่วนบุคคลเข้าไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้นำครอบครัวต้องไม่เห็นแก่ตัวเองมากจนลืมความรู้สึกคนในครอบครัวเครดิตภาพจาก freepik

ถ้าผู้นำครอบครัวไม่รู้สึกและไม่เข้าใจความรู้สึกของภรรยาและลูก อาจจะส่งผลกระทบตามมา เช่น ยิ่งโตลูกยิ่งห่างพ่อไม่อยากคุยด้วย ไม่อยากอยู่ด้วย หาเรื่องไปเรียนไกลๆได้ยิ่งดี เวลาอยู่บ้านก็เหมือนไม่อยู่ ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง จะออกไปไหนด้วยกันลูกก็อ้างเรื่องทำการบ้าน คุยกับเพื่อน ฯลฯ ในขณะที่ภรรยาเริ่มรู้สึกน้อยใจ หมดคุณค่า อาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า เพราะคนที่รักมากที่สุดไม่เห็นคุณค่า ไม่ให้ความสำคัญ แถมยังพูดทำลายน้ำใจกันอีก และรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตัวเองเสียสละออกจากงานมาเพื่อรับภาระเลี้ยงลูกคนเดียว แต่สามีไม่เคยเห็นความดีตรงนี้เลย ยิ่งคิดยิ่งน้อยใจ บางครั้งสามีพูดให้รู้สึกว่าตัวเอง “โง่” ไม่มีความรู้เหมือนคนที่เขาทำงานนอกบ้าน ทั้งๆที่ตัวเองก็ติดตามข่าวสารต่างๆหาความรู้อยู่ที่บ้าน แต่ความรู้ที่ตัวเองมีสามีไม่เคยเชื่อถือ หาว่ารู้ไม่จริงบ้าง โดนหลอกบ้าง ฯลฯ

Advertisement

Advertisement

อยากให้คนที่เป็นผู้นำครอบครัว ลองสมมติตัวเองเป็นลูกดูบ้าง แล้วลองถามตัวเองดูว่า

  • คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าพ่อควบคุมดูแลชีวิตคุณทุกกระเบียดนิ้วจนไม่รู้ว่าชีวิตส่วนตัวของเราอยู่ที่ไหน
  • คุณจะรู้สึกไหมว่าทำไมพ่อแม่เราไม่เหมือนพ่อแม่เพื่อนๆ
  • คุณจะรู้สึกไหมว่าบางเรื่องคุณโตแล้วคุณคิดเองได้ แต่ทำไมพ่อไม่ปล่อย แล้วเมื่อไหร่จะปล่อยให้เราคิดเองตัดสินใจเองได้

หรือลองสมมติตัวเองเป็นภรรยาดูบ้าง และถามตัวเองดูว่า

  • การอยู่บ้านเลี้ยงลูกกับการออกไปทำงานนอกบ้าน งานไหนเครียดกว่ากัน เหนื่อยกว่ากัน
  • การอยู่บ้านเลี้ยงลูกมาเป็นสิบปีไม่มีสังคม เพื่อนฝูงหายหมด ความรู้น้อยลง ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเองเพราะต้องดูแลลูก สามี คุณจะรู้สึกมีคุณค่าในชีวิตได้อย่างไร ยิ่งเวลาลูกโตขึ้นเรียนจบ คุณคิดว่าคุณจะเหลือคุณค่าอะไรกับตัวเองบ้าง
  • ตอนแต่งงานใหม่ๆใครขอให้คุณอยู่บ้านเลี้ยงลูก ให้ออกจากงาน แต่ตอนนี้หมดภาระแล้วลูกโตแล้ว จะให้ไปหางานทำที่ไหนได้ เคยคิดถึงจุดนี้บ้างไหม

Advertisement

Advertisement

ครอบครัวเป็นสุขถ้าผู้นำเข้าสิงความรู้สึกของคนในครอบครัวได้เครดิตภาพจาก freepik

ถึงตอนนี้ เชื่อว่าใครที่เป็นผู้นำครอบครัว หาเงินคนเดียว และรักครอบครัวมากถึงมากเกินไป อาจจะหลงลืมสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่สิ่งหนึ่งนั่นก็คือ “ความรู้สึก” ของภรรยาและลูก ลองหยุดฟังเสียงความต้องการของตัวเองลง แล้วลองหันมาตั้งใจฟังเสียงหัวใจของภรรยาและลูกบ้าง แล้วคุณอาจจะได้ยินสิ่งที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนก็ได้ ลองนำไปทบทวนดูนะครับ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์