อื่นๆ

จากนักศีกษาถูก "รีไทร์" สู่การเป็นนักศีกษา "เกียรตินิยม"

241
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
จากนักศีกษาถูก "รีไทร์" สู่การเป็นนักศีกษา "เกียรตินิยม"

บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจจะมาบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอมากับตัวเอง และจะมาบอกวิธีการใช้ชีวิตในการเรียนมหาวิทยาลัยให้จบแบบ ชิว ๆ กันด้วย ก่อนอื่นต้องขอเล่าก่อนว่าผู้เขียนเคยเป็นนักศึกษาที่ถูก รีไทร์ (retire) มาก่อนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และปัจจุบันได้จบการศึกษาจากคณะวิทยาการสารสนเทศ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2  ในอีกมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้จึงอยากจะนำประสบการณ์ตรงมาเขียน เพื่อให้น้อง ๆ ที่กำลังจะเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย หรือ น้อง ๆ ที่กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ เพื่อที่จะได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ จะได้ไม่เสียเวลา เสียเงินเปล่าแบบที่ผู้เขียนประสบมาแล้ว เรามาดูวิธีต่าง ๆ กันเลยครับ

  1. มีความเข้าใจในตัวเอง

ในการที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับแรกนั้นเราจะต้องเลือกคณะที่ใช่ สาขาที่ชอบก่อน ซึ่งการจะเลือกได้นั้นเราต้องมีความเข้าใจในตัวเอง  รู้ว่าตัวเองชอบในสิ่งไหน หรือถนัดในสิ่งไหน เมื่อเรามีความเข้าใจในตัวเองจากนั้นให้หาข้อมูลหลาย ๆ คณะหลาย ๆ สาขาและพิจารณาว่าคณะหรือสาขาใดที่ตรงกับความถนัดหรือความชอบของเรา จะทำให้เรามีความสุขในการเรียนและไม่รู้สึกฝืนในการตื่นไปเรียนในทุก ๆ วัน เมื่อไม่รู้สึกฝืนเราจะสนใจเรียนรู้และสนุกไปกับการเรียนและทำมันออกมาได้ดี จากประสบการณ์ผู้เขียนในตอนแรกที่เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจในตนเอง และไม่มีการศึกษาหาข้อมูลในการเลือกเรียนในคณะต่าง ๆ เลย แค่คิดว่าเรียนวิศวกรรมศาสตร์น่าจะดูดีดูเท่สอบติดรอบรับตรงก็ตัดสินใจเรียนเลย คิดจะไปตายเอาดาบหน้า ไปปูพื้นฐานใหม่ที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะมหาวิทยาลัยนั้นวิชาเอกที่เคยเรียนมาแล้วในมัธยมถือเป็นพื้นฐานที่จะต้องเอามาต่อ ยอดได้เลยในมหาวิทยาลัยจึงทำให้ผู้เขียนมีความไม่เข้าใจในการเรียนและรู้สึกไม่อยากเข้าเรียนหรือรู้สึกฝืนทุกครั้งที่เข้าเรียนและไม่มีความสุขในการเรียน ทำให้ผลการเรียนนั้นออกมาไม่ดีและในทางกลับกันตอนที่ได้เลือกเรียนคณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ นั้นผู้เขียนได้มีการวิเคราะห์ตัวเองว่าชอบเรียนคณิตศาสตร์ ชอบคิดวิเคราะห์ และยังหลงไหลในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์อีก จึงได้มีการหาข้อมูลจนไปพบว่าเราเหมาะกับอะไร แล้วผลที่ได้มานั้นก็น่าพอใจ ดังนั้นการเลือกคณะที่จะเรียนจึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการเริ่มชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

Advertisement

Advertisement

สิ่งที่เราชอบ

2. การเลือกคบเพื่อน

การเลือกคบเพื่อนก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากในการเรียนมหาวิทยาลัย การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นควรจะต้องมีกลุ่มเพื่อนที่สนิทสักกลุ่มเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือกันในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการเรียน เรื่องกิน เรื่องเที่ยว เรื่องเล่น และปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ทำให้เราไม่เหงาจนเกินไปกับการอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลา 4 ปี การคบเพื่อนในช่วงแรกนั้นอาจจะยังไม่รู้นิสัยใจคอกันเพราะพึ่งมาเจอกันในมหาวิทยาลัยครั้งแรก ทำความรู้จักเพื่อนให้หลากหลาย ไม่ต้องมีความกังวลในการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ เพราะต่างคนต่างมาตัวคนเดียวอยากมีเพื่อนใหม่อยู่แล้ว พอผ่านไปสักระยะจะรู้นิสัยใจคอกันให้เราเลือกอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ตั้งใจเรียน ไม่พากันเถลไถล คำที่ว่าหากเราอยู่กับใครมาก ๆ ก็จะมีพฤติกรรมตามคนนั้นไปด้วยใช้ได้จริง บางครั้งแค่กลุ่มที่ตั้งใจเรียนอาจไม่เพียงพอเพราะถ้ามีแต่ความตั้งใจเรียนในห้องเรียน แต่ความรู้ที่ได้ในการเรียนไม่แน่นพอ ก็ไม่ได้ช่วยเสริมให้ผลการเรียนดีขึ้น ดังนั้นผู้เขียนแนะนำว่า ให้ช่วยกันจับกลุ่มติวในช่วงวันหยุด เพื่อเพิ่มความรู้ให้มีมากขึ้น

Advertisement

Advertisement

มิตรภาพที่ดี

3. การเข้าหาอาจารย์

เป็นความจริงที่ว่า “อายครูไม่รู้วิชา อายภรรยาไม่มีบุตร” บางครั้งการมีเพื่อนที่เรียนเก่งแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอเสมอไป เพราะเพื่อนของเรานั้นก็ไม่สามารถตอบคำถามในสิ่งที่เราสงสัยได้ทั้งหมด ฉะนั้นต้องลองเข้าหาอาจารย์ จะทําไห้ได้รับคําแนะนำที่ดีมากมายเพราะท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ และถ้าสงสัยอะไรในบทเรียน หรือไม่เข้าใจอะไรก็ให้ถาม หรือปรึกษาอาจารย์ได้โดยตรง

การเข้าหาอาจารย์เป็นสิ่งที่ดี

4. ทบทวนบทเรียน

แน่นอนว่านอกจากที่จะต้องตั้งใจเรียนในชั่วโมงเรียนแล้ว ยังจะต้องหมั่นทบทวนความรู้ที่ได้มาหากมีตรงไหนที่ไม่เข้าใจให้รีบสอบถามอาจารย์ แต่ถ้าหากในชั่วโมงเรียนมีเนื้อหาส่วนไหนไม่เข้าใจและไม่ได้สอบถามอาจารย์ในชั่วโมงเรียน อาจต้องค้นหาความรู้ด้วยตัวเองและเอาความรู้ที่ได้ไปพูดคุย หรือถามเพื่อนที่เข้าใจในส่วนนั้น แต่หากสอบถามอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรงก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเรา จากประสบการณ์ผู้เขียน การทบทวนบทเรียนเพียงคนเดียวนั้นอาจไม่พอเพราะเราอาจจะตกหล่นอะไรไปบ้าง หรือมีความเข้าใจอะไรที่ผิดพลาด แล้วนําความรู้นั้นไปใช้สอบ อาจจะทําให้ทำข้อสอบผิดไป ผู้เขียนจึงชอบที่จะทบทวนเนื้อหากับเพื่อน ๆ หรือนัดติวหนังสือ และบางครั้งการติวให้กับเพื่อน ๆ ก็จะได้เป็นการทบทวนไปในตัวด้วย หรือหากเรามีความรู้อะไรก็อาจจะเอาไปพูดคุยกันทําให้ได้มีการโต้แย้งและ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน การที่เราไปติวหนังสือ ด้วยกันนั้น เราควรเปิดใจให้กว้างรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นด้วย และนำมาทําการคิดวิเคราะห์ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด

Advertisement

Advertisement

หมั่นทบทวน

5. หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด

การใช้ชีวิตเป็นนักศึกษานั้นแน่นอนว่าการเรียนต้องมาพร้อมกับความ เครียด ความกังวล และอื่น ๆ อีกมากมายแต่มันก็ไม่แย่ไปซะทีเดียวเพราะเรามีเพื่อน เราควรหากิจกรรมคลายเครียดบ้าง ช่วงที่ไม่มีเรียน อาจหากิจกรรมทำ เช่น ดูหนัง หาอะไรอร่อย ๆ กิน เที่ยวในวันหยุด แฮงเอาท์ หรือแม้กระทั่ง กินบุฟเฟ่ต์ ที่บรรดาเหล่านักศึกษานั้นโปรดปรานเป็นที่สุดแต่ต้องระวังเรื่องแบ่งเวลา ไม่ให้ไปกระทบกับการเรียน เพราะเชื่อว่า กิจกรรมคลายเครียด เหล่านี้นั้นทำให้มีความสุข และน่าสนใจกว่าการเรียนอย่างแน่นอนอาจจะทําให้เราเผลอตัวคลายเครียดมากเกินความจําเป็น

คลายเครียด

เป็นอย่างไรกันบ้างครับผู้อ่านทุกท่าน เห็นไหมครับว่า 5 วิธีการที่กล่าวมานั้นไม่ได้มีอะไรยากเกินไปเลย ซึ่งผู้เขียนได้ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำใหม่หลังจากที่ได้ถูก รีไทร์ ไปในครั้งแรก แล้วปรากฎว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และรู้สึกภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ท้อไปซะก่อน แต่ก็ไม่อยากให้ทุกท่านมาเสียเวลาเป็นปี ๆ แบบผู้เขียน จึงเป็นเหตุผลให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา และในครั้งหน้าผู้เขียนจะมาแชร์ข้อที่ไม่ควรปฏิบัติ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ ในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมาฝากกันด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงเช่นกัน สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางให้น้อง ๆ ได้ลองเอาไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้ไม่มากกน้อย

ภาพปกโดยผู้เขียน (โดยนำภาพบางส่วนมาตัดต่อจาก https://www.pngwave.com/)

ภาพประกอบที่ 1 ภาพถ่ายโดย Ichad Windhiagiri จาก Pexels

ภาพประกอบที่ 2 ภาพถ่ายโดย Burst จาก Pexels

ภาพประกอบที่ 3 ภาพถ่ายโดย 鹤槐 จาก Pexels

ภาพประกอบที่ 4 ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels

ภาพประกอบที่ 5 ภาพถ่ายโดย מתן שגב จาก Pexels

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์