อื่นๆ

ท่าช้าง ท่าน้ำวิถีชีวิตสองยุค

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ท่าช้าง ท่าน้ำวิถีชีวิตสองยุค

เมื่อพูดถึง “ท่าช้าง” หลายคนคงนึกถึงท่าช้างวังหลวงซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง หรือ   วัดพระแก้ว สถานที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งเป็นท่องเที่ยวที่มีฝรั่งมังค่าและคนจีนที่มาเป็นคณะทัวร์ต่างเดินต่อแถวลงเรืออย่างขวักไขว่ตลอดทั้งวัน จนเป็นที่คุ้นชินตาของชาวไทยหลายคนในละแวกนั้น แต่ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักท่าช้างอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าช้างที่เงียบสงบและคงไปด้วยวิถีชีวิตเก่าแก่แบบสโลว์ไลฟ์จนใคร ๆ ก็ต้องหลงรักเมื่อได้มาเยือนสักครั้งในชีวิต

ท่าช้างริมน้ำสะแกกรัง ท่าเรือจุดขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอดีตของจังหวัดอุทัยธานี ที่ในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะริมน้ำสะอาดตา ส่วนชื่อท่าช้างในอดีตนั้นก็ได้กลายมาเป็นชื่อถนนอย่าง “ถนนท่าช้าง” อย่างที่หลายคนเห็นในปัจจุบัน ดังปรากฏให้เห็นเสาไฟที่มีตัวช้างสีทองประดับอยู่บนหัวเสาที่เรียงรายอยู่ตลอดริมถนน ตั้งแต่แยกสังกัดเมืองอุทัยธานีมาจนถึงตลาดเช้าริมน้ำสะแกกรัง เพราะเอาเข้าจริงแล้วในอดีตของจังหวัดอุทัยธานีข้าวและช้างเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ก่อนที่ในปัจจุบันปลาแรดที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์จะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

Advertisement

Advertisement

ช้างบนเสาไฟที่เรียงรายอยู่ริมถนนท่าช้าง ถ่ายโดยผู้เขียน 6 ตุลาคม 2562

หากย้อนกลับไปในสมัยอาณาจักรอยุธยา เมืองอุทัยธานีที่เรารู้จักคุ้นชื่อกันนั้น เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลอุทัยเดิม อำเภอหนองฉาง ห่างจากที่ตั้งในปัจจุบันไปประมาณ 20 กิโลเมตร วิถีชีวิตชาวเมืองอุทัยธานีเดิมที่หนองฉางจะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำลำห้วยไหลลงมาจากภูเขาไว้ใช้สำหรับทำนาได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเมืองอุทัยธานีในขณะนั้น แต่ปัญหาที่สำคัญคือที่อำเภอหนองฉางไม่มีเส้นทางการค้าขายและการคมนาคมทางน้ำที่สะดวก ชาวเมืองอุทัยธานีจึงจำเป็นต้องขนข้าวใส่เกวียนมาขายให้กับชาวจีนซึ่งตั้งถิ่นฐานที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งในขณะนั้นขึ้นตรงกับเมืองชัยนาท

ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองอุทัยธานีที่หนองฉางตั้งอยู่บนที่ดอน ห่างจากคลองสะแกกรังประมาณ 500 เส้น ลำห้วยที่มีอยู่เดิมใกล้ ๆ ตัวเมืองก็ตื้นเขินและใช้การไม่ได้ เรือจึงขึ้นไปไม่ถึง เมื่อจะขายข้าวต้องบรรทุกเกวียนมาทางบกลงมาที่แม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นปลายเขตแดนของเมืองชัยนาทและเมืองมโนรมย์ และการส่งพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ต้องอาศัยแม่น้ำสะแกกรังเป็นหลัก ดังนั้นประชาชนที่รับซื้อผลิตผลสินค้าของชาวอุทัยธานีจึงพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งเป็นตลาดค้าขายของชาวเมืองอุทัยธานี

Advertisement

Advertisement

วันเวลาผ่านไปพ่อค้าชาวจีนต่างพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ เรียกกันในหมู่พ่อค้าว่า “บ้านสะแกกรัง” มีตลาดขนาดใหญ่ที่ริมน้ำ โรงสีของชาวจีน และยังเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ชาวเมืองอุทัยธานีและชัยนาทรวมไปถึงกรรมการเมืองอุทัยธานีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสะแกกรังเป็นจำนวนมาก

บ้านสะแกกรังมีท่าเรือสำหรับใช้เป็นสถานที่จอดเรือรับส่งคนและสินค้าสำหรับติดต่อกับเมืองอื่นโดยรอบ เช่น บริเวณ“ท่าตลาด” มีเรือแจวรับจ้างพาคนออกไปยังปากคลองสะแกกรังที่บ้านมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท “ท่าโรงสี” เป็นท่าประจำโรงสีข้าวและยุ้งฉางที่เรียงรายอยู่ตามตลิ่ง โดยแต่ละโรงสีจะมีลานกว้างพอให้เกวียนบรรทุกข้าวสารจำนวน 400 - 500 เล่มจอดพักเพื่อขนลงเรือบรรทุกข้าวที่จอดอยู่ตรงท่า มี“ท่าแร่” เป็นท่าสำหรับลำเลียงแร่เหล็กส่งไปขายยังต่างเมือง  และมีท่าช้างตรงข้ามกับวัดโบสถ์เป็นท่าสำหรับลำเลียงสินค้า ให้ช้างอาบน้ำ และยังรวมไปถึงเป็นที่ขนส่งช้างไปยังเมืองหลวง

Advertisement

Advertisement

บรรยากาศยามเย็นริมน้ำสะแกกรัง ถ่ายโดยผู้เขียน 6 ตุลาคม 2562

บรรยากาศตลาดเช้าผู้คนมากหน้าหลายตากำลังเดินจับจ่ายซื้อของ ถ่ายโดยผู้เขียน 6 ตุลาคม 2562

ในปัจจุบันทุกเช้าของวันหยุดสุดสัปดาห์ ท่าช้างริมน้ำสะแกกรังจะคึกคักไปด้วยผู้คนต่างถิ่น ข้าวปลาอาหาร และเรื่องราววิถีชีวิตคนในท้องถิ่นไม่ต่างจากวันวานในอดีต ที่ต่างพากันออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนพบปะสังสรรค์กัน ณ ตลาดเช้าริมน้ำสะแกกรังแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองอุทัยธานีที่เริ่มต้นวันใหม่ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้นพ้นขอบฟ้า และนอกจากจะมีตลาดเช้าบริเวณท่าช้างในช่วงเช้ายังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรทางเรือ โดยมีพระวัดโบสถ์นั่งเรือข้ามฝากมาจากฝั่งเกาะเทโพ จอดเทียบยังท่าช้างเพื่อรับบิณฑบาตจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาในพระศาสนา

ในช่วงเช้า ๆ เช่นนี้เราสามารถสังเกตเห็นรอยยิ้มของผู้คนที่เดินจับจ่ายซื้อของอยู่ในตลาดเช้า พร้อมด้วยเสียงเรียกจากคุณลุงคุณป้าเชิญชวนให้เราเลือกชิมเลือกชมและซื้อผักปลาที่วางขายกันแบบ บ้าน ๆ สินค้าส่วนใหญ่เป็นของในท้องถิ่นขึ้นชื่ออย่าง ปลาแรด ปลาเทโพ ทั้งแบบสดและแบบปรุงสำเร็จ มีผักหลายชนิดที่ไม่คุ้นตาเด็กเมืองกรุงอย่างเรา มีอาหารการกินที่ราคาถูกจนหน้าตกอกตกใจ พอเห็นแล้วก็น้ำลายหกอดใจเป็นไม่ได้ ต้องเดินเข้าไปลองชิมให้พุงกางเพราะมีของกินให้เลือกจนละลานตาทั้ง โจ๊กหมูเครื่องเน้น ก๊วยจั๊บถ้วยใหญ่ราถูก หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท ขนมครก น้ำเต้าหู้ และปาท่องโก๋ตัวใหญ่เบ้อเร่อ ซึ่งหากจะบอกว่าตลาดเช้าของเมืองอุทัยธานีเป็นห้างสรรพสินค้าราคาถูกก็ไม่ผิด เพราะในทุกเช้าจะมีอาหารสด ๆ ใหม่ ๆ ถูกนำมาวางขายกันเต็มพื้นที่ จะร้านเล็กหรือร้านใหญ่ จะเป็นแม่ค้ามืออาชีพหรือพ่อค้ามือสมัครเล่น ทุกคนต่างอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ช่วยกันเฝ้าแผง ช่วยกันขาย แบบไม่ต้องแก่งแย่งกันเพื่อผลกำไร ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความทันสมัยใหม่เข้ามาจนทำให้บ้านเรือนและภูมิทัศน์โดยรอบเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่รอยยิ้มของชาวเมืองอุทัยธานียังคงเป็นรอยยิ้มที่เต็มอิ่มไปด้วยความสุขท่ามกลางความเงียบสงบของเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ริมน้ำสะแกกรังแห่งนี้จนทำให้เราแอบนึกอิจฉาวิถีชีวิตของชาวเมืองอุทัยธานีอยู่ภายในใจ

ภาพประกอบ : ภาพหน้าปก, ภาพที่หนึ่ง, ภาพที่สอง และภาพที่สาม ถ่ายโดยผู้เขียน

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์