อื่นๆ

ผ่อนรถไม่ไหว ยอมคืนรถ แต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร

156
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ผ่อนรถไม่ไหว ยอมคืนรถ แต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร

ช่วงเวลาที่โควิด 19 กำลังระบาดนี้ทำให้หลายท่านขาดรายได้กันเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงธนาคารและไฟแนนซ์ก็ตาม แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจจำต้องใช้เวลานานอีกหลายเดือน สำหรับท่านที่บริหารหนี้สินได้ก็นับเป็นบุญวาสนาไป แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีบุญวาสนาเกื้อหนุนกันทั้งหมด เพียงชั่วพริบตาก็ถึงต้นเดือนอีกแล้ว ค่างวดรถก็พร้อมมารอเรียกเงินจากกระเป๋าตังค์ทันทีเมื่อครบกำหนด วันนี้จึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาแนะนำถึงกรณี...ผ่อนรถไม่ไหว ไม่อยากจ่ายค่าส่วนต่าง ควรทำอย่างไร

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสฟังรายการหนึ่งทาง Youtube ได้พูดเกี่ยวกับการผ่อนรถไม่ไหวควรทำอย่างไร ผู้รู้กฎหมายท่านหนึ่งประจำรายการได้บอกว่า ถ้าผ่อนรถไม่ไหว อย่าให้ผิดสัญญา รีบทำการคืนรถไปก่อน แต่ในการคืนรถต้องระวังข้อความประมาณว่า “ถ้านำรถขายทอดตลาดแล้ว คงขาดอีกเท่าไหร่ ผู้เช่าซื้อต้องชำระเพิ่ม” (ต่อไปในบทความขอเรียกข้อความนี้ว่า “ค่าส่วนต่าง” นะครับ) สาระของรายการนี้จบลงแต่เพียงเท่านี้

Advertisement

Advertisement

LAWซึ่งที่ท่านผู้รู้กฎหมายกล่าวมานั้น ก็มีส่วนถูกต้องทั้งหมดครับ แต่เมื่อทุกคนรู้ ไฟแนนซ์ที่รักของเรานั้นก็รู้เช่นกัน ไฟแนนซ์จึงแก้ด้วยวิธี ในขณะที่จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้น จะมีเอกสารมากมายมาให้เราลงลายมือชื่อ ซึ่งหนึ่งในเอกสารเหล่านั้นจะมีเอกสารคืนรถกรณีที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้มาให้เราลงลายมือชื่อเอาไว้ก่อนด้วย โดยมีข้อความปรากฏเด่นเป็นสง่าในเอกสารว่า “ถ้านำรถขายทอดตลาดแล้ว คงขาดอีกเท่าไหร่ ผู้เช่าซื้อต้องชำระเพิ่ม” เป็นข้อความคล้ายกับที่ผู้รู้กฎหมายท่านนั้นบอกพอดี อ่าว...แล้วจะทำอย่างไรดีละ

แนวทางการแก้ไขของผู้รู้กฎหมายแต่ละท่าน อาจจะแตกต่างกันออกไปโดยไม่มีทางใดดีกว่ากันนะครับ อันนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การผ่านคดีมา ส่วนแนวทางอยากจะแนะนำนี้เป็นทางที่ ถึงแม้ไฟแนนซ์จะรู้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นั่นก็คือ การยอมโดนฟ้องเป็นคดี ให้คดีขึ้นสู่ศาลไปก่อนครับ

Advertisement

Advertisement

LAWการยอมโดนฟ้องเป็นคดีนั้น ข้อปฏิบัติแรกที่จำเป็นต้องมีเลยคือ ห้ามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อครับ ไม่ว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาขอคืนอย่างไร ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ยินยอมเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์ไม่มีสิทธิ์เอารถยนต์ที่เช่าซื้อไปโดยเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์ดึงดันใช้กำลังเอารถไป แม้ตนเองเป็นเจ้าหนี้แต่มิได้ใช้วิธีทางที่กฎหมายกำหนด ก็มีความผิดได้ ผู้เช่าซื้อสามารถบอกกับเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์ว่าให้ฟ้องเป็นคดีก่อนแล้วเดี๋ยวไปคืนรถที่ศาลให้ก็ได้

ทางไฟแนนซ์ก็จะยื่นฟ้องท่านต่อศาล แล้วในคำฟ้องจะเต็มไปด้วยค่าอะไรต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าที่ผ่อนค้างชำระ ค่าขาดประโยชน์ ค่านู้น นั่น นี่ อีกจิปาถะ

LAWต่อมาคือการขึ้นศาลครับ โดยวิธีการขึ้นศาลก็เคยได้เขียนเป็นบทความแนะนำไปแล้วว่าต้องทำอย่างไรเมื่อต้องไปศาล หาอ่านกันได้ที่บทความที่ชื่อว่า “ตั้งวงเล่า : ทำอย่างไร...เมื่อต้องไปศาล” (คลิกที่ชื่อบทความนี้ได้เลย ทำ link ไปให้ละครับ) เมื่อไปถึงศาลแล้ว โดยปกติของคดีเช่าซื้อทางศาลจะให้ไกล่เกลี่ยกันก่อน ท่านสามารถขอไกล่เกลี่ยได้ครับ ทางไฟแนนซ์จะมีแนวมาให้ผ่อนต่อ หากท่านยินยอมก็ผ่อนต่อไปตามนั้นคดีก็จะจบลงด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล แต่ถ้าอ่านข้อความแล้วรู้สึกว่าเสียเปรียบหรือว่าทำไปก็ผ่อนต่อลำบาก อย่าได้ทำยอมเป็นอันขาดครับไม่อย่างนั้นชะตาท่านจะขาดอย่างแท้จริง

Advertisement

Advertisement

และเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ คดีก็จะขึ้นสู่ศาล ในห้องพิจารณา ผู้พิพากษาท่านก็จะสอบว่าท่านผิดจริงตามที่ไฟแนนซ์ฟ้องมาหรือไม่ เมื่อนั้นถ้าเป็นการฟ้องอย่างถูกต้องตรงตามสัญญาให้ท่านยอมรับผิดไป และกราบเรียนต่อศาลท่านในแนวทางหารือว่า ยินดีที่จะขอคืนรถยนต์ให้แก่ไฟแนนซ์ โดยขอไม่ชำระเงินส่วนต่างได้หรือไม่ แล้วสังเกตสถานการณ์ถ้าดูแล้วทิศทางลมมาทางเราก็เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าดูแล้วทางลมไม่มีเลย ก็ขอให้การต่อศาลติดสำนวนคดีเอาไว้ก่อนศาลท่านโปรดมีคำพิพากษาประมาณว่า “ขอคืนรถยนต์ให้แก่ไฟแนนซ์ โดยขอไม่ชำระเงินส่วนต่าง” ซึ่งโดยทั่วไปตามปกติแล้ว ทิศทางลมมักจะมาทางเรามากกว่านะครับ ถ้าลมไม่มาแสดงว่าวันนั้นดวงท่านน่าจะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก พระจันทร์แหวก พระอาทิตย์พุ่งชนเป็นแน่

LAWโดยปกติของคำพิพากษา ศาลท่านจะพิพากษาให้คืนรถก่อน ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา โดยมักไม่มีการพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อชำระส่วนต่างอีก เพราะค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อจ่ายมานั้นไฟแนนซ์ไม่ต้องคืน ศาลท่านเห็นว่าไฟแนนซ์นั้นได้เงินไปเยอะแล้ว และอาจจะมีค่าธรรมเนียมบางอย่างที่ต้องชำระแทนโจทก์แต่ไม่สูงเท่าค่าส่วนต่างอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องอ่านคำพิพากษาอย่างละเอียดนะครับ ถ้าเป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้นของคำพิพากษาปกติ เมื่อท่านคืนรถไปแล้วทุกอย่างก็จะจบ โดยไฟแนนซ์ไม่มีสิทธิ์มาเรียกส่วนต่างได้อีก ทุกอย่างลงตัว Happy ending...

วิธีที่นำเสนอไปนี้ ถึงแม้ว่าจำต้องไปรอลุ้นเอาในชั้นศาล ผู้ที่ใช้วิธีนี้ต้องจิตแข็งสักหน่อยเพราต้องไปเผชิญหน้ากับผู้รู้กฎหมายหลายท่านในห้องพิจารณา สิ่งที่อยากแนะนำคือ เมื่อท่านอยู่ในห้องพิจารณาคดี สำหรับเฉพาะคดีแพ่ง สิ่งสำคัญ คือ การเจรจาต่อลอง แต่ก็สบายใจได้อย่างหนึ่งครับว่า นอกจากที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาแล้วไฟแนนซ์จะไม่สามารถใช้วิธีอื่นเรียกค่าส่วนต่างจากท่านได้อีก ...ส่วนถ้าผู้ใดมีวิธีอื่นที่น่าสนใจก็เอามาแชร์กันได้นะครับ...จะได้ร่วมผ่าวิกฤตโควิด 19 ไปด้วยกัน ผ่าน “บทความปันสุข” เช่นบทความนี้ เป็นต้น...

ปัจฉิมลิขิต ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านควรจะต้องมีที่ปรึกษาทางคดีอย่างทนายความนะครับ

ขอบคุณภาพประกอบ จาก freepik : ภาพปก / ภาพที่ 1 / ภาพที่ 2 / ภาพที่ 3 / ภาพที่ 4 ครับ...ขอบคุณครับ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์