อื่นๆ

ภาวะชะงักงันของการเขียนบทความ

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
ภาวะชะงักงันของการเขียนบทความ


ในขณะที่กำลังเขียนบทความเรื่องต่อไปซึ่งคิดโครงเรื่องไว้แล้วว่าจะเขียนอย่างไร ผู้เขียนไม่ได้เขียนบนกระดาษแต่พิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้านพัก นึกถึงประโยคที่จะเขียนแล้วกดแป้นพิมพ์ตัวอักษรให้เชื่อมโยงเป็นประโยคในการเล่าเรื่องนั้นๆ ซึ่งเป็นความเคยชินตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ก็ทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่กำลังใจจดจ่อกับประโยคที่จะพิมพ์ต่อไปภาวะการคิดไม่ออกก็เกิดขึ้น คือไม่รู้ว่าจะผูกประโยคอะไรต่อไปในการเล่าเรื่องที่กำลังเขียนนั้นๆ นิ่งไปชั่วครู่ จะไปทางไหน จึงย้อนกลับไปอ่านข้อความที่เขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัดออก เพิ่มเติม แก้ไข ยิ่งกลับกลายเป็นว่าไปทำให้โครงเรื่องเสียไปจากที่เคยตั้งใจไว้

นักเขียนใหม่อย่างผู้เขียนจะถึงทางตันในการเขียนแล้วหรือ ผู้เขียนตัดสินใจหยุด และบันทึกงานที่พิมพ์ ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วลุกออกไปจากโต๊ะทำงาน ตอนนั้นมีอาการที่จะบรรยายได้ว่าเป็นอาการงงกับความคิดตัวเอง กระพริบตาถี่ๆ แล้วเดินออกไปสูดอากาศข้างนอกห้อง โชคดีที่บ้านพักผู้เขียนมีพื้นที่บริเวณกว้างพอให้พักสายตาได้ มีต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น ยืนมองต้นไม้ที่ให้ร่มเงาในเวลาบ่าย แสงแดดซึ่งเคยร้อนอบอ้าวได้ลดความร้อนลงเนื่องจากมีใบไม้ให้ร่มเงา นั่งพักสักครู่ แล้วนึกทบทวนบทเรียนที่ครู อาจารย์ เคยประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในเรื่องการเขียนรายงาน การเขียนบทความ จึงไปค้นมาอ่านเตือนสติให้ระลึกถึงดังนี้

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 1 ชะงักงัน การจะเขียนบทความนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเขียน ผู้เขียนจะต้องใช้การพิจารณาตั้งแต่โครงสร้างของเรื่องที่จะเขียน ชื่อเรื่อง คำนำที่จะใช้ เนื้อเรื่อง และบทสรุป การเขียนบทความแต่ละบทความจะมีลักษณะในการนำเสนอสาระของบทความที่เป็นแนวทางเฉพาะสำหรับการนำเสนอข้อมูลความคิดนั้นๆ ทั้งเนื้อหาสาระ ความคิด และภาษาโดยจะต้องใช้สำนวนภาษาที่ดีและเหมาะสมซึ่งมีทั้งแบบบรรยาย  แบบพรรณนาโวหาร การตั้งเป็นคำถาม ใช้การเปรียบเทียบ หรือสร้างให้เกิดความสงสัยเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากรู้ และบทสรุปเป็นส่วนสำคัญที่อยู่ท้ายสุดของเรื่องซึ่งจะเป็นส่วนที่จะสร้างความประทับใจในบทความให้แก่ผู้อ่าน

ภาพที่ 2 ชะงักงัน ในขณะที่อ่านแล้วพลิกกลับมาอ่านซ้ำใหม่ก็พบว่าคำสอนที่จดบันทึกไว้ไม่ได้บ่งบอกถึงเวลาที่ใช้ในการเขียนบทความแต่ละบทความว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนหรือใช้เวลาไม่มากนัก ทำให้ผู้เขียนตระหนักได้ว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเพราะบทความนี้ไม่ใช่รายงานที่จะต้องเสนอเจ้านายผู้บังคับบัญชาให้รับรู้ในทันที หรือจำเป็นต้องส่งต้นฉบับให้ทันในระยะเวลาที่กำหนดเพื่ออะไรก็ตามแต่ของเหตุผลนั้นๆ ความรีบร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลงานเกิดความผิดพลาดซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่องดังกล่าวในบทความที่ผ่านมาในชื่อเรื่อง อารมณ์นักเขียนต้องละเอียดรอบคอบ เมื่อมานึกทบทวนแล้วจึงผ่อนคลายดีกว่า การผ่อนคลายจากการทำงานก็มีวิธีการหลายแบบแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีนอนหลับตาแล้วตั้งปลุก 30 นาที ยังไม่ทันที่จะครบเวลาปลุก ก็นึกได้ว่ามีผลไม้แช่ไว้ในตู้เย็นกับน้ำผึ้งผสมเลมอนที่ทำไว้ จึงนำมาผสมโซดาใส่น้ำแข็งคนให้เข้ากัน รับประทานกับผลไม้แช่เย็นในช่วงบ่ายๆ เข้ากันนัก

Advertisement

Advertisement

ภาพที่ 3 ชะงักงัน สรุปว่าในวันนี้ไม่ได้เขียนบทความเรื่องนั้นต่อ แต่กลับมาได้บทความเรื่องนี้แทน ดังนั้นหากเกิดอาการคิดไม่ออกสำหรับงานที่ต้องใช้อารมณ์ จิตใจ และสมองในการทำหรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ ผู้เขียนขอเสนอให้ใช้การผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ควรจะฝืน หยุดพักหากิจกรรมที่ชอบทำให้สบายใจสบายกายแล้วกลับไปทำงานนั้นๆใหม่  ถ้างานชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนในขณะนั้น โลกยุคปัจจุบันใช้การเร่งรีบกันมากเกินพอแล้ว พักสักนิดจะเป็นไร ถ้าใจอยากจะพักอย่าฝืนจิตใจอีกต่อไปเลย.

ภาพที่ 4 ชะงักงัน

ภาพปก โดย Christine Schmidt จาก Pixabay

ภาพที่ 1 โดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ภาพที่ 2 โดย Gerd Altmann จาก Pixabay

ภาพที่ 3 โดย Jill Wellington จาก Pixabay

ภาพที่ 4 โดย StartupStockPhotos จาก Pixabay

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์