อื่นๆ

มารยาทที่ดีที่พึงปฏิบัติในการเยี่ยมผู้ป่วย

4.6k
คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ
มารยาทที่ดีที่พึงปฏิบัติในการเยี่ยมผู้ป่วย

หากจะพูดถึงเรื่อง "มารยาท" การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เราพึงจะต้องรักษานั้น ถ้าให้เรียบเรียงทั้งหมดในหนึ่งบทความผู้อ่านคงจะเบื่อกันเสียก่อน เพราะในหัวข้อของการรักษามารยาทก็สามารถแยกประเภทออกไปตามโอกาสหรือสถานที่ได้อีกมากมาย บทความนี้ผู้เขียนขอกล่าวถึง "มารยาทที่พึงมีในการเยี่ยมผู้ป่วย" ซึ่งเป็นมารยาทที่ไม่ค่อยมีผู้ใดจะพูดถึงกันมากนัก อาจจะเนื่องด้วยคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็น "มารยาทขั้นพื้นฐาน" ที่ใครก็รับทราบกันดีอยู่แล้ว แต่หากว่าคุณลองสังเกตดี ๆ มันกลับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะพื้นฐานของแต่ละคนในการรักษามารยาทนั้นต่างกัน จนทำให้หลายครั้งการไปเยี่ยมผู้ป่วยของเรากลับนำความลำบากใจไปยังผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวผู้ป่วยอยู่ไม่ใช่น้อยเลย ผู้เขียนจึงอยากจะรวบรวม "มารยาทที่พึงปฏิบัติในการเยี่ยมผู้ป่วย" มาเป็นสาระสำคัญของบทความนี้กันค่ะ

Advertisement

Advertisement

มารยาทที่พึงปฏิบัติในการเยี่ยมผู้ป่วย

1. อย่าแสดงความสงสาร เวทนา สังเวชเสียเต็มประดา ด้วยกิริยาท่าทางและคำพูด ต่อหน้าผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น "เป็นเวรเป็นกรรมอะไรกันหนอ" , "น่าสงสารจังเลย" , "ทำไมถึงได้ซูบผอมขนาดนี้""ครั้งก่อนยังไม่มีอาการขนาดนี้เลย" ฯลฯ ใด ๆ ที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่แสดงถึงอารมณ์หดหู่ทั้งนั้น หากว่าตรงหน้าของคุณจะทำให้คุณรู้สึกแย่ขนาดไหนก็ตาม จงเก็บความสงสารทั้งหมดไว้ในใจ แล้วทบทวนให้ดีก่อนว่าคุณควรจะพูดออกมามั๊ย หรือหากคุณเป็นผู้ป่วยหรือครอบครัวผู้ป่วยคุณอยากได้ยินคำพูดเหล่านี้หรือเปล่า

2. อย่าถามอาการของโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญแบบเจาะลึกหรือละเอียดยิบ เพราะบางครั้งผู้ป่วยเองก็คงไม่ได้อยากพูดถึง แต่ถ้าผู้ป่วยอยากระบายหรือเล่าสู่กันฟัง คุณก็ควรรับฟังแบบเห็นอกเห็นใจ

ให้กำลังใจ

3. อย่าใส่ชุดสีดำไปเยี่ยมผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใด หากจำเป็นต้องใส่ชุดสีดำไปธุระที่อื่นก่อนการเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วย ควรหาชุดที่เหมาะสมเปลี่ยนก่อนเสมอ ในบางครั้งหากคุณเองไม่ได้เชื่อหรือถือสาเรื่องความเชื่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่คุณกำลังจะไปเยี่ยมเค้าจะไม่ถือสาด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเป็นห่วงเป็นใยและเจตนาดี ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งกาย หรือสีของเครื่องแต่งกายในการไปเยี่ยมผู้ป่วยด้วย  เพราะสีดำเป็นสีที่แสดงออกถึงความไม่เป็นมงคล การไว้ทุกข์ ไว้อาลัย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนทราบกันดี

Advertisement

Advertisement

ชุดดำ

4. อย่านำเรื่องไม่ดี เรื่องแย่ เรื่องราวที่เป็นปัญหาต่าง ๆ หรือพูดคุยแต่เรื่องที่มีแต่แง่ลบ ทัศนคติลบ ในทางกลับกัน ควรคุยเรื่องทั่วไป เรื่องสนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง ไม่เครียด เพื่อให้ผู้ป่วยได้ลืมความทุกข์จากโรคที่เป็น ได้มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ มีความสุขในช่วงเวลาหนึ่ง ย่อมเป็นสิ่งที่ดีในการเยียวยารักษาจิตใจที่ดีกว่าการใช้ยาใด ๆ

5. หากผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ควรปฏิบัติตนให้เป็นผู้เยี่ยมไข้ที่ดี ไม่ส่งเสียงดัง พูดคุยเสียงดัง ใช้งานโทรศัพท์มือถือในฟังก์ชั่นต่าง ๆ  อย่างไม่เกรงใจ พึงระลึกถึงผู้ป่วยเตียงอื่นหรือผู้ป่วยห้องใกล้เคียงด้วย หรืออยู่เยี่ยมเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจจะต้องการการพักผ่อน เพราะอย่าลืมว่าบางครั้งไม่ใช่มีแค่คุณที่ไปเยี่ยมไข้ผู้ป่วยรายนั้น ๆ และผู้ป่วยเองคงไม่กล้าบอกกล่าวให้คนเยี่ยมกลับไปก่อนหรอกนะ

Advertisement

Advertisement

สิ่งที่ควรทำ

6. การจะพาคนอื่นไปเยี่ยมผู้ป่วยด้วย เช่น เพื่อนคนเยี่ยม แฟนคนเยี่ยม คนที่ผู้ป่วยไม่ต้องการเจอ คนที่ผู้ป่วยไม่ได้รู้จัก ควรมีการบอกกล่าวกันล่วงหน้าก่อน เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่สะดวกใจให้ใครเจอในสภาพที่ร่างกายเจ็บป่วยและไม่พร้อมรับแขกเช่นนี้ จงอย่าคิดเองว่า "ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย" หากคุณไม่ได้เป็นคนป่วยเสียเอง ด้วยสภาพจิตใจคนเราต่างกัน ผู้ป่วยบางคนจึงเลือกที่จะเก็บตัวไม่อยากพบเจอใครเลย

7. อย่าถ่ายรูปผู้ป่วย แล้วนำมาโพสต์ในสื่อโซเชียล โดยที่ไม่ขออนุญาต เพราะเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ผู้ป่วยบางคนคงไม่อยากออกสื่อในช่วงเวลาที่ตนเองนั้นป่วยนักหรอกนะ

พักผ่อน

8. ให้กำลังใจผู้ป่วยแต่พอดี อย่าอวยจนเกินจริง เช่น เดี๋ยวก็หายแล้วนะ, เดี๋ยวก็แข็งแรงแล้วนะ ในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในอาการประคับประคอง หรือระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษาหาย เพราะการให้กำลังใจผู้ป่วยและครอบครัวนั้นมีคำพูดดี ๆ อีกมากมายที่เหมาะสมกว่าให้คุณเลือกใช้

9. กรณีไม่ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีการโทรคุยกับผู้ป่วย ก็ควรโทรให้เป็นเวลา คุยด้วยน้ำเสียงปกติ ถามสารทุกข์สุขดิบทั่วไปไม่ต้องลงรายละเอียดมากมาย ไม่ต้องแสดงน้ำเสียงที่สงสาร เวทนา หรือร้องห่มร้องไห้อะไรมากมายต่อการเจ็บป่วยนี้ ให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่เพิ่มระดับเข้าไปอีก ควรใช้เวลาคุยให้พอเหมาะ ไม่นานจนเกินไป เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องการพักผ่อน หรือไม่ได้ยากคุยโทรศัพท์นาน ๆ เหมือนตอนที่ร่างกายปกติดี

ประคับประคอง

10. อย่าขายของ หรือแนะนำยาต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยกินเพื่อรักษาโรคที่เป็น เพียงเพราะได้ยินคำโฆษณาชวนเชื่อหรือเขาเล่าว่า โดยที่คุณไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์ตรงนั้นเอง ให้ระลึกไว้เสมอว่า คนเราทุกคนไม่เหมือนกัน โรคที่เป็นเหมือนกันความรุนแรงที่ได้รับยังต่างกัน อายุต่างกัน ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่างกัน ค่าต่าง ๆ ในร่างกายต่างกัน กรุ๊ปเลือดต่างกัน เพราะฉะนั้นอะไรคือสิ่งการันตีได้ว่าความหวังดีของคุณจะนำพาสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของผู้ป่วยกลับมา ตัวยาทุกสิ่งอย่างบนโลกมีข้อจำกัดในการใช้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาแผนโบราณ คุณหมอในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ยังต้องร่ำเรียนก่อนถึงจะมารักษาคนได้ แม้กระทั่งยาสมุนไพร ที่ใครเข้าใจว่าเป็นใบไม้ใบหญ้า กินไปไม่น่าจะให้โทษ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์นะคะ เพราะใบไม้ใบหญ้าที่เป็นสมุนไพรก็มีฤทธิ์ในการรักษาต่างกัน คุณรู้ได้อย่างไรว่าตัวไหนเหมาะกับผู้ป่วยที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักและไม่ใช่เรื่องเล็กที่มองข้ามเพราะหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยได้เลยนะคะ

ยา

เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาวะร่างกาย จิตใจ ของผู้ป่วยและครอบครอบอยู่แล้ว การเยี่ยมไข้จึงต้องอาศัยความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากและเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ผู้เขียนอยากสรุปทั้งบทความที่กล่าวมาแล้วเพียงสั้น ๆ ตามใจความดังนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้เหมาะสม "พึงระลึกนึกถึงการมีมารยาทในการเยี่ยมไข้ให้มากเท่า ๆ กับความปรารถนาดีที่มีต่อผู้ป่วย"

บทความโดยผู้เขียน : อินท์กรกัญจน์

ภาพประกอบบทความโดย : OpenClipart-Vectors / JooJoo41 / PublicDomainPictures / athree23 / Clker-Free-Vector-Images / MiVargof / HeungSoon จาก PIXABAY

เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !

คัดลอกลิงค์
คัดลอกลิงค์
แจ้งตรวจสอบ

ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์